หัวข้อข่าว: คลังสั่งสอบทุจริตเชฟรอน ตั้ง ‘ประภาส‘ ประธาน ส่งกฤษฎีกาตีความภาษี
ที่มา: ข่าวหุ้น ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
“อภิศักดิ์” ตั้ง ”ประภาศ คงเอียด” ประธานสอบข้อเท็จจริงกรณีภาษีเชฟรอน แทน ”ปลัดคลัง” พร้อมส่งกฤษฎีกาตีความกรณีส่งน้ำมันไปแท่นขุดเจาะห่างจากชายฝั่ง 60 ไมล์ทะเลขึ้นไปถือเป็นส่งออกหรือขายในประเทศ ก่อนสรุปเรียกคืนภาษี เอาผิดบิ๊กคลังตามหนังสือสตง.
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้ดำเนินการ1.สั่งการให้กรมสรรพากรและกรมสรรพสามิตเรียกเก็บภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย นอกจากนี้ ให้เรียกเงินภาษีอากรที่มีการคืนให้บริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ไปแล้วกลับคืนเป็นรายได้แผ่นดิน และ2.ให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัยข้าราชการด้วยว่ากรณีที่ สตง.สั่งให้เรียกภาษีคืนนั้น การเรียกภาษีคืนถ้าเป็นที่แน่ชัดแล้ว กระทรวงการคลังต้องเรียกคืนภาษีอยู่แล้ว
แต่ปัจจุบันความแน่ชัดยังไม่ปรากฏ เพราะหน่วยงานหนึ่งให้เสียภาษี และอีกหน่วยงานไม่ต้องเสียภาษี เพราะฉะนั้นต้องทำให้เกิดความชัดเจนก่อน ซึ่งขั้นตอนทางราชการต้องทำให้เกิดความรอบคอบ ให้แน่ใจว่าอะไรถูกอะไรผิด ใครถูกใครผิด
ส่วนกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ดำเนินโทษทางแพ่งและอาญากับข้าราชการที่เกี่ยวข้องนั้น ส่วนตัวมองว่า ถ้าเจ้าหน้าที่กระทำผิดกระบวนการลงโทษก็ต้องเดินหน้าอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ผิดการจะไปลงโทษก็คงทำไม่ได้ ก่อนอื่นต้องทำให้แน่ชัดว่าบุคคลนั้นทำผิดจริงและตามขั้นตอนขณะนี้ ตนได้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว
โดยมอบหมายให้ นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีอำนาจสอบข้อเท็จจริงและมีอำนาจเซ็นรับรองผลการสอบข้อเท็จจริงและทำหน้าที่แทนนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง สำหรับแนวทางการสอบข้อเท็จจริงนั้น ต้องดูว่าใครทำอะไร เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างไร
“กฤษฎีกาก็ไม่อยากจะตีความ โดยบอกว่าให้กลับไปตกลงกันเอง ส่วนตัวมองว่าการจะให้ไปคุยกันเองก็คงจะทำไม่ได้ เพราะถ้าคุยกันเองแล้วจะไม่ได้ข้อสรุป“
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูผลการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนว่ากรณีบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัดส่งน้ำมันเชื้อเพลิงจากท่าเรือบริษัท สตาร์ ปิโตเลียม จังหวัดระยอง ไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมันซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 60 ไมล์ทะเลขึ้นไป เพื่อนำไปใช้กับเครื่องจักรต่างๆ อันเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทในเครือนั้น ถือเป็นการส่งออก หรือเป็นการขายชายฝั่ง ซึ่งจะมีผลต่อการเรียกเก็บภาษีของสรรพากรและสรรพสามิต รวมทั้งการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว
ก่อนหน้านี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลด้านเศรษฐกิจ เผยว่า ผู้บริหารบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอความเป็นธรรม