หัวข้อข่าว: ล้มสินบนกรมศุลฯ30% คลังชูนโยบายภาษีปี60เน้นปิดช่องว่าง-ลดการรั่วไหล
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559
คลังรื้อระบบสินบนนำจับศุลกากร 30% ตั้งเพดานเงินรางวัลให้ผู้แจ้งเบาะแสและข้าราชการ ป้องกันข้อครหาไล่จับเฉพาะรายใหญ่ พร้อมประกาศนโยบายภาษีปี 2560 เน้นอุดช่องรั่วไหล
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่า การกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2560 นโยบายด้านภาษี กระทรวงการคลัง จะเน้นเป็นพิเศษ ในเรื่องของการอุดช่องโหว่ หรือปิดการรั่วไหลของภาษี โดยจะครอบคลุมทั้ง 3 กรมภาษีหลัก คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร
ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่กรมศุลกากร ที่จะมี การแก้ไขกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกทาง การค้า รวมทั้งแก้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาสินบนนำจับ โดยการนำข้อร้องเรียนและข้อเสนอของ ภาคเอกชนมาประกอบการพิจารณา โดยร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้รอการพิจารณาโดยสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ
“ปัญหาสินบนนำจับจากเดิมไม่มีการตั้งหรือกำหนดเพดานในกฎหมายใหม่ก็จะมีการกำหนดเพดาน เอาไว้อย่างชัดเจน ไม่อย่างนั้นก็จะถูกข้อครหาว่า เจ้าหน้าที่จงใจที่จะจับแต่กรณีใหญ่ๆ เพื่อที่จะได้รางวัลสินบนนำจับจำนวนมาก ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการกีดกันไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งกฎหมายใหม่จะมีการกำหนดเพดานรวมถึงการเพิ่มในส่วนของงบประมาณในการจับกุม”
ปัจจุบันมีกฎหมาย 2 ฉบับของกรมศุลกากรที่ยังให้สินบน-รางวัล คือ พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด ซึ่งให้สินบนอัตรา 30% และ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าให้รางวัลนำจับ 25% โดยมีข้อเสนอให้ลดผลประโยชน์สินบนที่ให้กับผู้แจ้งเบาะแส 30% แต่จำกัดวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท และรางวัลให้ข้าราชการลดจาก 25% เหลือ 15% และไม่เกิน 5 ล้านบาท
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า กรมสรรพากรนอกจากเรื่องของการขยายฐานภาษี ภารกิจสำคัญคือการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่ระบบภาษีโดย การจัดทำบัญชีเดียว โดยในปี 2561 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ประกอบการที่จะยื่นขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ จะต้องส่งบัญชีเล่มเดียวกับ ที่ยื่นกับกรมสรรพากรให้ธนาคารพาณิชย์ ประกอบการพิจารณาเท่านั้น
“กรมสรรพากรได้ส่งสัญญาณเตือนเป็นระยะๆ ว่าตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป หากภาคธุรกิจยังไม่มีการทำบัญชีเดียวหรือขึ้นทะเบียนถูกต้องแล้ว การที่จะไปขอสินเชื่อกับทางธนาคารพาณิชย์ต่างๆจะไม่สามารถทำได้”
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงการคลังพยายามล้อมกรอบ รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยที่เดิมยังอยู่นอกระบบเข้ามาในระบบให้หมด เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมดแล้ว การออกมาตรการหรือแนวทางความช่วยเหลือจากรัฐบาลก็จะทำได้ง่ายมากขึ้น
ส่วนกรมสรรพสามิตนั้นกฎหมายสรรพสามิตใหม่ ที่เปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานมาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ คาดว่าจะบังคับใช้เร็วๆนี้ มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษี โดยเฉพาะการแจ้งสำแดงราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งขณะนี้กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการกำหนดอัตรา ภายใต้หลักการราคาสินค้าจะไม่เพิ่มขึ้น และจะไม่กระทบต่อผู้บริโภค
ขณะที่นโยบายการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ต้องบอกว่าที่ผ่านมามีกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีเข้าพิจารณาโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.)หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่วนแนวทางการหักลดหย่อนภาษี จะดำเนินนโยบายตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะและเวลา โดยจะทำเป็นบางครั้งเท่านั้น
“ล่าสุดคือการหักลดหย่อนจากการซื้อสินค้าหรือช็อปปิ้งภายในประเทศ ซึ่งเริ่มไปตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา เรียกว่าแนวทางของกระทรวงการคลังจะทำเป็นครั้งคราวเพื่อกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อ หลังจากเราเห็นแนวโน้มหรือทิศทางการบริโภคเริ่มตก และหวังว่าสิ่งที่เรากระตุ้นครั้งนี้ จะทำให้คนเปลี่ยน ตั้งแต่ธุรกิจหรือร้านค้าที่อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบที่ถูกต้อง”
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรยังให้ความสำคัญกับการตรวจจับการโกงภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งระบบตรวจพบตั้งแต่เริ่มมีการยื่นเอกสาร ทำให้ทั้งหมดยังไม่ได้เงินคืนแต่อย่างใด และยังถูกดำเนินการทางกฎหมาย
ล่าสุดกรมสรรพากรได้ตรวจพบปัญหาการซื้อขายใบกำกับภาษีผ่าน ระบบอินเตอร์เน็ตอีกเช่นกัน โดยได้ดำเนินคดีในช่วงเดือนตุลาคม 2559 โดยตรวจพบว่ามีการตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำทีว่าเป็นบริษัทผู้ส่งออกเพื่อขอคืนภาษีซึ่งทั้งหมดถูกดำเนินคดีอาญาไปแล้ว
ส่วนกรณีที่มีเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้าไปอยู่ในกระบวนการหรือ มีส่วนรู้เห็นการกระทำผิดนั้นขณะนี้เรื่องได้ดำเนินการส่งไปยังกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นกระบวนการพิจารณาจึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่เกิด ขึ้นทั้งหมด