หัวข้อข่าว: แนวปฏิบัติที่ดีเพื่อ ‘ขับเคลื่อนประเทศ
ที่มา: คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต, กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 โดย ดร.บัณฑิต นิจถาวร
เมื่อสามอาทิตย์ก่อน ผมได้ไปประชุม Global Network of Director Institutes (GNDI) ซึ่งก็คือ เครือข่ายสถาบันกรรมการบริษัท ทั่วโลก เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการบริหารของเครือข่ายดังกล่าวและในฐานะ ซีซีโอของสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD GNDI ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 ปัจจุบันมีสมาชิก 19 ประเทศ เช่น สถาบันกรรมการบริษัทของ อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา ยุโรป บราซิล แอฟริกาใต้ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น วัตถุประสงค์ของเครือข่ายคือ สร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันกรรมการบริษัทที่เป็น สมาชิกในการทำหน้าที่พัฒนากรรมการ เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เกิดขึ้น ในภาคธุรกิจเพื่อประโยชน์ของสังคมและของประเทศ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดี โดยเฉพาะในประเด็นใหม่ๆ ที่สำคัญต่อการทำหน้าที่กรรมการ ปีนี้การประชุมจัดที่กรุงโจฮันเนสเบอร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ โดยสถาบันไอโอดี แอฟริกาใต้ (IODSA) เป็นเจ้าภาพ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ IODSA ประกาศ ใช้แนวปฏิบัติที่ดีฉบับที่ 4 หรือ King IV Report ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ทาง IODSA ต้องการให้มีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างกว้างขวาง โดยองค์กรต่างๆ ในประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในทุกส่วน ของประเทศ ซึ่งน่าสนใจมาก
สถาบันไอโอดีแอฟริกาใต้ ก่อตั้งมาแล้ว กว่า 50 ปี เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการ ที่ดี ผ่านการให้ความรู้และฝึกอบรมกรรมการบริษัท สถาบันไอโอดีแอฟริกาใต้ได้ออก แนวปฏิบัติเพื่อเป็นกรอบในการทำหน้าที่ของกรรมการตั้งแต่ปี 1994 โดยใช้ชื่อเอกสารแนวปฏิบัติว่า King Report ตามชื่อ ประธานคณะกรรมการยกร่างแนวปฏิบัติดังกล่าว คือ ศาสตราจารย์ เมอร์วิน คิงส์ (Mervyn King ) อดีตผู้พิพากษาศาลสูงสุด ของประเทศ หลังจากนั้น ตัวเอกสารก็มีการ ปรับปรุงมาตลอด เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการและแนวปฏิบัติใหม่ที่เกิดขึ้นในระดับสากล นำไปสู่รายงานฉบับที่สอง และฉบับที่สาม ตามลำดับ
ที่น่าชื่นชมก็คือ แนวปฏิบัติที่ดีนี้ เป็นผลงานของสถาบันไอโอดีแอฟริกาใต้ ที่ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของสังคมธุรกิจของประเทศ ไม่ได้นำแนวปฏิบัติที่ถูกพัฒนาขึ้นในทางสากล เช่น ของ OECD มาปฏิบัติใช้ แต่ได้พยายามพัฒนาแนวปฏิบัติของตนขึ้นมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่รายงานฉบับแรกจนถึงฉบับที่สี่ เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติที่จะส่งเสริมและแก้ไขปัญหา ธรรมาภิบาลที่ประเทศมีอยู่ เพื่อสร้างสังคมธุรกิจของประเทศที่เข้มแข็งและมีจริยธรรม
ประเทศแอฟริกาใต้ มีบางส่วนคล้ายประเทศไทย คือมีความท้าทายด้านธรรมาภิบาล มาก แต่ในแง่สังคม ประเทศแอฟริกาใต้ดูจะ มีปัญหามากกว่าจากปัญหาการเมืองและความ ไม่สมานฉันท์ของคนในประเทศ จากเรื่องผิว และการเข้าครอบครองเศรษฐกิจของประเทศ โดยคนผิวขาวตั้งแต่ในอดีต ทำให้คนแอฟริกา ส่วนใหญ่ยากจน ประเทศมีความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจสูง และคนผิวดำไม่ได้มีสิทธิ มีเสียงเหมือนเช่นพลเมืองเจ้าของประเทศทั่วไป
จนกระทั่งการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ปี 1996 ที่ให้คนผิวดำและคนผิวขาว มีสิทธิทางการเมืองเท่าเทียมกัน และได้ นายเนลสัน มาเดลล่า มาเป็นประธานาธิบดี ปัจจุบันประเทศมีการปกครองในระบบประชาธิปไตย ประชาชนทั้งผิวขาวและผิวดำ มีสิทธิลงคะแนนเสียงเท่าเทียมกัน และปัจจุบันมีผู้นำผิวดำ คือ นายจาค็อบ ซูมา (Jacob Zuma) เป็นประธานาธิบดี
ในช่วงที่อยู่ที่แอฟริกาใต้ระหว่างการประชุม ข่าวใหญ่ ก็คือ การออกรายงานของ นางทูลิ มาดอนเชล่า (Thuli Madonsela) ผู้ปกป้องประโยชน์สาธารณะ (Public Protector) ซึ่งเป็นหนึ่งในหกสถาบัน ที่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยรัฐธรรมนูญปี 1996 เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลการทำหน้าที่ ของรัฐ รายงานดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า เครือข่าย นักธุรกิจ และคนใกล้ชิดประธานาธิบดีซูมา ได้ทุจริตคอร์รัปชันเพื่อหาประโยชน์ผ่านการ แต่งตั้งผู้เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนเกิดกระแสภายในประเทศที่ต้องการให้ประธานาธิบดีซูมาพ้นจากตำแหน่ง
ปัจจุบันการทุจริตคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญของแอฟริกาใต้ การจัดอันดับภาพลักษณ์ คอร์รัปชันโดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ให้แอฟริกาใต้อยู่ในอันดับที่ 61 ถือเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหาคอร์รัปชัน รุนแรง ที่การแก้ไขต้องเริ่มจากการทำหน้าที่อย่างรับผิดชอบของผู้อยู่ในตำแหน่ง โดยเฉพาะ ผู้นำองค์กร ที่ต้องเป็นตัวอย่างของการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง
ในบริบทของปัญหาของประเทศเหล่านี้ เป้าประสงค์ของรายงาน ของ King IV Report ก็คือ สร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้น อย่างกว้างขวางในประเทศแอฟริกาใต้ โดยมุ่งไปที่การทำหน้าที่ของผู้นำองค์กรที่ต้องขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์ คือให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของคนในองค์กร ไม่ใช่มองธรรมาภิบาลแค่เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ หรือ เป็น compliance issue แต่เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดผลลัพธ์ คือเกิดพฤติกรรมความประพฤติที่ต้องการ ผ่านหลักการสำคัญสามข้อ ที่รายงานฉบับที่ 4 ให้ความสำคัญ
ข้อแรก คือความรับผิดรับชอบของ คณะผู้นำขององค์กร (Governing body) เช่น คณะกรรมการบริษัท ในกรณีของบริษัทเอกชน ที่ต้องขับเคลื่อนให้องค์กร มีวัฒนธรรมด้านจริยธรรมที่เข้มแข็ง มีผล ประกอบการที่ดี มีระบบการควบคุมภายใน ที่มีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบ ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สอง คณะผู้นำขององค์กรต้องแสดง ภาวะผู้นำที่มีจริยธรรม (Ethical Leadership)และมีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่และมีความรับผิดรับชอบต่อผลที่เกิดขึ้น
สาม คณะผู้นำต้องขับเคลื่อนให้องค์กร หรือบริษัทเป็นพลเมืองดีที่มีความรับผิดชอบ (Responsible citizen)ในสังคมธุรกิจของประเทศ สามหลักการนี้ถือเป็นหัวใจของแนวปฏิบัติฉบับที่สี่ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม ผ่านการทำหน้าที่ของผู้นำองค์กรในทุกระดับ ที่มีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม
จากการประชุมสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะเป็น นักธุรกิจ นักการเมือง ข้าราชการ และภาค ประชาสังคม ต่างสนับสนุนแนวคิดนี้และ ต้องการให้มีการนำแนวปฏิบัติของรายงานฉบับที่สี่ไปปฏิบัติใช้ในทุกองค์กรทั้งรัฐและเอกชน เพื่อให้แอฟริกาใต้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เรียกร้องให้ผู้นำองค์กรทุกระดับ ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่อประโยชน์ขององค์กรและเพื่ออนาคตของประเทศ ผมนั่งฟังการสัมมนาตั้งแต่ต้นจนจบ ทั้งวัน ฟังแล้วรู้สึกประทับใจและทึ่งในความ ตั้งใจและในพลังขับเคลื่อนของคนในระดับนำ ของสังคมของประเทศแอฟริกาใต้ขณะนี้
และสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ ทำให้นึกถึงประเทศไทยว่า เรามีการบ้านที่ต้องทำ อีกมาก
‘สิ่งที่พวกเขา กำลังทำอยู่ ทำให้นึกถึง ประเทศไทยว่า เรามีการบ้าน ที่ต้องทำอีกมาก’