หัวข้อข่าว: เหลือแค่’ค่าปรับ‘-หวังจูงใจเปิดข้อมูลทุจริต แก้ก.ม.ลดโทษ‘คนให้สินบน‘
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
คลังเสนอนายกฯแก้กฎหมายผ่อนปรนโทษผู้ให้สินบน หวังเป็นแรงจูงใจให้เปิดเผย ข้อมูล หากสารภาพจะลดโทษเหลือเพียงจ่ายค่าปรับ จากเดิมต้องรับโทษทางอาญาและแพ่งเท่ากับผู้รับสินบน พร้อมนำ ระบบองค์กรคุณธรรม การเปิดเผยข้อมูล และลดการจัดซื้อผ่านเอเย่นต์มาใช้ในการจัดซื้อระหว่างที่กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่มีผลบังคับใช้
การออกมาเปิดเผยข้อมูลการรับสินบน โรลส์-รอยซ์ ในบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึงอีกหลายๆ กรณี ที่แม้จะเป็นเรื่อง ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นการรับสินบนข้ามประเทศ และเป็นกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ชั้นนำของประเทศ
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลต่างออกมาเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อปิดช่องโหว่การทุจริต คอร์รัปชัน โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นกระทรวงหลักที่ดูแลเรื่องระบบการจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ
วานนี้ (2 ก.พ.) นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลัง โดยมีพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมด้วย
เสนอผ่อนปรนโทษผู้ให้สินบน
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบในการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญาเรื่องการคอร์รัปชันที่จะผ่อนปรนบทลงโทษให้แก่ผู้ให้สินบนจากปัจจุบันที่กำหนดโทษเท่ากันระหว่างผู้ให้สินบนและผู้รับสินบน เพื่อจูงใจให้ผู้ให้สินบนมีการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการรับสินบน
“กฎหมายเรื่องคอร์รัปชันในปัจจุบันกำหนดบทลงโทษทั้งแพ่งและอาญาที่ผู้ให้สินบนและผู้รับสินบนต้องรับโทษเหมือนกันเมื่อกฎหมายเป็นอย่างนี้ ผู้ให้ที่ถูกบังคับให้สินบน ก็ไม่กล้าเปิดเผยตัว เพราะกลัวโดนคดีอาญาไปด้วยเราก็ คิดว่า ควรแก้ไขกฎหมายข้อนี้ โดยผ่อนปรนให้ผู้ให้สินบนรับผิดเพียงค่าปรับหากสารภาพ และ ให้มีการวาง ทัณฑ์บนไว้ก่อน เพื่อจูงใจให้ผู้ให้เปิดเผยข้อมูลเพื่อเล่นงานคนรับสินบน ตรงๆได้ แนวทางดังกล่าวหลายประเทศนำมาใช้ เช่น จีน เป็นต้น”
ชงเข้าที่ประชุม ป.ย.ป.เร่งด่วน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอ เข้าสู่การพิจารณาในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดิน ตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งกำหนดจะนำเข้าสู่การพิจารณาในวันที่ 20 ก.พ.นี้ แต่เรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างมาก อาจจะนำเข้าสู่ที่ประชุมเร็วกว่ากำหนดเดิม
สำหรับกฎหมายดังกล่าว ทางกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งในรายละเอียดของการแก้ไขกฎหมายนั้น จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกระทรวงยุติธรรม
เสนอใช้ม.44แก้กม.บังคับใช้เร็วขึ้น
นายอภิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะนำมาตรา 44 เพื่อกำหนดให้ปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้เร็วขึ้น หากเห็นว่า แนวทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาซึ่งกระทรวงการคลังก็จะเสนอในเรื่องดังกล่าวไปด้วยพร้อมกับเรื่องของการไม่กำหนดอายุความของการพิจารณาคดีรับสินบนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
วาง3กฎปิดช่องทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้สรุป 3 ประเด็นปัญหาที่อาจทำให้เกิดช่องโหว่ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง คือ 1.การกำหนดเงื่อนไขการประมูล ซึ่งปัจจุบันผู้กำหนดคือหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้าง โดยข้อมูลการคำนวณราคากลางของกรมบัญชีกลางไปใช้เป็นเกณฑ์ 2.การฮั้วราคา และ 3.การจัดซื้อผ่านคนกลาง โดยที่ประชุมเห็นว่า ทั้ง 3 ประเด็นดังกล่าวนั้น มีแนวทางในการแก้ไขผ่านกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ราวเดือนส.ค.ปีนี้ ฉะนั้น ระหว่างนี้ จึงควรมีมาตรการเข้าไปกำกับดูแล
โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ นำสัญญาคุณธรรมและระบบตรวจสอบความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐไปใส่ไว้ในการจัดซื้อจัดจ้าง และการประมูล นอกจากนี้ยังกำหนดให้ยกเลิกการซื้อขายผ่านคนกลาง หากอะไรสามารถซื้อตรงได้ต้องซื้อตรง ยกเว้นซื้อตรงไม่ได้อนุญาตให้ใช้คนกลาง รวมถึง จะให้ขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาทำงานภาครัฐ และให้ต่างชาติมาร่วมประมูลในโครงการภาครัฐได้
“ข้อกำหนดหลายอย่างอยู่ใน พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ล่าสุดกฎหมายผ่านการ พิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจาฯ หลังกฎหมายประกาศแล้วจะมีผลใน 180 วันคาดว่า กฎหมายจะมีผลในเดือน ส.ค. ดังนั้น อาจช้าเกินไปหากรอกฎหมาย จึงนำ ข้อกำหนดในกฎหมายใช้มาก่อน”
หวังอีบิดดิ้งลดปัญหาทุจริต
นายอภิศักดิ์กล่าวว่า การนำระบบอี-บิดดิ้งมาใช้ในการประมูลก็เป็นหนึ่งในช่องทางในการลดปัญหาการทุจริตและช่วยลดต้นทุนการจัดซื้อได้ ที่ผ่านมา ประหยัดงบประมาณได้ถึง 6.5 หมื่นล้านบาท
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุสินบนโรลส์-รอยซ์ เกิดปัญหาขโมยภาพ นายกฯ กังวลว่า จะทำให้สังคมรู้สึกหวั่นไหวกับปัญหาคอร์รัปชันว่าในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตจะเป็นแบบนี้หรือไม่ นายกฯจึงมอบ ตนมาประสานกับกระทรวงการคลัง เพื่อดูว่าจะทำอะไรเพื่อแก้ไขได้บ้าง ส่วนประเด็นการใช้มาตรา 44 นั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ย.ป. จะหยิบยกมาพิจารณา ถ้าจำเป็นต้องออกมาตรา 44 เชื่อมั่นว่านายกไม่ลังเลที่จะตกลงใจ