ชลประทานท้าจับผิด งบฯผักตบยันโปร่งใสปัดขอเพิ่ม

หัวข้อข่าว: ชลประทานท้าจับผิด งบฯผักตบยันโปร่งใสปัดขอเพิ่ม

ที่มา: เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2560

 

อธิบดีกรมชลประทาน ท้าคนขี้สงสัยไปพิสูจน์ด้วยตาตัวเอง เปิดทางให้ไปนั่งตรวจสอบดูเวลาจัดเก็บผักตบชวาว่าเกลี้ยงสะอาดตามากน้อยขนาดไหนอย่างไร รองอธิบดีกรมชลประทาน แจงละเอียดยิบ ยืนยันจัดสรรงบประมาณโปร่งใส โต้ข้อกล่าวหางบประมาณบานปลาย อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุไม่ได้ของบประมาณกำจัดผักตบชวาเพิ่มเติม จัดสรรตามที่สำนักงบประมาณตั้งราคาไว้ตันละ 25 บาท
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงกรณีผู้ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะทบทวนการใช้งบกำจัดผักตบชวาแพงกว่าทองคำ เนื่องจากหน่วยงานรับผิดชอบของบประมาณเพิ่มทุกปีแต่ผักตบยังเต็มแม่น้ำลำคลองทั่วประเทศ ว่า กรมชลประทานของบประมาณกำจัดผักตบชวาตามราคาที่กำหนดโดยสำนักงบประมาณ ขณะที่กรมชลประทานต้องรับผิดชอบทางน้ำและคลองชลประทานทั่วประเทศ ประมาณ 40,000 กิโลเมตร
ขณะนี้ได้สั่งปิดป้ายประกาศในทุกลำคลอง มีชื่อ เบอร์โทรศัพท์หัวหน้าโครงการชลประทาน เพื่อให้ชาวบ้านแจ้งให้มากำจัดผักตบชวาได้ทันทีตลอดเวลา เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้มีผักตบเต็มแม่น้ำลำคลองหรือมาอัดเต็มหน้าประตูน้ำหรือประตูเขื่อนเหมือนที่ผ่านมา เพราะเวลาน้ำหลากจะผลักผักตบชวาออกมากองหน้าประตูหรือหน้าเขื่อน และต้องจัดเก็บตลอดเวลาและต่อเนื่อง เพื่อการระบายน้ำ
นายสัญชัย กล่าวด้วยว่า เรื่องผักตบเป็นปัญหาโลกแตก มีคลองธรรมชาติ 4 แสนกว่ากิโลเมตร แม้กรมชลประทานเก็บหมด พอฤดูน้ำหลากก็มาอีก ส่วนใหญ่มาแปะอยู่ที่หน้าประตูน้ำ ประตูเขื่อน มองเห็นชัดเจน และเจ้าหน้าที่พยายามทำให้หมด และอยากให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยด้วย รวมถึงหน้าบ้านใคร ต้องช่วยกันเก็บ จะใช้งบหลวงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องระดมมาช่วยกัน เป็นหน้าที่ ไม่ใช่ผลักไปหน้าบ้านคนอื่นและหากไม่ให้งบประมาณจะทำอย่างไร
นายสัญชัย กล่าวยืนยันด้วยว่า งบประมาณเก็บผักตบชวาไม่มีรั่วไหล จึงอยากให้คนสงสัยมาช่วยกันจัดเก็บหรือมานั่งดูด้วยว่าเก็บวันไหน และอีกกี่วันผักตบชวาขยายมาจากไหน จะได้เข้าใจและเห็นภาพพร้อมทั้งช่วยกันหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้ผักตบชวาหมดไปจริง ๆ โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังวิจัยหาสารนำมาราดให้ผักตบชวาตายและอยู่ระหว่างการทดลองกับสิ่งแวดล้อมก่อนนำมาใช้จริง
ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาในทางน้ำชลประทาน เช่น อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ ใน 2 ลักษณะ คือ การกำจัดด้วยแรงคนลากดึงขึ้นมาบนลาดคลอง ปล่อยให้ย่อยสลาย ไปตามธรรมชาติ และกำจัดด้วยเครื่องจักร เช่น เรือกำจัดวัชพืชหรือรถขุดแบบสะเทินน้ำสะเทินบก
นายทองเปลว กล่าวด้วยว่า สำนักงบประมาณ กำหนดราคากำจัดวัชพืชด้วยแรงคน ในอัตรา 3,250 บาทต่อไร่ จากการสุ่มตัวอย่างผักตบชวา 1 ไร่ มีน้ำหนักประมาณ 80 ตัน หรืออัตราราคาประมาณ 40.625 บาทต่อตัน หรือ 0.040 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนการกำจัดผักตบชวาหรือวัชพืชด้วยเครื่องจักร จะผันแปรไปตามราคาน้ำมันดีเซล เช่น วันที่ 3 ม.ค. 2560 ราคาน้ำมันดีเซล 26.09 บาทต่อลิตร อัตราราคางานจะอยู่ที่ราคาน้ำมัน 26.00-26.99 บาทต่อลิตร ราคาต่อหน่วยในการกำจัดวัชพืชด้วยเรือ แต่หากเป็นงานที่กรมชลประทานดำเนินการ จะอยู่ที่ประมาณ 29.17 บาทต่อตัน หรือ 0.029 บาทต่อกิโลกรัม
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าในช่วงปี 2557-2559 กรมชลประทาน ใช้งบประมาณไปกว่า 710 ล้านบาท สามารถกำจัดผักตบชวาได้เพียง 18.2 ล้านตันนั้น จากการคำนวณเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกำจัดผักตบชวาเท่ากับ 39.01 บาทต่อตัน หรือ 0.039 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทั้งหมดเป็นค่าเฉลี่ยของ 3 ปี โดยใช้วิธีกำจัดผักตบชวาทั้งด้วยแรงคนและเครื่องจักรกล แต่เมื่อเข้าฤดูฝนหรือมีการระบายน้ำจากพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้มีผักตบชวาไหลมากับน้ำเหนือพัดพามาติดเหนือเขื่อนหรือประตูระบายน้ำ ทำให้ดูเสมือนว่าไม่ได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาหรือกำจัดผักตบชวาไม่แล้วเสร็จ หรือเป็นการใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี
ขณะที่ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้สัมภาษณ์กรณีสตง. ออกมาระบุงบประมาณกำจัดผักตบชวาแพงกว่าทองคำ ว่า ขณะนี้ไม่ได้ของบประมาณกำจัดผักตบชวาเพิ่ม แต่เป็นของโครงการจิตอาสาประชารัฐร่วมกับท้องถิ่น และจากการสำรวจผักตบชวาขณะนี้มี 6.2 ล้านตัน กำจัดไปแล้วประมาณ 2.5 ล้านตัน หรือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ และคิดว่าภายในเดือน มี.ค. น่าจะกำจัดหมดอย่างแน่นอน
เมื่อถามว่าผู้ว่า สตง. ตั้งข้อสังเกตว่าที่ผ่านมาใช้งบประมาณจำนวนมาก นายมณฑล กล่าวว่า ขอชี้แจงว่าผักตบชวาขยายพันธุ์รวดเร็ว 15-20 วัน ขยายพันธุ์เป็นหนึ่งเท่า บางครั้งกำจัดไปแล้ว แต่ผ่านไป 2-3 เดือนก็กลับมาใหม่ จึงต้องจัดเก็บต่อเนื่อง พร้อมยืนยันไม่ได้ของบประมาณกำจัดผักตบชวาเพิ่มเติม ส่วนเรื่องราคา สำนักงบประมาณตั้งราคาค่าจัดเก็บให้ตันละ 25 บาท.