12เจ้าหนี้ยื่นศาลล้มละลายกลางคัดค้านแผนฟื้นฟู’เจียเม้ง’

หัวข้อข่าว: 12เจ้าหนี้ยื่นศาลล้มละลายกลางคัดค้านแผนฟื้นฟูเจียเม้ง

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 

          12 เจ้าหนี้ยื่นค้าน “เจียเม้ง” ฟื้นฟูกิจการ หวั่นได้รับชำระหนี้ 4 พันล้านล่าช้า-ไม่เต็มจำนวน ด้าน “ประพิศ” เปิดใจล้มละลาย เหตุติดบ่วงโครงการจำนำสมัยยิ่งลักษณ์ทุกเม็ด เผย “กรมการค้าต่างประเทศ” ร่วมเป็น 1 ใน 12 เจ้าหนี้ยื่นค้าน

 

          ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 ที่ศาลล้มละลายกลาง ได้ไต่สวนคำร้องคดีดำ ฟ.17/2559 ตามที่ บริษัท เจียเม้ง จำกัด ได้ยื่นขอ ฟื้นฟูกิจการตนเองตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2484 ไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 จากมูลค่าหนี้รวม 4,480 ล้านบาท แยกเป็น หนี้สถาบันการเงิน 7 แห่ง มูลค่า 3,480.5 ล้านบาท และอีก 996.3 ล้านบาท เป็นหนี้ เจ้าหนี้การค้า และหน่วยงานราชการ

 

          ปรากฏว่ามีผู้ยื่นคัดค้านการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด 12 ราย (ตามตาราง) ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเจ้าหนี้การค้า และมีกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานราชการเพียงหนึ่งเดียวที่มายื่นค้าน ส่วนสถาบันการเงิน มีเพียง 2 รายที่ยื่นค้าน คือ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หลังจากนี้ศาลล้มละลายกลางจะนัดสืบพยานทั้งหมด 22 คน ในระหว่างวันที่ 24-26 มกราคม 2560

 

          ด้านนายมาโนชญ์ โสภณัตถกิจ หนึ่งในผู้คัดค้าน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเจียเม้งมีมูลหนี้ติดค้างอยู่ประมาณ 16 ล้านบาทเศษ นับตั้งแต่ปี 2558 โดยก่อนหน้านี้จนถึงวันที่นัดไต่สวน ทางบริษัทเจียเม้งได้มีการเจรจา และขอให้ยอมรับแผนการฟื้นฟู เพื่อให้ดำเนินกระบวนการชำระหนี้ได้เร็วขึ้น แต่ทางตนไม่มั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหรือไม่ และจะใช้ระยะเวลานานเพียงใดจึงจะได้เงินคืนทั้งหมด จึงได้ยื่นคัดค้านเพื่อขอให้ศาลพิจารณา

 

          สอดคล้องกับความเห็นของ นายประพัฒน์ แสงเจริญวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิยวัฒน์ ค้าข้าว จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มูลค่า 10 ล้านบาท

 

          “ผู้คัดค้านการฟื้นฟูยังมองว่า หากเจ้าหนี้ ไม่ถึง 2 ใน 3 ของมูลค่าหนี้ค้านไม่สำเร็จ ศาลจะมีคำสั่งให้ดำเนินตามแผนการฟื้นฟูกิจการ แต่ยังไม่ทราบถึงแนวทางของแผนฟื้นฟู และไม่มั่นใจว่าจะได้รับชำระหนี้ครบตามจำนวนหรือไม่ และล่าช้าเพียงใด”

 

          ภายในวันเดียวกันนี้ นางประพิศ มานะ ธัญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้ง เดินทางมาศาล เพื่อร่วมไต่สวนด้วย ตนเอง พร้อมด้วยทนายความ ได้เปิดเผย กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีนี้ ทางบริษัทยังประกอบธุรกิจส่งออกและผลิตข้าวถุงอยู่ แต่มีเรื่องสะดุดอยู่บ้างและการผลิตลดลงจากช่วงที่ผ่านมา

 

          สาเหตุสำคัญที่นำมาถึงจุดนี้ เกิดจากผลกระทบกรณีที่บริษัทเข้าไปทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งมีความผกผันและมีปัญหาจากที่ไม่เคยทำมาก่อน แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนั้นเป็นแรงผลักดันให้ต้องทำธุรกิจลักษณะนั้น เพราะรัฐบาลช่วงนั้นดำเนินโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการค้าข้าวจึงต้องซื้อ ข้าวจากรัฐบาล นอกจากนี้ในส่วนที่บริษัทเข้าร่วมโครงการข้าวถุงขององค์การคลังสินค้า (อคส.) 5 กิโลกรัม จำหน่ายให้ร้านถูกใจ แต่ภายหลังจากถูกสั่งให้ยุติโครงการกลางคัน ยังมีปัญหาเรื่องถุงบรรจุข้าว ที่พิมพ์ไว้ยังเหลือค้างอยู่จนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถเคลียร์ได้ ทำให้เงินจมอยู่ ส่วนนี้ไม่น้อย

 

          นางประพิศกล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่า บริษัทและตนมีส่วนร่วมสนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ในสมัยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า หลังจากสอบพยานโจทก์ไปแล้ว จะเริ่มสอบพยานจำเลยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งทางบริษัทมีกำหนดจะเข้าไปให้ข้อมูลเดือนธันวาคม 2559

 

          “เชื่อว่าคงมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะพอสมควร จากคำให้การของคนที่เกี่ยวข้อง เพราะคนทำผิดที่ไม่ถูกดำเนินการ ก็ยังมี คนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ถูกกระทำก็มี ต้องอาศัยดุลพินิจจะว่าอย่างไร ซึ่งจากการที่ฟังคำให้การพยานโจทก์ทำให้เราเข้าใจ เหตุการณ์ภาพรวมมากขึ้น ซึ่งเรา ยืนยันว่าทำตามพื้นฐานการค้าขายปกติ ที่ซื้อผ่านกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ข้าว แต่ไม่รู้ว่าข้าวนี้มาจากไหน” นางประพิศกล่าว