โพลล์ชื่นชอบ’ใบดำ’กกต.ฝังคนทุจริตสดศรีจี้วางกฎเกณฑ์ให้ชัด ‘หมอวรงค์’ตามบี้พาณิชย์ลงนามเรียกค่าเสียหายข้าว’เหวง’ตอกลิ่มชี้ผิดกฎหมาย

หัวข้อข่าว โพลล์ชื่นชอบใบดำกกต.ฝังคนทุจริตสดศรีจี้วางกฎเกณฑ์ให้ชัด หมอวรงค์ตามบี้พาณิชย์ลงนามเรียกค่าเสียหายข้าวเหวงตอกลิ่มชี้ผิดกฎหมาย

ที่มา; แนวหน้า ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

 

จากกรณีที่ กกต. เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ฉบับปรับปรุงตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ โดยมีการบัญญัติการลงโทษรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีการแบ่งโทษความผิดไว้ 4 ระดับ คือ ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง และใบดำ เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรณีดังกล่าว “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน ทั้งสิ้น 1,143 คน ระหว่างวันที่ 13-16 กันยายน 2559 สรุปผลได้ ดังนี้
1.ประชาชนคิดอย่างไร? กับการ ที่ กกต. บัญญัติการลงโทษตามความผิด 4 ระดับ คือ ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง และใบดำ เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง
อันดับ 1 เป็นมาตรการที่ดี น่าจะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตให้ลดลงได้ 74.80% อันดับ 2 ผู้สมัครทุกคนต้อง ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ อย่างเคร่งครัด มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี 69.29% อันดับ 3 ทาง กกต.ควรชี้แจงทำความ เข้าใจกับผู้สมัครให้ชัดเจน 62.99% อันดับ 4 ควรหาวิธีอื่น หรือมี 2 ใบเหมือนเดิม แต่ต้องครอบคลุมทุกการ กระทำผิด 54.07% อันดับ 5 กังวลว่า จะไม่เป็นธรรม อำนาจในการพิจารณา ตัดสินใจขึ้นอยู่กับกกต.ฝ่ายเดียว 53.81%
2.ประชาชนเห็นด้วยกับวิธีการลงโทษตามที่ กกต. เสนอหรือไม่?
(2.1) ใบเหลือง แจกให้ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง อันดับ 1 เห็นด้วย 81.10% เพราะเป็นขั้นตอนแรกในการป้องกันการทุจริต ไม่ให้ผู้กระทำผิดได้ลงสมัคร ช่วยคัดกรองได้ในระดับหนึ่ง ฯลฯ อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 11.55% เพราะการพิจารณาตัดสินต้อง ใช้ระยะเวลา ต้องมีความละเอียดรอบคอบ ปัญหาการทุจริตแก้ไขได้ยาก ฯลฯ อันดับ 3 ไม่เห็นด้วย 7.35% เพราะ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณกระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ไม่พอใจ ฯลฯ
(2.2) ใบส้ม แจกให้หลังวันเลือกตั้ง อันดับ 1 เห็นด้วย 79.79% เพราะ ผู้สมัครมีความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้น เป็นแบบอย่างให้กับ ผู้อื่นถ้ามีหลักฐานชัดเจนควรตัดสิทธิ์ทันที ฯลฯ อันดับ 2 ไม่เห็นด้วย 10.76% เพราะควรมีเพียง 2 ใบการมีหลายใบทำให้เกิดความซ้ำซ้อน อาจเป็นการใช้อำนาจมากเกินไป ฯลฯ อันดับ 3 ไม่แน่ใจ 9.45% เพราะยังไม่เคยมีมาก่อน ยังไม่แน่ใจว่าผลที่ตามมา จะเป็นอย่างไร ไม่ทราบรายละเอียดชัดเจน ฯลฯ
(2.3) ใบแดง แจกให้หลังประกาศผลเลือกตั้ง อันดับ 1 เห็นด้วย 76.90% เพราะเป็นการลงโทษที่รุนแรง จะได้คัดคนไม่ดีออกไป ผู้กระทำผิดจะได้เกรงกลัว ช่วยป้องกันการทุจริตได้ ฯลฯ อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 14.70% เพราะปัญหา การทุจริตไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวันเลือกตั้ง ต้องพิจารณารายละเอียดการกระทำผิดให้ชัดเจนก่อน ยังไม่รู้รายละเอียดของการให้ใบแดง ฯลฯ อันดับ 3 ไม่เห็นด้วย 8.40% เพราะควรให้เป็นหน้าที่ของศาล และให้กฎหมายตัดสิน กกต.อาจพิจารณาได้ล่าช้า หากมีการกระทำผิดก็ควรตัดสินตั้งแต่วันเลือกตั้ง การเลือกตั้งใหม่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ฯลฯ
(2.4) ใบดำ แจกให้กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง อันดับ 1 เห็นด้วย 87.40% เพราะเป็นการลงโทษขั้นเด็ดขาด เป็นการขุดรากถอนโคน บทลงโทษรุนแรง เหมาะสมดี จะได้เกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด ทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใส มากขึ้น ฯลฯ อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 8.92% เพราะ ควรพิจารณาเป็นรายกรณี ที่ผ่านมามีการวิพากษ์วิจารณ์การตัดสิน ของ กกต.บ่อยครั้ง ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหา การทุจริตได้ ฯลฯ อันดับ 3 ไม่เห็นด้วย 3.68% เพราะควรลงโทษ ด้วยวิธีการอื่น บทลงโทษหนักเกินไป ขั้นตอนการพิจารณาความผิดอาจไม่โปร่งใส ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน อาจตัดสินคนผิดได้ ฯลฯ
3.ประชาชนคิดว่าวิธีการตามที่ กกต. เสนอ จะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งได้หรือไม่? อันดับ 1 ช่วยได้ 68.50% เพราะเป็นการป้องกันการทุจริต น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ลดลงได้ในระดับหนึ่ง เป็นบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ผู้ที่คิดจะทุจริตเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด ฯลฯ
อันดับ 2 ไม่แน่ใจ 22.83% เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะมีมาตรการ ป้องกัน แต่ก็ยังมีการทุจริต การเลือกตั้ง เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ยังไม่รู้รายละเอียดว่ามีขั้นตอนการพิจารณาตัดสินอย่างไร ฯลฯ อันดับ 3 ช่วยไม่ได้ 8.67% เพราะเป็นปัญหาที่มีมานาน แก้ไขได้ยาก กกต.อาจดูแลไม่ทั่วถึง เกิดความยุ่งยาก ควรแก้ที่ต้นเหตุ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของนักการเมือง ฯลฯ
สดศรีชี้สเปก’ใบดำ’ต้องชัด นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. กล่าวถึงโทษเพิกถอนสิทธิรับสมัคร เลือกตั้งหรือ “ใบดำ” ว่า เจตนาของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในการเขียนโทษใบดำไว้ในมาตรา 98 (11) ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ เพื่อต้องการเพิกถอนสิทธิรับสมัคร เลือกตั้งตลอดชีวิตสำหรับผู้ที่เคยต้อง คำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตเลือกตั้ง
แต่มาตราดังกล่าวถือว่ายังไม่มีความชัดเจนเพราะเขียนไว้กว้างเกินไป กรธ.ควรระบุให้ชัดว่าฐานความผิดอย่างไรจึงจะเข้าข่ายโทษใบดำนี้เนื่องจาก เมื่อเป็นโทษเกี่ยวกับการเลือกตั้งและเป็นเรื่องคุณสมบัติการลงสมัครเลือกตั้ง กกต.ก็จำเป็นที่ต้องเขียนไว้ในกฎหมายลูก ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะกกต.เองก็ต้องทำหน้าที่รับสมัคร หากโทษความผิดยังไม่ชัดเจนแล้วไปตัดสิทธิผู้สมัครก็อาจทำให้เกิดการส่งฟ้องศาลฎีกาเพื่อให้วินิจฉัย รวมทั้งเมื่อเวลาส่งสำนวนคดีทุจริตเลือกตั้งไปให้ศาลพิจารณาก็ต้องมีบทบัญญัติในการระบุฐานความผิดและบทลงโทษได้ หากไม่ชัดเจนจะทำให้เกิดความยุ่งยากและอาจเป็นสิ่งที่ทำให้กกต.โดนเล่นงานในภายหลัง ดังนั้น ถ้าต้องการโทษใบดำจริงๆ ก็ต้องเขียนให้ชัดจำแนกโทษใบดำออกมาเป็นเรื่องๆ

 

จี้พาณิชย์เร่งเรียกค่าเสียหายข้าว อีกประเด็นหนึ่ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตสส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ มอบหมายให้น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในหนังสือบังคับทางปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการขายข้าวในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับนักการเมืองและข้าราชการ 6 ราย มูลค่าความเสียหาย 20,000 ล้านบาท ว่า ตนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับรมว.พาณิชย์ และปลัดกระทรวงพาณิชย์ แต่เท่าที่ติดตามดูการทำงานของนางอภิรดี ที่นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจมาตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ให้ดำเนินการคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว แต่กลับให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามแทน ทั้งนี้ เท่าที่ตนติดตามการที่ปลัดกระทรวงฯเคยเป็นพยานให้ปากคำคดีการระบายข้าวแบบจีทูจี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สาระที่ปลัดกระทรวงฯให้ปากคำชัดเจนถือว่าเห็นภาพชัดเจน และจะเกษียณ อายุราชการสิ้นเดือนนี้ นี่คือบทสรุปของสุภาพสตรี 2 คน แห่งกระทรวงพาณิชย์
ดังนั้น ตนจึงหวังว่ารมว.พาณิชย์จะลงนามให้เรียบร้อย เพราะยิ่งช้าจะยิ่งเสีย ส่วนปลัดกระทรวงพาณิชย์นั้น ประชาชนชาวไทยชื่นชมภาวะผู้นำ และเชื่อว่าคนไทยต้องการคนอย่างนี้มาช่วยทำงานให้ประเทศ
เหวงประชดยึดทรัพย์ไปเลย

 

ในประเด็นดังกล่าวนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า รมว.พาณิชย์ ยัง ไม่กล้าลงนามเอง แต่มอบอำนาจการ ลงนามให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ที่มี เวลาทำงานเหลือไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็จะเกษียณอายุราชการแล้วจะยอมลงนามแทนหรือไม่ ตนคิดว่าใครจะไปยอมทำเรื่องที่เสื่อมเสียเกียรติภูมิของตัวเอง และวงศ์ตระกูลในเวลาที่เหลือไม่ถึง 2 สัปดาห์นี้
อีกทั้งมีข่าวว่า น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ว่าที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ กล่าวกับคนใกล้ชิดว่าหลังเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงพาณิชย์ ถ้าถูกบังคับให้ลงนามเรียกค่าเสียหาย ดังกล่าว อาจถอดใจลาออก นี่ย่อมยืนยันว่าข้าราชการประจำของกระทรวงพาณิชย์คงรู้ว่าเรื่องนี้ไม่เข้าข่ายที่จะทำได้ตามกฎหมาย เพราะรมว.พาณิชย์ยังไม่ยอมทำเอง

 

“ถ้าคสช.ประสงค์จะเอาให้สาแก่ใจจริงๆ ก็เดินหน้าใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ประกาศยึดทรัพย์น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปเลย แต่ยึดทรัพย์ไปแล้ว ประชาชนไทยเขาจะตอบรับอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”นพ.เหวง กล่าว
เปิดยอดทุจริตปี’59เฉียด6พันเรื่อง
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปราม การทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวว่า สำหรับการตรวจสอบคดีทุจริตอื่น ป.ป.ท.ยังคงดำเนินการ ตามปกติ ไม่ได้หยุดชะงักลง โดยมีผล การดำเนินงานปราบปรามการทุจริตของ ป.ป.ท.ตั้งแต่ปีงบประมาณ’55-59 มีจำนวน เรื่องร้องเรียนการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ดังนี้
ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 3,604 เรื่อง ปี 2556 จำนวน 4,513 เรื่อง ปี 2557 จำนวน 3,460 เรื่อง ปี 2558 จำนวน 4,310 และข้อมูลล่าสุดปี 2559 (ณ วันที่ 31 สิงหาคม) มีเรื่องร้องเรียนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ 5,974 เรื่อง บอร์ดป.ป.ท.ไต่สวนชี้มูลความผิดแล้ว 543 คดี เป็นความผิดอาญาและวินัย 265 คดี ส่งสำนักงานป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 97 คดี ส่งพนักงานสอบสวน 16 คดี สั่งยุติเรื่อง 139 คดี และไม่มีความผิดอาญาและวินัย 26 คดี โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว 15 คดี นอกจากนี้ อยู่ระหว่างส่งอัยการ 37 คดี ส่งอัยการเรียบร้อยแล้ว 228 คดี ทั้งนี้ ย้ำว่าป.ป.ท.มีความพยายามสะสางคดีไม่ให้คั่งค้างการพิจารณา

 

เฉพาะคดีข้าว850สำนวน และขณะนี้ป.ป.ท.ได้รับการ ร้องเรียนให้ตรวจสอบการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวกว่า 850 สำนวน ซึ่งเป็นการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ระดับ เจ้าหน้าที่คลังสินค้า ซึ่งอยู่ในอำนาจการไต่สวนของป.ป.ท.
ทั้งนี้ หากมอบหมายให้ป.ป.ท. เขตพื้นที่ต่างๆ สืบสวนสอบสวนอาจ ใช้เวลายาวนาน 1-2 ปี ซึ่งจะส่งผล ให้สำนวนคดีค้างการพิจารณาเป็นจำนวนมาก ตนจึงได้หารือร่วมกับคณะกรรมการป.ป.ท. ซึ่งเห็นชอบในแนวทางให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นไต่สวนคดี และระดมกำลังเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนทั้งหมดของป.ป.ท.มาทำคดีทุจริตจำนำข้าว โดยเริ่มสืบสวนสอบสวนภายในเดือนต.ค.นี้ ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายในเวลา 5-6 เดือน ทั้งนี้ คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว มี พฤติการณ์ในการกระทำความผิดคล้ายคลึงกันห้วงเวลาก็ใกล้เคียงกัน ดังนั้น เพื่อความ รวดเร็ว ป.ป.ท.จะจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน และแนวทางการตรวจสอบให้ทุกเขตพื้นที่ สืบสวนสอบสวนไปในแนวทางเดียวกันภายในเดือนเม.ย. 2560 น่าจะสามารถสรุป สำนวนเสนอคณะกรรมการป.ป.ท.ไต่สวนเพื่อชี้มูลความผิดในคดีอาญาได้