เร่งใช้ม.44รื้อระบบอี-บิดดิ้ง

หัวข้อข่าว: เร่งใช้ม.44รื้อระบบอี-บิดดิ้ง

ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

 

รบ.รื้อระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สร้างระบบอี-บิดดิ้งให้เกิดความโปร่งใส เล็งใช้ ม.44 เร่งบังคับใช้ก่อน ‘ตู่-จตุพรแจงกลับไม่เคยท้าเปิดเวทีปรองดองแข่งกับ คสช. บิ๊กป้อมเตือนอย่าเล่นนอกกรอบ

 

บิ๊กตู่ประชุมป.ย.ป.ถกงานคลัง

 

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (มินิคาบิเนต) ครั้งที่ 2/2560 เป็น 1 ใ น 4 คณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) รับผิดชอบโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มีรูปแบบการประชุมเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดเล็กหรือมินิคาบิเนต พิจารณาเร่งรัดการทำงานของกระทรวงการคลัง มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงการคลังร่วมประชุม

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้รื้อระบบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดชื้อจัดจ้างในภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น มีการนำข้อตกลงสัญญาคุณธรรมและประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-บิดดิ้ง มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างให้บริษัทต่างชาติได้เข้าประมูลได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นทะเบียนบริษัทของผู้ประกอบการรายใหม่ด้วย ทั้งยังสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ และที่ประชุมยังเห็นชอบออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ให้ใช้ไปก่อนระหว่างรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ คาดว่าจะประกาศใช้ในกลางปีนี้

 

ใช้ม.44ออกบังคับใช้อี-บิดดิ้ง

 

ต่อมานายอำพน กิตติอำพน ผู้อำนวยการสำนักบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พีเอ็มดียู) พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และน.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง แถลงผลการประชุม มินิคาบิเนต ว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้กระทรวง การคลัง สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง วางแนวทางการปฏิบัติในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ เน้นในเรื่องของการกำหนดทีโออาร์หรือข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างให้มีความโปร่งใส ภาครัฐได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ รวมถึงกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องทำให้ได้ราคากลางที่ถูกต้อง แก้ปัญหาการสมยอมราคา รวมถึงการพิจารณาการจัดซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต โดยไม่ผ่านคนกลาง

 

นายอำพนกล่าวว่า ต้องดูเรื่องของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาแข่งขันในโครงการของภาครัฐ จะให้บริษัทต่างชาติสามารถเข้ามาดำเนินการได้ แต่ต้องมีการกลั่นกรองกติกาต่างๆ อย่างรอบคอบและเหมาะสม หลังจาก พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างฯ มีผลบังคับใช้ แต่กฎหมายลูกยังไม่แล้วเสร็จ อาจพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 44 บังคับใช้ไปก่อน แนวทางทั้งหมดจะมีการศึกษาและนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ อย่างไรก็ตาม จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ปี 2558 ทั้งในส่วนของอี-บิดดิ้ง หรือวิธีประกวด ราคาอิเล็กทรอนิกส์ การดำเนินข้อตกลงคุณธรรม และการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้าง สามารถแก้ปัญหาทั้งในเรื่องของการสมยอมราคาและการล็อกสเปก ทำให้ประหยัดงบประมาณได้กว่า 69,670 ล้านบาท