หืดขึ้นคอ…กว่าจะถอดถอน

หัวข้อข่าว: หืดขึ้นคอ…กว่าจะถอดถอน

ที่มา: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดย ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

 

จบลงไปแล้วสำหรับการถอดถอน “อุดมเดช รัตนเสถียร” อดีต สส.นนทบุรี และ “นริศร ทองธิราช” อดีต สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ สว.โดยมิชอบ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเป็นรายกรณี ดังนี้

 

1.กรณีการกล่าวหานริศร เนื่องจากเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน สนช.มีมติถอดถอน 221 ต่อ 1 คะแนน ไม่ออกเสียง 2 คน

 

2.กรณีการกล่าวหาอุดมเดช เนื่องจากมีการสลับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอประธานรัฐสภาก่อนเข้าสู่การประชุมรัฐสภา สนช.มีมติถอดถอน 206 ต่อ 15 คะแนน บัตรเสีย 3 ใบ

 

ผลการลงมติของ สนช.ทำให้นริศรและอุดมเดชถูกตัดสิทธิในการดำรง ตำแหน่งใดๆ ในทางการเมือง หรือในหน่วยงานของรัฐ หรือการรับราชการ เป็นเวลา 5 ปี

 

การถอดถอนที่เพิ่งจบลงไป เมื่อวันที่ 4 พ.ย. นับว่าเป็นคะแนนถอดถอนที่มีมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะในรายของนริศรที่ สนช.เกือบลงมติเป็นเอกฉันท์เป็นครั้งแรก หากไร้ซึ่งสมาชิก สนช. 1 คน ที่ลงคะแนนไม่ถอดถอน ทำให้นริศรรอดจากการถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์อย่างฉิวเฉียด

 

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้การถอดถอนครั้งนี้มีความสำคัญกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติถอดถอนบุคคลเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โอนอำนาจการถอดถอนไปให้กับศาลฎีกา เพื่อไม่ต้องการให้ใครมาใช้สภาเป็นที่ฟอกตัวเพื่ออ้างความชอบธรรมในทางการเมืองเหมือนในอดีตอีก

 

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังของการถอดถอนครั้งสุดท้าย เกิดปรากฏการณ์การปะฉะดะอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นศึกระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต่างมีจุดยืนต่อเรื่องนี้ต่างกัน

 

ตลอดทั้งสัปดาห์ก่อนที่จะมีการลงมติถอดถอนในวันที่ 4 พ.ย.นั้น สนช.ต่างได้รับข้อมูลข่าวสารออกเป็นสองแนวทาง

 

แนวทางที่ 1 ปล่อยอุดมเดชแต่ถอดถอนนริศร มีกระบวนการผลิตข้อมูลสารและวางกลไกประสานงานมาอย่างเป็นลำดับจากบิ๊กในพรรคเพื่อไทยถึงบิ๊ก คสช.คนหนึ่ง เพื่อต้องการให้อุดมเดชไม่ถูกถอดถอน

 

วิธีหนึ่งที่นำมาใช้ คือ การชี้แจงว่าการกระบวนการแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายก่อนที่จะมีการเข้าสู่สภาเป็นเรื่องปกติที่สภาเคยทำกันมาหลายชุด ซึ่งสมาชิก สนช.หลายคนก็เห็นด้วยกับมุมนี้เช่นกัน เพราะการดำเนินการภายในของฝ่ายนิติบัญญัติควรให้เป็นแดนอิสระของสภา มิเช่นนั้นต่อไปการทำงาน ของสภาจะตึงเกินไป

 

อีกทั้งพยายามชี้ให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร แต่ไม่ผูกพันการตัดสินใจลงมติของ สนช.หมายความว่า คำวินิจฉัยจะผูกพันเฉพาะการให้ร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นตกไปเท่านั้น ไม่อาจมีผลต่อการโหวตของ สนช.แต่อย่างใด

 

ส่วนกรณีของนริศรนั้นเห็นว่าควรลงมติถอดถอนตั้งแต่แรก เนื่องจากหลักฐานและพฤติการณ์ที่ปรากฏออกมามีความผิดชัดเจนที่ สนช.สมควรลงมติถอดถอน ป้องกันไม่ให้ สส.ในอนาคตใช้วิธีการเช่นนี้อีก

 

แนวทางที่ 2 ถอดถอนทั้งสองคน ขณะที่ สนช.อีกฝ่ายได้รับสารมา จากบิ๊ก คสช.อีกราย เพื่อให้ประสานงานใน สนช.ว่าต้องลงมติถอดถอนทั้งสองคน เนื่องจากหากปล่อยไว้จะเป็นบรรทัดฐานในทางที่ผิดต่อไป อีกทั้งจะเป็นการยากที่ คสช.จะตอบสังคมในเรื่องการสร้างความโปร่งใส หาก สนช.ไม่ดำเนินการถอดถอนบุคคลทั้งสองคน

 

สิ่งที่ สนช.ฝ่ายนี้นำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ คือ การย้ำว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร พร้อมกับอธิบายว่า ในกรณีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาด้วย ยิ่งเป็นการย้ำว่าทั้งสองคนมีการกระทำที่เป็นความผิด สนช.จึงควรดำเนินการถอดถอนเพื่อให้เป็นบรรทัดฐานแก่ฝ่ายนิติบัญญัติในระยะยาว

 

เมื่อใน สนช.มีกระบวนการสร้างข่าวสารและการประสานงานออกเป็น 2 ส่วน ส่งผลให้เกิดการประลองกำลังกันในสภาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เริ่มจากเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งเป็นวันแถลงปิดคดีของฝ่าย ป.ป.ช.และผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคน ทว่ามีสมาชิก สนช.เข้ามาร่วมรับฟังอย่างบางตา ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” สมาชิก สนช. ต้องลุกขึ้นกลางสภาเพื่อขอให้ “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. ประกาศเรียกให้สมาชิก สนช.มารับฟังการแถลงปิดคดี

 

อยากให้สมาชิก สนช.เข้ามาฟังการแถลงปิดคดี เพื่อนำไปสู่การใช้ดุลพินิจอย่างถูกต้องก่อนการตัดสินใจ อีกทั้งการถอดถอนครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะมีการดำเนินการกันในสภา เนื่องจากอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่ได้เป็นอำนาจของสภาอีกต่อไป” พล.อ. สมเจตน์ กล่าวในที่ประชุม สนช.เวลานั้น

 

เช่นเดียวกับการงัดข้อกันระหว่าง ป.ป.ช.กับอุดมเดชในการแถลงปิดคดี ก็ต่างนำการมีผลผูกพันของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นประเด็นหักล้างกัน โดยฝ่าย ป.ป.ช.ยืนยันว่า คำวินิจฉัยผูกพันทุกองค์กร สนช.จะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนอุดมเดชอธิบายว่า ความผูกพันมีเฉพาะในส่วนท้ายของคำวินิจฉัยเท่านั้นไม่ใช่ทั้งหมด

 

สุดท้าย สนช.ยอมรับกับแนวทางที่ 2 เพื่อไม่ต้องการสร้างความลำบากใจให้กับ คสช.ในอนาคต เพราะถ้าปล่อยอีกคนแต่ไม่ปล่อยอีกคน แบบนี้ย่อมเป็นการตอกย้ำว่า คสช.ยอมฮั้วกับฝ่ายการเมือง

 

ผลที่ออกมาเลยเป็นอย่างที่เห็นว่า กว่าจะถอดถอนกันได้ต้องออกแรงกันหืดขึ้นคอ