ชี้’ศานิตย์’ส่อผิดม.103

หัวข้อข่าว: ชี้’ศานิตย์ส่อผิดม.103

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2559

 

รับเงินเดือนบริษัทเอกชน เข้าข่ายผิดกฎหมายป.ป.ช.
“วิชา” ชี้ “ศานิตย์” รับเงินเดือนที่ปรึกษา บริษัทเอกชน อาจขัดม.103 ตามกฎหมายป.ป.ช. ขณะที่ป.ป.ช.เล็งพิจารณาความเหมาะสมจริยธรรม
นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณี พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะสมาชิกสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. เมื่อครั้งรับตำแหน่ง ปรากฎว่าได้รับเงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท จากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งตั้งแต่ ปี 2558 ในตำแหน่งที่ปรึกษา ว่า ตน ยังไม่ได้พิจารณาถึงรายละเอียด เพียงทราบจากสื่อว่ามีการร้องเรียน ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบเรื่อง จริยธรรมแล้ว
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นหากพิจารณาตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 100 ห้าม เพียงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้บริหาร ท้องถิ่น เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียหรือเป็นคู่สัญญากับเอกชน ขณะที่ตำแหน่งข้าราชการไม่ได้ถูกห้ามตามมาตรา ดังกล่าว ส่วนเรื่องความเหมาะสมด้านจริยธรรม หรือเข้าข่ายขัดกันระหว่างผลประโยชน์หรือไม่นั้น ถือเป็นอีกเรื่อง ที่ต้องพิจารณา
ด้านนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่าเมื่อ มีผู้นำเรื่องไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการ แผ่นดินแล้ว หากเข้าข่ายการพิจารณาของป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดินก็จะ ส่งเรื่องมา หลังจากนั้น ป.ป.ช. ต้องพิจารณาว่ามีหลักฐานในการรับเงิน จากเอกชนชัดเจนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องว่าไม่ควรรับเงินจากเอกชน แต่ถ้าเข้าเหตุก็ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะถ้าดูจาก พ.ร.บ.ป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 103 กำหนดไว้ชัดเจนว่าข้าราชการทุกคนต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มาตรา 103 ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 บัญญัติว่า ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือ จากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด โดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด
ทั้งนี้ วันเดียวกันนี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้าร้องเรียนต่อผู้ตรวจการ แผ่นดิน เพื่อตรวจสอบ พล.ต.ท.ศานิตย์ ระบุว่าอาจเข้าข่ายขัดหรือแย้งต่อประมวลจริยธรรมของข้าราชการตำรวจ และประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2550 และอาจมีความผิดต่อจริยธรรมและกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 และ 103 เนื่องจากอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน ต่อการปฏิบัติหน้าในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากมีความผิดตามประมวลจริยธรรม ดังกล่าวจริง ทางองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เรียกร้องให้ พล.ต.ท.ศานิตย์ ลาออกจากการดำรงตำแหน่ง ผบช.น. และสมาชิก สนช.