หัวข้อข่าว: หมายจับ51น.ศ.ม.ดังหัวกะทิคณะหมอ-วิศวะโกงสอบนายสิบบช.น.หัวโจกเทศกิจกบดาน!
ที่มา: ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560
ตำรวจใช้ยาแรงไม่ออกหมายเรียก แต่ขอศาลออกหมายจับ 51 นศ.ระดับหัวกะทิมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่เป็นมือปืนรับจ้างทำข้อสอบเข้าโรงเรียนนายสิบตำรวจนครบาลวันนี้ (10 ม.ค.)
ล่าสุดพบผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเป็น 524 คนแล้ว แยกดำเนินคดีเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มตัวการหลัก หรือ คนวางแผน 2. กลุ่มมือปืนรับจ้างเฉลยข้อสอบ และ 3. ผู้ให้การสนับสนุน หรือผู้สอบที่ร่วมทุจริต “บิ๊กแป๊ะ” เผย หลังสั่งทุก บช.ทั่วประเทศตรวจทุจริตสอบเข้าโรงเรียนนายสิบ นอกจาก บช.น.แล้วพบที่ บช.ภ.7 เพิ่มอีก ส่วนจะประกาศให้การสอบเป็นโมฆะหรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้ง “ประวิตร” ลั่น ฟันไม่ไว้หน้าทุจริตสอบนายสิบ พร้อมเยียวยาพวกโปร่งใส “ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์” ปลัด ศธ.เผย ดำเนินการ นศ.รับจ้างสอบได้ 2 ส่วนคือ ตามกฎหมาย บ้านเมือง และตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯ มีบทลงโทษ 4 ระดับคือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ตัดคะแนนความประพฤติ และปรับพฤติกรรม แก้โทษให้หนักขึ้นไม่ได้ เพราะมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กำหนดไม่ให้ลงโทษด้วยการไล่ออก
กรณีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เปิดรับสมัครบุคคลภายนอกอายุตั้งแต่ 18-27 ปี มีวุฒิการศึกษาจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับ ปวช. หรือเทียบเท่า สอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ สังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล จำนวน 1,000 อัตรา โดยเปิดรับสมัครทางอินเตอร์เน็ตไปตั้งแต่วันที่ 4-23 พ.ย.59 มีผู้สมัครสอบ 13,285 คน สอบเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.59 ใช้สนามสอบ 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตหัวหมาก และวิทยาเขตบางนา ภายหลังตรวจพบการทุจริต ซุ่มตรวจสอบจนพบว่า มีขบวนการโกงการสอบครั้งมโหฬาร โดยว่าจ้าง นศ.แพทย์ นศ.ทันตแพทย์ และ นศ.วิศวะจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ สมัครเข้าร่วมสอบแข่งขันเพื่อให้ผู้เข้าสอบตัวจริงลอกข้อสอบ ต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 5 แสนบาท จึงนำเอกสารหลักฐานเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.พหลโยธิน ดำเนินคดีนายจิระพจน์ พลายด้วง อายุ 45 ปี เจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตปทุมวัน ที่เป็นตัวการใหญ่ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าจาก สน.พหลโยธิน เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 9 ม.ค. พ.ต.อ.ณรัช มูลศาสตรสาทร ผกก.สน.พหลโยธิน เผยว่า ถึงขณะนี้สอบปากคำ พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ผกก.ศฝร.บช.น.ในฐานะผู้กล่าวหาเพียงปากเดียว หลังจากนี้จะเริ่มพิจารณาออกหมายเรียกกลุ่มขบวนการโกงข้อสอบ เริ่มจากกลุ่มนักศึกษาที่รับจ้างทำข้อสอบเป็นกลุ่มแรกจากนั้นเป็นกลุ่มผู้สมัครสอบ ส่วนรายละเอียดขั้นตอนว่า เรียกสอบสวนอย่างไร หรือสถานที่ใดต้องรอ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนเป็นผู้พิจารณา ส่วนนายจิระพจน์ พลายด้วง เจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจ เขตปทุมวัน ตัวการใหญ่ เบื้องต้นยังไม่ได้ออกหมายจับ และยังไม่มีการติดต่อมอบตัวหรือเข้าให้ปากคำ แต่หากเข้ามอบตัวจะทำไปตามกระบวนการปกติ ส่วนจะให้ประกันตัวหรือไม่ ต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง
ต่อมาเมื่อเวลา 16.00 น. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ผกก.ศฝร.บช.น. พ.ต.อ.ณรัช มูลศาสตรสาทร ผกก.สน.พหลโยธิน เรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดี พล.ต.ต.อดุลย์เผยว่า สำหรับการบริหารงานสอบสวนคดี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. เร่งรัดสั่งการให้สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องโดยยึดหลักความยุติธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบและชี้แจงต่อสังคม โดยลงนามในคำสั่งแต่งตั้งมอบหมายให้ตนเป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน และให้รองผู้บัญชาการอีก 3 ท่านรับผิดชอบเรื่องสืบสวน ชุดทำงานจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนในสังกัด บก.น.2 และ บก.น.4 รวมทั้งพนักงานสอบสวนกว่า 40 นาย เพื่อเร่งสอบสวนให้ละเอียดทั้งหมด
พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวต่อไปว่า การสอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องคาดว่าคืนนี้จะเสร็จสิ้น เพื่อเตรียมรายงานการสอบสวนเสนอต่อ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรายละเอียดคดี ขณะนี้ยังไม่ครบ เกรงว่าอาจเกิดความคลาดเคลื่อน เบื้องต้นขอให้ พล.ต.ท.ศานิตย์เป็นผู้ให้ข่าว ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า นายจิระพจน์ พลายด้วง เจ้าหน้าที่สำนักเทศกิจเขตปทุมวัน จะเดินทางเข้ามอบตัวนั้น ขอยืนยันว่ายังไม่ได้รับการประสานหรือได้รับรายงาน สำหรับแนวทางทำงาน ผบช.น.มอบแนวทางให้เร่งรัด จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้ร่วมกระทำความผิดเพิ่มเติมขณะนี้ทั้งหมด 524 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนกำหนดแนวทางการสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตรวจสอบรายละเอียดทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่กลไกเอกสาร คำสั่งรับสมัครสอบ อีกทั้งสอบปากคำเจ้าหน้าที่ธนาคารขอเอกสารการโอนเงินค่าสมัครสอบเพื่อนำมาประกอบสำนวน ส่วนการสอบพยาน 8 คนที่อยู่ในขบวนการไปก่อนหน้านี้ ให้ฝ่ายสืบสวนขยายผลผู้ที่มีส่วนร่วมกับการกระทำความผิด อีกทั้งสั่งการให้ลงพื้นที่หาหลักฐานในสถานที่ที่เชื่อว่า ขบวนการใช้เป็นที่ประชุมวางแผนเพื่อก่อเหตุ นอกจากนี้ ให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำผู้เชี่ยวชาญด้านไอที ตลอดจนกระบวนการตรวจข้อสอบ รวบรวมเอกสารพยานวัตถุ กล้องวงจรปิดตามที่ต่างๆเพื่อนำมาประกอบสำนวนการออกหมายจับ
มีรายงานด้วยว่า เบื้องต้นจากการรวบรวมพยานหลักฐานขณะนี้ พบผู้ร่วมกระทำความผิดชุดแรก 346 คน แบ่งเป็นผู้ลอกข้อสอบ 295 คน และมือปืน รับจ้างเข้าไปทำข้อสอบ 51 คน ช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) พนักงานสอบสวนจะไปขออำนาจศาลอนุมัติหมายจับทั้ง 51 คนในฐานความผิดอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.209 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 14,000 บาท และฐานความผิดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ม.14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ในส่วน 51 คนนี้เป็นนักศึกษาระดับหัวกะทิกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศทั้งสิ้น
ที่ บช.น. พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น.เผยว่า กระบวนการต่างๆทั้งหมด ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ในส่วนของคดีให้ พ.ต.อ.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รรท.ผบก.น.2 เป็นผู้ดำเนินการในพื้นที่ สน.พหลโยธิน หลังจากแจ้งความ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย
มีรายงานว่า พล.ต.ท.ศานิตย์เตรียมลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคดีอาญาให้ พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.ดูแลงานกฎหมายและคดี ตั้งคณะพนักงานสอบสวนทำหน้าที่ตรวจสอบการกระทำผิดทางอาญา 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มตัวการหลัก หรือคนวางแผน 2. ผู้ช่วยกระทำความผิด หรือกลุ่มมือปืนรับจ้างเฉลยข้อสอบ 3. ผู้ให้การสนับสนุนหรือผู้สอบที่ร่วมทุจริต นอกจากนี้ ยังตรวจสอบข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลการสอบ มอบหมายให้ พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รรท.รอง ผบช.น.ดูแลงานจเรรับผิดชอบ
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.กล่าวว่า เบื้องต้นพบการทุจริตการสอบเข้ารับราชการนายสิบตำรวจในสังกัด บช.ภ.7 และ บช.น. ขณะนี้รอการชี้แจงรายละเอียดจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มี พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รรท.รอง ผบ.ตร.เป็นประธาน ภายในวันที่ 9 ม.ค.จะรายงานผลให้ทราบ รวมทั้งผลการตรวจสอบทั้ง 12 บช.ที่จัดสอบนายสิบตำรวจเช่นกัน สำหรับผลการสอบจะเป็นโมฆะหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการ ตนไม่สามารถชี้ชัดว่าจะให้ผลเป็นโมฆะได้หรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาผู้เข้าสอบยังไม่สามารถสรุปได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ กรณีผู้ที่กระทำผิดและแจ้งความดำเนินคดี ขณะนี้สั่งการให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย หากพบว่ามีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง ตามขั้นตอนมีระเบียบทางวินัยดำเนินการอยู่แล้ว
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุด พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รรท.รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผู้กำกับดูแลเรื่องการสอบ ดำเนินการตรวจสอบไปยัง 12 บช. ที่จัดสอบ ประกอบด้วย บช.น. บช.ภ.1-9 บช.ศชต. และ บช.ตชด. ให้ตรวจสอบโดยละเอียดว่า มีความผิดปกติในการสอบอย่างไรหรือไม่ ให้รายงานกลับมาให้ทราบภายในช่วงเย็นวันที่ 9 ม.ค.หลังได้รับรายงานแล้วจะพิจารณาดำเนินการต่อไป ในชั้นนี้ยังไม่มีการตัดสินใจว่า จะยกเลิกการสอบครั้งนี้หรือไม่ ต้องรอผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการ ใน บช.ต่างๆที่จัดสอบก่อน จึงจะดำเนินการขั้นตอนต่อไป พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. มีนโยบายชัดเจนที่จะสกัดไม่ให้ผู้ทุจริตเข้าสู่อาชีพตำรวจถือเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
“ครั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สามารถตรวจสอบ ตรวจจับได้ เพราะถ้าปล่อยให้บุคคลเหล่านี้เข้ามา เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็น ส่วนผู้ที่กระทำการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือประชาชนผู้เข้าสอบจะดำเนินคดีทั้งหมด สำหรับสาเหตุที่ต้องตรวจย้อนหลังทั้ง 12 บช. เพื่อป้องกันข้อครหา เมื่อตรวจสอบพบว่า ใน บช.น.มีการโกง เกิดขึ้น จึงตั้งสมมติฐานว่า อาจมีกรณีอย่างนี้เกิดใน บช.อื่นด้วย ส่วนจะเจอหรือไม่ ต้องรอการตรวจสอบ ถ้าเกิดขึ้นจริงจะดำเนินการอย่างไร เช่น การยกเลิกการสอบทั้งหมด ยกเลิกการสอบบางส่วน ขณะนี้ยัง ตอบไม่ได้” รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าว
ด้าน พล.ต.ต.จักรกฤษศณ์ สิงห์ศิลารักษ์ รอง ผบช.ศ. กล่าวว่า ได้รับแจ้งจาก บช.ภ.1-6 บช.ภ.8-9 และ ศชต. ทั้งหมด 10 กองบัญชาการ ว่า ไม่พบการกระทำผิดลักษณะเดียวกับ บช.น. ยังเหลืออีก 2 กองบัญชาการ คือ บช.ภ.7 และ บช.ตชด.อยู่ระหว่างการตรวจสอบซ้ำ เรื่องนี้ บช.น.รายงานตรงไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไม่ผ่าน บช.ศ. อย่างไรก็ตาม เสนอ ตร.ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รรท.รอง ผบ.ตร. เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดในวันที่ 11 ม.ค. ที่ ตร.ต่อไป
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า เป็นเรื่องของตำรวจ จะมีพวกหนึ่งที่ทุจริตจะต้องนำตัว มาลงโทษทั้งหมด ไม่ว่าจากภาคเอกชนหรือราชการ กรณีดังกล่าวคงไม่มีการตรวจสอบย้อนหลัง เพราะถ้าย้อนหลังคงต้องย้อนกันถึง 20 ปี ดังนั้น จะเอาครั้งนี้ให้ชัดเจนก่อน ตำรวจต้องดำเนินการ แต่ในส่วนพวกที่สอบได้แล้วแต่ไม่ได้ทุจริต ต้องมาดูว่าจะตอบแทนอะไรได้บ้าง ต้องทำอย่างไรในการเยียวยา
ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า เบื้องต้นแม้ว่าความผิดในด้าน พฤตินัยอาจจะชัดเจน แต่ยังคงต้องรอผลการสอบสวนที่ชัดเจนจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เรื่องความผิดด้านนิตินัยก่อน หากออกหมายจับ ทางเราพร้อมจะส่งตัวให้ บช.น.ดำเนินการทันที ส่วนการลงโทษตามระเบียบวินัยราชการ กทม. ภายหลังชี้มูลความผิดจะถูกสั่งพักราชการก่อนตั้งคณะกรรมการสอบวินัยต่อไป
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า พฤติกรรมของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเป็นการใช้ความเก่ง ความรู้ความสามารถไปในทางที่ผิด เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาจะพบการทุจริตในลักษณะการเข้าสอบแทน ส่งสัญญาณทางเครื่องมืออุปกรณ์ไอทีไม่ใช่เรื่องที่ดีและไม่ควรเกิดขึ้น ดังนั้น ศธ.จะผลและปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต สร้างชาติและหน้าที่พลเมือง ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครูอาจารย์ต้องช่วยกันปลูกฝังทำให้เกิดผลในวงกว้าง เร็วๆนี้จะหารือกับรมว.ศึกษาธิการ และนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาฯ ว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนการสอน เรื่องนี้มีรูปแบบชัดเจนและเป็นการสอนที่สนุกสนาน
“เด็กที่เรียนเก่ง ถ้ารู้จักประมาณการตน นำความเก่งไปใช้ในทางที่ถูกที่ควรจะเกิดประโยชน์ได้วงกว้าง แต่ถ้าไปทำผิดๆแบบนั้น คนก็ตั้งคำถามว่า จบมาจากที่ไหน กลายเป็นว่าเสียหายกันไปทั้งระบบ จึงต้องสอนเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต สร้างชาติ และหน้าที่พลเมืองให้เด่นชัด” ม.ล.ปนัดดากล่าว
ส่วนนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กรณีนี้จะดำเนินการ 2 ส่วนคือ ดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมือง และการดำเนิน การตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯ กำหนดบทลงโทษ 4 ระดับ คือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ตัดคะแนนความประพฤติ และปรับพฤติกรรม ส่วนที่จะให้แก้ไขระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯให้หนักขึ้นคงทำไม่ได้ เพราะระเบียบดังกล่าวออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 กำหนดรายละเอียดว่า การลงโทษเด็กว่าทำได้อย่างไรมากน้อยแค่ไหน โดยไม่ให้ลงโทษด้วยการไล่ออก อย่างไรก็ตาม การดูแลพฤติกรรมเด็กเป็นเรื่องของสถานศึกษา หากพบว่ากระทำผิดการพิจารณาโทษ ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากตักเตือน เพราะบางกรณีหากพบว่า กระทำผิดชัดเจนอาจจะลงโทษในขั้นสุดท้ายคือ ปรับพฤติกรรมได้เลย