เรียกค่าเสียหายจำนำข้าวหนังยาวกว่าจะจบที่ ‘ยึดทรัพย์’

หัวข้อข่าว: เรียกค่าเสียหายจำนำข้าวหนังยาวกว่าจะจบที่ ‘ยึดทรัพย์’

ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

 

หลังทำท่าจะยื้อเรื่อง ไม่กล้าเด็ดขาดกับเผือกร้อนในเรื่อง การออกคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกค่าชดเชยความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวมาหลายวัน แต่สุดท้ายเมื่อเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลที่ทาง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณมาตลอดว่าต้องกล้าตัดสินใจในเรื่องนี้และต้องการให้เรื่องนี้จบโดยเร็ว ผนวกกับกระแสสังคมจับตามองอย่างมาก

 

สุดท้าย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เดิมทีเหมือนจะยื้อเรื่องเอาไว้ ก็ต้องลงนามในหนังสือคำสั่งให้นำเงินมาใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งทางปกครองกรณีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตัน กับนักการเมืองและข้าราชการทั้ง 6 ราย

 

ทั้งนี้ หนังสือดังกล่าวเป็นการลงนามคู่ โดย รมว.พาณิชย์ลงนามในฐานะได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในฐานะได้รับมอบหมายจาก รมว.พาณิชย์

 

โดยนักการเมืองและข้าราชการ 6 ราย ที่ทางการจะส่งหนังสือคำสั่งทางปกครองไปถึงเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการขายข้าวจีทูจี มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท แยกเป็นดังนี้

 

บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ต้องจ่ายค่าชดเชย 1,770 ล้านบาท, ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ 2,300 ล้านบาท ขณะที่ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์, มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, ทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายอัครพงศ์ ทีปวัชระ อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ ต้องจ่ายคนละ 4,000 ล้านบาทอันจะเห็นได้ว่า อดีตข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ต้องชดใช้ค่าเสียหายมากกว่านักการเมืองเสียอีก

 

สำหรับขั้นตอนทางกฎหมายต่อจากนี้ ไม่ใช่ว่าจะนำไปสู่การ ยึดทรัพย์ ได้เลย มันเหลืออีกหลายกระบวนการ กว่าเรื่องจะยุติก็น่าจะกินเวลาอย่างน้อยอีก 2-3 ปี เพราะยังไงฝ่ายบุญทรงกับพวกก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวนี้แน่นอน หลังได้รับหนังสือดังกล่าว โดยทั้งหมดจะมีเวลาอีก 30 วันในการดำเนินการตามขั้นตอนชดใช้ค่าเสียหาย แต่หากยังนิ่งเฉยก็จะส่งหนังสือแจ้งเตือนอีกครั้ง โดยมีเวลา 15 วัน หากยังนิ่งเฉยกระทรวงจะประสานไปยังกรมบังคับคดีเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

 

กระบวนการต่อจากนี้ บุญทรงกับพวก แน่นอนว่า ทั้งหมดก็จะใช้สิทธิ์ยื่นร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์ และหากศาลปกครองกลางรับเรื่อง ก็จะต้องมีการสู้คดีกันต่อไประหว่างบุญทรงกับพวกและกระทรวงพาณิชย์ และเมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งใดๆ ในคดีออกมาแล้ว หากฝ่ายผู้ร้องกับผู้ถูกร้องไม่พอใจ ก็สามารถใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลางได้อีก ทำให้เรื่องก็จะไปที่ศาลปกครองสูงสุด ที่ก็จะใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะมีคำสั่งใดๆ ออกมา

 

ดังนั้นกระบวนการเรื่องนี้ที่ต้องสู้กันในชั้นศาลปกครองกลางศาลปกครองสูงสุด จึงเป็นหนังยาว ต้องดูกันอีกหลายปี เพียงแต่ตอนนี้ถือว่าเข้าช่วงไคลแมกซ์ในยกแรกของการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ที่แยกออกมาจากคดีอาญา ซึ่งตัวบุญทรง-อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก ตกเป็นจำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ก็มีการไต่สวนพยานกันอยู่

 

ในส่วนของบุญทรงกับพวก เชื่อได้ว่าตอนนี้คงเตรียมทนายความไว้สู้คดี ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองไว้แล้ว โดยประเด็นการต่อสู้นั้นก็คงมีอยู่ไม่กี่ประเด็น เช่น การบอกว่าคดีรับจำนำข้าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่กลับมีความเร่งรีบรวบรัดให้มีการเตรียมการยึดทรัพย์ตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง แทนที่จะให้ความเป็นธรรม โดยนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อให้ต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ดังที่ศาลฎีกาฯ ได้ดำเนินการอยู่ แต่รัฐบาลกลับใช้อำนาจพิเศษมาดำเนินการ

 

“หลักและเจตนารมณ์ของกฎหมายเกี่ยวกับกรณีทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงในทางแพ่งต้องยึดเอาตามข้อเท็จจริงที่ได้จากคดีอาญา ดังนั้นเมื่อยังไม่มีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ กระผมจึงเห็นว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่จะใช้อำนาจทางการบริหารแทนอำนาจของศาลเพื่อยึดทรัพย์ของกระผม

 

ขอยืนยันว่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้องจนกว่าถึงที่สุด แม้ว่าจะต้องไปต่อสู้กันในศาลกี่ศาลก็ตาม” นายบุญทรงระบุไว้ และเชื่อว่าสิ่งที่อดีต รมว.พาณิชย์ผู้นี้บอกไว้ข้างต้น ก็คือประเด็นหลักที่จะนำไปสู่การสู้คดีในชั้นศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด

 

ข้างต้นคือกรณีของบุญทรงกับพวก ที่เป็นเรื่องของการขายข้าวแบบ จีทูจี ที่ ป.ป.ช.ชี้มูลว่าทุจริต แต่สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ก็ตกเป็นจำเลยในชั้นศาลฎีกาฯ เช่นกัน ก็ต้องรอลุ้นเหมือนกันกับการที่ต้องเตรียมไปสู้คดีในชั้นศาลปกครองเหมือนกับบุญทรงและพวก เพียงแต่ของยิ่งลักษณ์จะต้องให้ต้นเรื่องมาจาก กระทรวงการคลังในฐานะยิ่งลักษณ์เป็นอดีตนายกฯ ที่กำกับดูแลนโยบายของรัฐบาลและในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) โดยตำแหน่ง ที่ไม่ยอมยุติหรือยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว แม้ ป.ป.ช.-สตง.จะทำหนังสือเตือนว่าโครงการดังกล่าวจะเกิดความเสียหาย แต่ยิ่งลักษณ์ก็ไม่ได้รับฟังปฏิบัติตาม จึงทำให้ตกเป็นจำเลยในศาลฎีกาฯ รวมถึงเตรียมต้องไปสู้คดีเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินตามที่กระทรวงการคลังสรุปผลออกมา

 

ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดของเรื่องนี้พบว่า ตัวเลขที่จะมีการสรุปให้ยิ่งลักษณ์ต้องจ่ายเงินชดเชยนั้น เรื่องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งยังไม่มีการสรุปตัวเลขขาดทุนที่แน่ชัด แต่หากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเสร็จแล้ว ก็ต้องส่งเรื่องไปให้ รมว.การคลังพิจารณาลงนามร่วมกับนายกฯ แล้วก็ทำหนังสือแจ้งไปยังยิ่งลักษณ์เหมือนเช่นกรณีของบุญทรง

 

ที่ก็แน่นอนว่า ยิ่งลักษณ์ก็ต้องสู้คดีด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าวของกระทรวงการคลัง อันเชื่อได้ว่ากว่าเรื่องจะได้ข้อยุติ ก็ต้องไปจบกันที่ศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน

 

ดังนั้นกรณีการเรียกค่าเสียหายจากบุญทรงและพวกกับยิ่งลักษณ์ ในโครงการรับจำนำข้าว จึงเป็นหนังยาวที่ต้องรออีกพอสมควร กว่าจะรู้ผลว่าเรื่องนี้จะจบแบบไหน

 

อย่างไรก็ตาม หากเรื่องไปถึงศาลปกครองแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ ที่มีโอกาสถูกแทรกแซงอะไรได้ทุกเมื่อ ทุกฝ่ายก็น่าจะสบายใจได้ เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล ที่จะว่ากันไปตามกฎหมาย ข้อเท็จจริง ไม่มีเรื่องของการเมืองใดๆ มาเกี่ยวข้อง.