หัวข้อข่าว: แฉซ้ำ ปูดสินบน 3 รัฐวิสาหกิจไทย
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560
หลังจากที่ บริษัท เจเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายสายเคเบิลและสายไฟฟ้า ยอมค่าปรับให้แก่ทางการสหรัฐฯ 75 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ยุติการสอบสวนคดีจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ที่เข้าข่ายกระทำละเมิดกฎหมายป้องกันการคอร์รัปชัน ในต่างประเทศ (FCPA) ของสหรัฐฯ
โดยข้อยุติในรายละเอียดระบุว่า พนักงานและผู้บริหารระดับสูงของ เจเนอรัล เคเบิล บางคนรวมถึงผู้บริหาร ที่ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท PHelps Dodge International (Thailand) (PDTL) รับรู้ว่าสาขาบริษัทในต่างประเทศมีการว่าจ้างกลุ่มบุคคลที่สาม เป็นผู้กระจายสินค้า และให้จ่ายสินบนกับเจ้าหน้าที่รัฐในบางประเทศ เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางธุรกิจ
PDTL ยอมรับว่ามีจ่ายเงินกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับผู้กระจายสินค้าในไทยในระหว่างปี 2012-2013 ให้กับหน่วยงาน 3 แห่งที่เป็น รัฐวิสาหกิจของไทย ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง และ บริษัททีโอที (จำกัด) มหาชน ซึ่งอ้างว่าเป็นค่าคอมมิชชันกับรัฐวิสาหกิจของไทยที่อ้างว่านำไปให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย เรื่องรับสินบนนี้ก็เลยปูดแดงขึ้นมา สั่นสะเทือนไปทั้งรัฐวิสาหกิจ 3 รัฐวิสาหกิจก็คงต้องลุกขึ้นมาตั้งกรรมการสอบสวนและหาข้อเท็จจริงกันเป็นการด่วน นับเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ทำให้เรื่องเน่า ๆ ให้เกิดความเสื่อมเสีย
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้เกิดเรื่องบริษัทโรลส์รอยซ์ ติดสินบนการ ขายเครื่องยนต์ โรลส์-รอยซ์ ให้กับบริษัทการบินไทยมีการจ่ายค่านายหน้าให้กับคนกลาง นักการเมือง และคนในการบินไทย รวม 3 ครั้ง และมีการระบุว่ามีใครเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง ทำให้หลายคนพุ่งเป้าไปที่ผู้บริหารของการบินไทย ว่ามีส่วนรู้เห็น แต่ทุกคนก็ออกมาปฏิเสธกันเป็นพัลวัน
“ทันประเด็น” ได้ตั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย บอร์ดการบินไทยหรือประธานการบินไทยมักจะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ถึงแม้ผู้บริหารที่ถูกแต่งตั้งมาจะในรัฐบาลชุดไหนก็ตาม หากจะนั่งในเก้าอี้ดีดีการบินไทยต่อไปได้ ถ้าสนองความต้องการคนในรัฐบาล หรือนักการเมืองได้ ก็จะยืนหยัดอยู่ในการบินไทยได้ จึงไม่แปลกเลยว่าในช่วงที่ผ่านมีอดีตดีดีการบินไทย ที่สามารถปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดและรับใช้คนของนักการเมืองได้ตอบสนองความต้องการ สั่งหันซ้าย หันขวาได้ ก็จะยังคงนั่งในเก้าอี้ดีดี การบินไทยได้
หากย้อนไปในสมัยยุครัฐบาลก่อนที่มีการปฏิวัติ เหล่าบรรดานายหน้าค้าเครื่องบินพาณิชย์ที่ขายเครื่องบินให้กับการบินไทย ก็ต้องวิ่งเต้นกับ “ผู้กุมบังเหียนนักการเมือง” เธอ เป็นอดีตมือจ่ายเงินเดือนให้กับนักการเมืองทุกเดือนในมุ้งต่างๆ ของพรรคตนเอง
ดังนั้น ใครอยากวิ่งเต้นหรือให้มีการจัดซื้อเครื่องการบินไทย-เครื่องยนต์การบินไทย จึงไม่ใช่เรื่องยาก ถึงแม้การบินไทยจะมีแผนการจัดซื้อเครื่องบิน และมีขั้นตอนการอนุมัติตามขบวนการ และมีขั้นตอนการเลือกประเภท ของเครื่องยนต์เครื่องบินว่าจะใช้ประเภทใด จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เธอจะ สั่งการได้ ซึ่งในตอนนั้นเครื่องยนต์ของเครื่องบินในโลกนี้มี 3 บริษัทใหญ่ คือ 1. แพรต แอนด์ วิทนีย์ 2. โรลส์รอยซ์ 3. จีอี
ด้วยกลยุทธ์ที่มาเหนือเมฆ สอดคล้องกับนโยบายของโรลส์รอยซ์ โดนใจพ่อค้าคนกลางและนักการเมืองมากที่สุด เพราะยอมจ่ายค่าคอมมิชชันให้อย่างงาม เพียงแต่อดีตผู้บริหารการบินไทย ช่วยสานต่อกับคนในรัฐบาลชุดที่มีสิทธิ์อนุมัติให้มีการสั่งซื้อเครื่องบิน-เครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ ได้ ดังนั้นแผนการจัดซื้อจึงเดินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ให้มีการดำเนินการต่อไปในเรื่องการจัดซื้อ
ว่ากันว่า งานนี้ เป็นที่รู้กันว่า “เจ๊กะบังลม” ที่มีสไตล์การทำผม เป็นผู้ที่นักการเมืองทุกคน หากพูดถึงก็ร้องอ้อ…….เจ๊กระบังลม นี่เอง เป็นผู้อยู่เบื้องหลังให้มีการจัดซื้อเครื่องโรลส์รอยซ์
ด้วยการเดินเกมให้มีการวางแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่ เช่น ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นิวยอร์ก เพื่อให้มีการจัดซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์ในยุคนั้น ถึงแม้จะมีคนคัดค้านว่าหากมีการเปิดเส้นทางบินในเส้นทางนี้การบินไทยจะขาดทุนอย่างหนัก เพราะปริมาณผู้โดยสารและเครื่องบินที่นำมาใช้นั้นไม่เหมาะสม จะขาดทุนอย่างหนักและในที่สุดก็ขาดทุนจนเลิกบินไป
แต่เบื้องหลังนั้นคือผลักดันให้มีแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่ เพราะต้องการสั่งซื้อเครื่องบินและเครื่องยนต์เพื่อหวังคอมมิชชันและค่านายหน้า ก้อนงามนี่เอง
นี่เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้การบินไทยขาดทุนบักโกรก เพราะมีการทุจริตในการจัดซื้อเครื่องบิน-เครื่องยนต์ ผ่านระบบนายหน้า แถมเส้นทาง การบินก็ไม่เหมาะสม กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป จนต้องมีการปรับโครงสร้างการบินใหม่ เพื่อให้ฝ่าวิกฤตการขาดทุนไปได้