สอบรถไฟฟ้าสีม่วงโยนกันวุ่นป.ป.ช.ขีดเส้นตายแจง28พ.ย.

หัวข้อข่าว: สอบรถไฟฟ้าสีม่วงโยนกันวุ่นป.ป.ช.ขีดเส้นตายแจง28พ.ย.

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

 

สอบทุจริตโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงอลวน “พีระยุทธ” แจงจ่ายเงินล่วงหน้า 15% ให้เอกชน รฟม.ทำตามข้อตกลงในสัญญา อดีต ผู้ว่าการ “ยงสิทธิ์” เผยปฏิบัติตาม รูปแบบการร่วมลงทุนที่สคร. และกระทรวงการคลังชง ครม.อนุมัติ ป.ป.ช.ตีกรอบแจงใน 30 วัน
ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ ไทย หรือ รฟม. ชี้แจงข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐาน เพื่อประกอบการพิจารณากรณีคณะกรรมการป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาพนักงานรฟม. ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กรณีทำสัญญาให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ระยะที่ 1 ออก แบบและก่อสร้าง จัดซื้อขบวนรถ และอุปกรณ์เดินรถ ระยะที่ 2 การ ให้บริการเดินรถไฟฟ้า) แก่บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM (บี-อี-เอ็ม) เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 โดย รฟม. รับผิดชอบชำระหนี้เงินกู้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย กรณีการจัดหาขบวน รถ อุปกรณ์และระบบเดินรถ ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือสัญญาใด และจ่ายเงินล่วงหน้า 15% ของค่าอุปกรณ์ระบบงาน โดยมิชอบ
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขอยืนยัน รฟม.ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 รูปแบบ PPP Gross Cost ทุกประการ โดยที่สัญญาดังกล่าวก็ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงไม่ทราบว่า รฟม.กระทำผิดในเรื่องใด
“การอนุมัติให้ภาคเอกชนเบิกจ่ายงบประมาณกับธนาคารก็เป็นหนึ่งในข้อสัญญาที่สามารถทำได้และมีการระบุไว้อย่างชัดเจน ซึ่งในกรณีนี้จะมีการชี้แจงต่อ ป.ป.ช.ต่อไป”
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล อดีตผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ระยะทาง 22 กม.มีจำนวน 6 สัญญา โดยสัญญาที่ 4 เป็นกรณีการจัดหารถ บริหารจัดการเดินรถ ที่จะต้องดำเนินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 รูปแบบ PPP Gross Cost ถือเป็นกรณีที่ รฟม.ไม่เคยดำเนินการมาก่อน แต่ผ่านการพิจารณารูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสมจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และกระทรวงการคลังที่ในขณะนั้นมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้หน่วยงาน รฟม.รับไปปฏิบัติ
สำหรับรายละเอียดในทีโออาร์เป็นอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 13 ที่จะต้องยึดแนวปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2535 รูปแบบ PPP Goss Cost โดยการจัดซื้อจัดจ้างที่จะต้องจ่ายงบประมาณต่างๆได้มีกำหนดในรายละเอียดของสำนักนายกรัฐมนตรีทั้งหมดแล้ว และข้อบังคับ รฟม.ยังมีกำหนดไว้อีกด้วย คือ 1.การ เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้า (Advance Payment) ข้อบังคับรฟม.ที่ใช้ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันก็ได้ระบุเอาไว้ประมาณ 15% จึงสามารถตรวจสอบได้ และเป็นแบบมาตรฐานการปฏิบัติต่อเนื่องกันมาแล้ว 2.กรณีดังกล่าวครั้งนี้ไม่ใช่การจัดซื้อธรรมดาทั่วไป
“แม้ว่าตามพ.ร.บ.ร่วมทุนจะระบุเอาไว้ว่านี่เป็นการร่วมทุนของภาคเอกชน แต่ PPP Gross Cost รฟม.จะต้องจ่ายคืนให้เอกชน เนื่องจากรฟม.จะมีรายได้จากตั๋วโดยสารทุกบาททุกสตางค์ ส่วนเอกชนลงทุนให้ก่อน เป็นการชดเชยให้เอกชนที่จะต้องนำแบงก์การันตีมาแสดงอีกด้วย”
นายยงสิทธิ์ยังเปรียบเทียบให้เห็นกับกรณีการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน(MRT) ปัจจุบัน ที่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(BEM) ได้รับสิทธิ์และต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รฟม.มาแล้ว โดยจะไปรับความเสี่ยงในเรื่องรายได้เองทั้งหมด จึงพบว่า BEM ขาดทุนมาโดยตลอดเนื่องจากปริมาณผู้โดยสารยังไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ แต่รฟม.ไม่กระทบใดๆ เนื่องจากจะต้องปฏิบัติตามรูปแบบการร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost
“กรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วงจะตรงกันข้ามกับสายสีน้ำเงิน แม้ว่าเอกชนจะลงทุนก็จริง แต่รฟม.รับรายได้จากค่าโดยสารเองทั้งหมด จึงเห็นว่ารฟม.ขาดทุน โดยเฉพาะเมื่อปริมาณผู้โดยสารไม่เป็นไปตามเป้า โดยโมเดลเหล่านี้รฟม.ไม่ได้เป็นผู้เลือก แต่ถูกกำหนดมาแล้วโดยกระทรวงการคลัง รฟม.ไม่มีหน้าที่เลือกแต่อย่างใด อีกทั้งรัฐโดยกระทรวงการคลังจะเป็นฝ่ายจ่ายเงินให้กับเอกชน เพราะเป็นการลงทุนเพื่อสาธารณูปโภคไม่มีกำไร”
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เฉพาะตัวโครงการสัญญารถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในขณะนั้น และคงต้องกลับไปรื้อสัญญาดูว่าเป็นรูปแบบไหน อย่างไร แต่เบื้องต้นส่วนตัวเห็นว่าผู้ที่ถือสัญญาคือ รฟม.น่าจะเป็นคนให้คำตอบได้ดีที่สุด เนื่องจากพระราชบัญญัต (พ.ร.บ.) การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว(ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 56) หลังจากมีผลบังคับใช้ 180 วันหรือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 จะเป็นวันเริ่มนับหนึ่งของโครงการที่ได้เสนอเข้า PPP ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเกิดขึ้นก่อน
ต่อข้อถาม นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร อดีตผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า ยังไม่มีหนังสืออย่างเป็นทางการ รวมถึงไม่มีรายละเอียดการสอบข้อเท็จจริงกรณีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่ส่งมาจาก ป.ป.ช. แต่ในส่วนของตนนั้น พร้อมที่จะให้ข้อมูล โดยต้องดูว่ามีส่วนใดบ้าง
ด้านแหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐานจาก รฟม. กรณีมีการ กล่าวหาพนักงาน รฟม.กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่กรณีทำสัญญาให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีม่วงว่า ตามกระบวนการของสำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดให้ทาง รฟม.ชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ภายใน 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้แล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว รฟม.สามารถขอขยายระยะเวลาออกไปได้อีก ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ป.ป.ช.
สำหรับกรณีนี้อยู่ในช่วงการรวบรวมเอกสารต่างๆ ของ ป.ป.ช. จากนั้นจึงจะสรุปเรื่องรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาทั้งนี้ตามขั้นตอนการตรวจสอบทั่วไปของป.ป.ช.นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 1.กรณีนักการเมือง หากมีคำร้องขอให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง มีคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นองค์คณะไต่สวน 2.กรณีของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง เป็นเรื่องที่มีมูลค่าความเสียหายสูง และเรื่องที่กระทบต่อส่วนรวม จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 3.กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐทั่วไป เรื่องที่ไม่มีความสำคัญมากนัก จะมอบหมายให้พนักงานไต่สวน 4.ส่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ และ 5.ไม่รับพิจารณา ไม่ยกขึ้นพิจารณา และให้ข้อกล่าวหานั้นตกไป