สั่งรัฐวิสาหกิจรื้อจัดซื้อจัดจ้าง ล้อมคอกกันซ้ำ’โรลส์รอยซ์’ ลุยฟาสต์แทร็ก7.12แสนล้าน

หัวข้อข่าว: สั่งรัฐวิสาหกิจรื้อจัดซื้อจัดจ้าง ล้อมคอกกันซ้ำ’โรลส์รอยซ์ลุยฟาสต์แทร็ก7.12แสนล้าน

ที่มา: เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2560

 

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการไปยังผู้แทนของกระทรวงการคลังที่เป็นกรรมการในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ให้ไปทบทวนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบว่า มีความผิดปกติ หรือมีรอยรั่วตรงไหนหรือไม่ เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำรอยกรณีของบริษัท โรลส์รอยซ์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจของไทยทั้ง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
“นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้พูดถึงกรณีดังกล่าว ในช่วงของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือบอร์ดพีพีพี วันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่ในส่วนของสคร.เอง ก็ได้ พยายามดำเนินการติดตามปัญหา โดยล่าสุดได้สั่งการไปทางกลุ่มไลน์ ซึ่งมีผู้แทนกระทรวงการคลังในรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ให้รับทราบประเด็นนี้ และให้ไปทบทวนการจัดซื้อจัดจ้างว่า มีรอยรั่วตรงไหนบ้าง ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องในอดีตทั้งนั้น ส่วนในปัจจุบันก็มีกลไกควบคุมไว้รองรับแล้วหลายอย่าง”
ทั้งนี้ในบทบาทของสคร. ถือว่า มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้น ดังนั้นไม่ว่าในกรณีของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สคร.เองก็ทำหน้าที่เป็นผู้ถือหุ้นที่จะใช้กลไกผ่านกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังในหน่วยงานที่มีเรื่องเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของทั้ง 2 หน่วยงานที่เกิดปัญหา สคร.จะส่งนโยบายผ่านผู้แทนกระทรวงการคลังเข้าไปตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบนโยบายไปให้พิจารณาว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ต้องไปทบทวนว่า ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นแล้วให้ไปหาข้อเท็จจริงมาชี้แจง ขณะเดียวกันยังต้องไปตรวจสอบหาผู้กระทำผิดว่าเป็นใคร และยังต้องร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ด้วย
นายเอกนิติ กล่าวว่า ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สคร.ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งคนร.เองก็ให้ความสำคัญในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด เช่น การพยายามส่งเสริมให้หน่วยงาน ต่าง ๆ ใช้ระบบที่เป็นสากลมาช่วยในการดำเนินงาน ส่วนการลงทุนขนาดใหญ่ก็ให้บรรจุเข้ามาอยู่ภายใต้มาตรการเพิ่มความโปร่งใสในการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ (คอสต์) เช่น โครงการของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย รวมถึงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐด้วย
นอกจากนี้นายเอกนิติ ยังกล่าวถึงการประชุมบอร์ดพีพีพี เมื่อวันที่ 25 ม.ค.60 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการที่จะนำมาเข้าตามมาตรการพีพีพี ฟาสต์แทร็กในปี 60 ซึ่งมีโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์พีพีพี 5 ปี วงเงิน 1.6 ล้านล้านบาทของสคร. โดยในปี 60 มีจำนวนทั้งหมด 7 โครงการ วงเงิน 712,000 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุม ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไป คัดเลือกโครงการที่จะนำมาเข้าพีพีพีฟาสต์แทร็ก รวมทั้งเสนอระยะเวลาการดำเนินโครงการที่คัดเลือกมา เสนอให้สคร.พิจารณาภายในวันที่ 31 ม.ค. นี้ ซึ่งถ้าโครงการลงทุนใดที่มีความจำเป็นเข้าสู่กระบวนการพีพีพี ฟาสต์แทร็ก จะสามารถลดระยะเวลาตามขั้นตอนต่าง ๆ เหลือเพียง 9 เดือน จากปกติที่ใช้เวลานานถึง 2 ปี
สำหรับ 7 โครงการตามแผนยุทธศาสตร์พีพีพีที่จะดำเนินการในปี 60 ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี วงเงิน 110,325 ล้านบาท ,โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชั-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 85,316 ล้านบาท, โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษก 131,171 ล้านบาท, โครงการเพิ่มบทบาทภาค เอกชนในการเดินรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 41,870 ล้านบาท,โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ- ระยอง วงเงิน 152,448 ล้านบาท , โครงการรถไฟความเร็ว สูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน วงเงิน 111,395 ล้านบาท และโครงการทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมืองสายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 80,060 ล้านบาท
“รองนายกฯ ได้สั่งการว่า ไม่จำเป็นที่กระทรวงคมนาคมจะต้องเสนอทั้ง 7 โครงการเข้าพีพีพีฟาสต์แทร็กทุกโครงการ แต่ให้เลือกโครงการที่เหมาะสมมา โดยเฉพาะโครงการในต่างจังหวัด”.