หัวข้อข่าว: แฉทุจริตปุ๋ยเจอ59สหกรณ์ส่งกลิ่นจ่าย1.8พันล.ไม่ได้ของพบบริษัทสุมหัวหากิน
ที่มา: แนวหน้า ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการ สอบข้อเท็จจริงกรณี เวียนขายตั๋ว ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดและปุ๋ยเคมีโดยไม่มีปุ๋ยจริง ให้กับ สหกรณ์ในโครงการจัดซื้อปัจจัยการผลิตให้กับสมาชิก เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่สหกรณ์การเกษตรจัดซื้อปุ๋ยล่วงหน้าก่อนฤดูกาลผลิต เพื่อจะได้ราคาถูกกว่าท้องตลาด และเป็นการช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงปัจจัยการผลิต
ทั้งนี้ วิธีการก็คือสหกรณ์ต่างๆ จะไปทำสัญญาจ่ายเงินซื้อปุ๋ยกับบริษัทต่างๆ ล่วงหน้า ก่อนฤดูกาล ผลิตก็ได้เป็นตั๋วปุ๋ยมาหรือสัญญาว่าจะส่งมอบปุ๋ยกันเมื่อไหร่ ได้ซื้อตามปกติต่อเนื่องจากปี 2552 จนถึงปลายปี 2558 แต่ภายหลังปรากฏว่าบางสหกรณ์ ไม่มีส่งปุ๋ยจากบริษัทตามหน้าตั๋วที่วางไว้ ดังนั้น เมื่อต้นปี 2559 นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริม สหกรณ์ได้ให้ตนลงไปดูความผิดปกติ ไล่ตรวจสอบสหกรณ์ พบว่ามีปัญหาทั้งหมด 59 สหกรณ์
“ทั้ง 59 สหกรณ์กระจายอยู่ใน 30 จังหวัดส่วนใหญ่ ภาคเหนือ ภาคอีสาน และมีภาคกลางบางส่วนไม่ได้รับปุ๋ยตามหน้าตั๋ว รวมมูลค่าเสียหายประมาณ 1,800 ล้านบาท มีบริษัทเกี่ยวข้อง 25 บริษัท ที่ขายปุ๋ย ให้สหกรณ์ 59 แห่ง เป็นคู่สัญญากับสหกรณ์ส่วนใหญ่ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และมีปุ๋ยเคมีบางส่วนทั้งหมด 16,000 ตัน ในปลายปี 2558 “นายพิเชษฐ์ กล่าว
ดังนั้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมากรมฯได้สั่งให้สหกรณ์จังหวัดไปดำเนินการ ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์ สั่งสหกรณ์ 59 แห่งเช่นกรณีสหกรณ์ยังไม่ได้รับปุ๋ยจากบริษัทแจ้งให้ส่งมอบปุ๋ยทั้งหมดภายใน 90 วัน ถ้าส่งไม่ได้ ให้ขอรับเงินคืนจากบริษัทและยื่นหนังสือทวงคืนทันที ถ้าบริษัทไม่คืนเงินก็ให้ฟ้องแพ่ง เรียกคืนเงินจากบริษัท และถ้าพบว่าเป็นการกระทำของกรรมการ และผู้จัดการสหกรณ์ ให้ไปฟ้องร้องดำเนินคดีทางแพ่ง เป็น ผู้รับผิดชอบจ่ายเงินคืนสหกรณ์
นายพิเชษฐ์ยังกล่าวอีกว่า จนถึงขณะนี้มีตั๋วปุ๋ยยังไม่ส่งมอบเหลือประมาณ 60,000 ตัน เป็นเงิน 660 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่าสหกรณ์บางแห่งอาจจะมีส่วนได้เสียกับเรื่องที่เกิดขึ้นด้วย โดยเฉพาะกับบริษัทคู่สัญญา 28 บริษัท กับบริษัทผู้ผลิต แม้มีหลายตราสินค้า แต่พอตรวจสอบลึกลงไปกลับพบว่าปุ๋ยมาจากแหล่งเดียวกันคือมีบริษัทเพียง 2-3 แห่งเท่านั้นที่ส่งปุ๋ยให้กับ 28 บริษัท ทำให้เห็นว่ามีการวางแผนเชื่อมโยงกันมาล่วงหน้าตั้งแต่ต้น ไม่ได้ทำธุรกิจแบบปกติแน่นอน
“ตอนนี้ได้ให้สหกรณ์ไปไล่ฟ้องบริษัทที่จ.เชียงราย และจ.ศรีสะเกษ ซึ่ง ศาลตัดสินให้บริษัทคืนเงินให้กับสหกรณ์ รวม 69 ล้านบาท หากไล่ถึงที่สุดทุกแห่งเป็นทำนองเดียวกันหมด ตอนนี้ไล่สอบสหกรณ์ไปก่อน หากพบมีเชื่อมโยงระหว่างบริษัทกับสหกรณ์ ก็ไปแจ้งความคดีอาญาข้อหาฉ้อโกง โดยให้เวลาสหกรณ์ ไม่เกิน สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ต้องจบทั้งหมด ถ้าพบมีฉ้อโกง ก็แจ้งความ ถ้าไม่พบฉ้อโกงก็ดำเนินคดีฟ้องเรียกเสียหายทางแพ่ง” นายพิเชษฐ์ ระบุ
ด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดี กรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ผู้เกี่ยวข้องที่สร้างความเสียหายต้องรับผิดชอบ ตั้งบริษัท มาหลอกลวง ต้องฟ้องร้องดำเนินคดีเอาผิดอาญา และแพ่ง หากผู้บริหารกรมไปเกี่ยวข้องกับกลไก ตรงไหน ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ต้องตรวจสอบ ดูทั้งหมด แยกเป็นเรื่องบางเรื่องเกี่ยวโยงเป็น เครือข่ายระหว่างสหกรณ์กับบริษัท ถ้ามี ผู้บริหารเอาบริษัทมาชนรับงานก็ต้องโดนคดี
“ผมไม่ทราบว่าเกี่ยวข้องกับการเมือง ในอดีตหรือไม่ เพราะมาเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ปี 2558 จึงสั่งให้ตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในสมัย ที่เป็นอธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้พบความผิดปกติของสหกรณ์ในการสั่งปุ๋ย แต่ไม่มีปุ๋ย ดังนั้น ใครเกี่ยวข้องบ้างก็ต้องตามมาร่วมชดใช้ทั้งหมด” นายวิณะโรจน์ ย้ำทิ้งท้าย