เสียงเตือน ยกเครื่อง ก.ม.จัดซื้อจัดจ้างใหม่

หัวข้อข่าว: เสียงเตือน ยกเครื่อง ก.ม.จัดซื้อจัดจ้างใหม่

ที่มา: คอลัมน์ กระดานความคิด, คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย 

น้ำเชี่ยว บูรพา

 

พูดถึงการไล่เบี้ยสกัดการโกงการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ประกาศยืนยัน รัฐบาลชุดนี้จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นและก่อนลงจากหลังเสือ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจะต้องบรรเทาเบาบางลง ล่าสุดนี้ในส่วนของภาครัฐเองกำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ที่เห็นว่าเป็นการนำเอาระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุปี 2535 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เคยเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี มาทำให้เป็นกฎหมายซึ่งมีผลผูกพันบังคับทุกหน่วยงานและมีโทษทางอาญา

 

วันวาน มีโอกาสไปฟังงานเสวนาวิชาการเรื่อง “พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ กับผลกระทบต่อหน่วยงานภาครัฐ” ที่จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้ที่มีส่วนต้องใช้กฎหมายฉบับนี้พูดไว้น่าคิด โดยเฉพาะวาทะเด็ดของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่ากฎหมายฉบับนี้ดีในแง่ป้องกัน แต่การเขียนให้ทุกคนทำเหมือนกันหมดแบบนี้เท่ากับว่ากำลังพาประเทศถอยหลังไป 50 ปี

 

“เราคงลืมเหตุผลของการตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาเพราะต้องการแก้ไขความเชื่องช้าของราชการแบบเดิมๆ ที่ล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพ เราลืมเหตุผลการตั้งองค์กรอิสระองค์การมหาชนแล้วหรือ เรากำลังเสียสละอะไรบางอย่างที่เป็นพัฒนาการร่วมของสังคมไทยเพียงเพื่อแลกกับความคิดที่ว่าอย่าให้ใครโกงจึงต้องเข้มงวดไม่มีวิธีการอื่นแล้วหรือ?”

 

พูดภาษาชาวบ้าน เห็นโกงกันเยอะเหลือเกิน ต่อไปนี้ออกกฎหมายมาใหม่ไม่ให้โกงกันง่ายๆ ส่วนจะจริงหรือไม่นั้นทุกฝ่ายต่างรู้แก่ใจกันดีอยู่ และจะว่าไปภายใต้ระเบียบจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นอยู่ก็ใช่ว่าจะไร้ประสิทธิภาพไปเสียทั้งหมด หลากหลายองค์กรที่สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไร้ข้อครหาผ่านการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสจนได้รับการชื่นชมจากสำนักงานป.ป.ช.ในระดับดี ถึงดีมาก อย่างน้อยก็มีถึง 115 หน่วยงาน ซึ่งก็มีทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน

 

เท่าที่ไล่เรียงดูรายชื่อหลายหน่วยงานได้รับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสอยู่ในระดับ “ดีมาก” ป.ป.ช.ให้คะแนนสูงลิ่วกว่าร้อยละ 85 จนน่าจะเป็น “โมเดล” ต้นแบบให้หน่วยงานรัฐอื่นๆ เจริญรอยตามได้ไม่ยากนั้นล้วนเป็นชื่อที่ คุ้นหูกันอยู่แล้ว อย่างโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.), องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก, สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

 

หากจะถามว่าองค์กรเหล่านี้มีรูปแบบวิธีการทำงาน หรือกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดแผกแตกต่างไปจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์การมหาชนอื่นๆ หรืออย่างไรคำตอบนั้นก็คือ “เปล่าเลย” ทุกองค์กรต่างดำรงอยู่ในสถานะที่ไม่แตกต่างกัน ล้วนอยู่ใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ แต่ด้วยสำนึกของผู้บริหาร พนักงาน และองคพายพขององค์กรที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักก็ทำให้กระบวนการทำงานขององค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างราบรื่นจนได้รับคำชื่นชม

 

ทั้งหมดที่ไล่เรียงมา ก็แค่อยากฝากให้ผู้มีอำนาจได้ตระหนัก การมุ่งแก้ปัญหาสกัดการโกงด้วยการไปออกกฎเกณฑ์ กฎหมายแก้โกงอย่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับใหม่มาบังคับใช้กับหน่วยงานรัฐแบบปูพรมเยี่ยงนี้ ด้วยความคาดมุ่งหวังแต่จะสกัดการโกงกินนั้น มันอาจเป็นดาบสองคมที่ทำให้ประสิทธิภาพและความโปร่งใส รวมไปถึงการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

 

อย่าลืมว่าร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ใหม่นี้ จะคลุมหน่วยงานรัฐทุกประเภทได้แก่ ส่วนราชการทุกหน่วย รวมถึงรัฐวิสาหกิจ 50-60 แห่ง องค์กรอิสระ องค์การมหาชน 60 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7,000 แห่ง มหาวิทยาลัยในกำกับเกือบ 20 แห่ง เมื่อทุกหน่วยงานที่มีพื้นฐานการจัดตั้งไม่เหมือนกัน แต่กลับต้องมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างเดียวกันชนิดไม่ให้กระดิก อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานถดถอย ประสิทธิภาพด้วยลงไปได้

 

ยิ่งตามร่างกฎหมายใหม่นั้น กำหนดบทลงโทษทางอาญาขั้นต่ำ 1 ปี-ไปจนถึง 10 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้น การนำโทษทางอาญามาใช้แบบครอบจักรวาลเช่นนี้ จะกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐ อาจเลือกที่จะนั่งอยู่เฉยๆ โยนงานจัดซื้อจัดจ้างทุกอย่างให้กรมบัญชีกลางชี้ขาดเอาได้

 

หน่วยงานที่ได้รับการการันตีว่ามีผลการดำเนินงานที่ดี มีความโปร่งใส ผู้บริหารและพนักงานในองค์กรมีคุณธรรมและธรรมาภิบาลก็พลอยจะเกิดความน้อยใจในเมื่อองค์กรได้รับการการันตีการทำดีมาตลอด เหตุใดจะต้องพลอยติดร่างแหให้ต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้างภายในที่ดีอยู่แล้วอีก

ตกลงแล้วประเทศไทยจะเข้าสู่ยุค 4.0 กันจริงหรือไม่ ใครรู้…ช่วยตอบที