แนะเพิ่มความโปร่งใส-เปิดข้อมูล ดึงประชาชนร่วมแก้คอร์รัปชัน

หัวข้อข่าว: แนะเพิ่มความโปร่งใส-เปิดข้อมูล ดึงประชาชนร่วมแก้คอร์รัปชัน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

 

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วิเคราะห์ “ปัญหาและทางออกกรณีดัชนีการรับรู้ด้านคอร์รัปชัน (CPI) ของไทย” โดยระบุสาเหตุดัชนีคอร์รัปชันไทยตกต่ำ เนื่องมีการเพิ่มประเมินตัวชี้ เรื่องประชาธิปไตย แนะรัฐบาลเร่งแก้ไข 6 ด้าน ดังนี้

 

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าการเปิดเผยดัชนีการรับรู้ ด้านคอร์รัปชัน หรือ CPI ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก โดยมีคะแนนลดลงจาก 38 คะแนนในปี 2558 มาอยู่ที่ 35 คะแนน จึงเกิดคำถามว่าเกิดปัญหาอะไรในการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทยจึงทำให้อันดับลดลง

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาดัชนีในด้านต่างๆ ซึ่งประเทศไทยถูกประเมินโดยตัวชี้วัด 9 ตัว คะแนนที่ไทยได้รับการประเมินต่ำมาก จนฉุดคะแนนด้านอื่นๆ มีอยู่ 2 ส่วนคือคะแนน คะแนนในเรื่องของ Global Index ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประเมินความโปร่งใสด้านศุลกากร และการทำสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชนในโครงการที่ให้เอกชนลงทุนในโครงการของรัฐ (PPP) ซึ่งใช้ข้อมูลของปี 2558 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวก็ควรไปดูว่าในปี 2558 เกิดเหตุการณ์อะไรในปีดังกล่าวที่ทำให้คะแนนในส่วนนี้ลดลง  ส่วนคะแนนอีกส่วนคือในด้าน ความหลากหลายทางประชาธิปไตย (VDEM) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่นำเข้ามาประเมินในปีแรก ซึ่งคะแนนในส่วนนี้ไทยได้คะแนนเพียง 25 คะแนน โดยหากไม่รวมคะแนนที่ ประเมินในส่วนนี้ประเทศไทยจะได้ 36 คะแนนและได้อันดับประมาณที่ 95 ไม่ใช่ตกไปอยู่ที่อันดับที่ 101 เหมือนที่ประกาศออกมา

 

อย่างไรก็ตาม แม้โดยรวมการประเมิน CPI ในปีนี้จะมีการเพิ่มตัวชี้วัดเข้ามา และมีการใช้ข้อมูลของปี 2558 มาร่วม ประเมิน ซึ่งทำให้วิเคราะห์ได้ว่าในความ เป็นจริงแล้วสถานการณ์คอร์รัปชัน ของไทยไม่ได้แย่ลงตามที่มีการประเมินของหน่วยงานภายนอก แต่โดยรวมแล้วสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยก็ไม่ได้ดีขึ้น โดยคะแนนรวมก็ยังอยู่ที่ 35 ยังไม่ได้เพิ่มขึ้นไปสูงกว่าระดับ 40 คะแนน

 

จากการศึกษาพบว่าประเทศที่มีคะแนน CPI ต่ำกว่า40คะแนนจะ ไม่สามารถยกระดับประเทศไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีหลายประเทศที่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้และสามารถยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาได้ นอกจากนั้นจากการประเมินใน ปีที่ผ่านมาการนำดัชนี VDEM มาใช้ก็สะท้อนว่าหน่วยงานประเมินให้น้ำหนัก ของการลดปัญหาคอร์รัปชั่นและ การเป็นประประชาธิปไตยเชื่อมโยงกัน มากขึ้นเห็นได้จากคะแนนของเมียนมา ที่มีคะแนนดีขึ้นมากหลังการเข้ามา รับตำแหน่งของอองซาน ซูจี และการ ประกาศนโยบายต่อต้านคอร์รัปชัน อย่างจริงจังและที่ผ่านมาแทบไม่มี ประเทศไหนที่มีความโปร่งใสได้โดย ไม่เป็นประชาธิปไตย ยกเว้นสิงคโปร์ ที่มีคะแนน CPI เนื่องจากผู้นำเอาจริงเอาจัง ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน

 

นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอได้ให้ข้อเสนอแนะเรื่องการเพิ่มคะแนนในดัชนีความโปร่งใสของประเทศไทย 6 ข้อ ได้แก่

 

1.การเพิ่มความโปร่งใส ลดการคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้างภาครัฐ โดยใช้การตรวจสอบด้วยกระบวนตรวจสอบ ความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) เพื่อจะเพิ่มสัดส่วนของภาคส่วนที่เข้ามาตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งควรขยายจากโครงการที่อยู่ใน PPP ไปสู่โครงการขนาดใหญ่อื่นๆ

 

2.รัฐบาลไทยควรสร้างความโปร่งใสในการเปิดให้มีการใช้ทรัพยากรของรัฐ โดยการประมูล หรือการให้สัมปทาน โดยรัฐควรเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กรความโปร่งใสในอุตสาหกรรมสกัดทรัพยากรธรรมชาติสากล (EITI) เพื่อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลตามแบบสากล

 

3.เพิ่มการเปิดเผยข้อมูล (Open Data)ในส่วนที่เป็นสาธารณะในการบริหารงานภาครัฐ และข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ ให้ประชาชนร่วมตรวจสอบได้

 

4.เร่งรัดการตัดลดกฎหมายที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัย (Regulatory Guillotine)ซึ่งประเทศไทยมีกฎหมายมากนับ แสนฉบับที่สามารถตัดลดลงได้ ซึ่งโครงการนี้ รัฐบาลได้รับเรื่องเอาไว้แล้วแต่ยังขาดเจตจำนงทางการเมืองในการทำเรื่องนี้ ให้เกิดขึ้นจริง

 

5.การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบคอร์รัปชัน และกลับเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว ตามโรดแมพ

 

6.ดำเนินการเอาคนผิดเรื่องคอร์รัปชันมาลงโทษ โดยไม่ต้องเกรงใจคนรอบข้าง และเร่งรัดคดีสำคัญที่สาธารณะให้ความสนใจ เช่น คดีของโรลส์-รอยซ์ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานขนาดใหญ่ เพื่อส่งสัญญาณ ให้เห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะ แก้ปัญหาคอร์รัปชัน

 

ทั้งนี้ นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่าไม่เห็นด้วย กับการลดโทษให้กับคนที่จ่ายสินบนเพื่อ แลกกับผลประโยชน์ของรัฐทั้งที่เป็น สัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพราะเรื่องนี้ผู้ให้มีความจงใจที่จะจ่ายเงิน เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่ตนจะได้แล้วทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งต่างจากการจ่าย สินบนอีกประเภทที่ซื้อการอำนวย ความสะดวกจากภาครัฐซึ่งในส่วนนั้น มีความเสียหายต่อรัฐน้อยกว่าและ สามารถเอาผิดเฉพาะผู้รับสินบนที่เป็น เจ้าหน้าที่รัฐได้

 

และ 7.รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องสายสัมพันธ์กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลดึงเข้ามาช่วยงานของรัฐบาล ในการทำประชารัฐ ซึ่งประชารัฐนั้นถือว่า เป็นสิ่งทีดีที่สร้างความร่วมมือระหว่าง รัฐ เอกชน และประชาชน แต่สิ่งที่ต้องระวังคืออย่าให้มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ ที่รัฐมีกับกลุ่มทุนต่างๆ ไปสู่การให้สิทธิประโยชน์พิเศษซึ่งจะสร้างความไม่สบายใจให้กับสังคม เช่น กรณีที่กลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาลได้งานของรัฐก็ควรมีการชี้แจงว่าขั้นตอนและสัญญาต่างๆมีความโปร่งใสเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด

 

“ในเรื่องของการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ภาพลักษณ์กับข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่ แยกกันไม่ออก ยิ่งการประเมินถูกเชื่อมโยงเข้ากับการเป็นประชาธิปไตย ทำให้คะแนนในเรื่องนี้ของไทยต่ำและถ่วงคะแนน ส่วนอื่นๆ จนอันดับเราลดลง ซึ่งองค์กร ความโปร่งใสสากลก็อธิบายว่าไทย มีปัญหาเรื่องของการตรวจสอบอำนาจรัฐ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งต้องมีการแก้ไขเรื่องนี้ให้ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น เพราะลำพังแค่การใช้อำนาจรัฐไม่สามารถทำให้อันดับคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นได้” นายสมเกียรติ กล่าว

 

และที่ผ่านมารัฐทำมาหลายเรื่องแล้ว ซึ่งเป็นเรื่อง Quick Win ในการแก้ปัญหา การทุจริตแต่ระยะต่อไปต้องใช้ความมุ่งมั่น ทางการเมืองในการทำเรื่องใหญ่และแก้ปัญหา อย่างต่อเนื่องควบคู่การเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นเกณฑ์สากลที่นานาชาติใช้