หัวข้อข่าว: รางวัลนำจับ : รัฐได้ไม่คุ้มเสีย
ที่มา: คอลัมน์ คิดเป็นเห็นต่าง, โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560 โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล
ทุกวันนี้มีการจ่าย “สินบนและเงินรางวัล” ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐจากการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการจับกุมดำเนินคดีจำนวนมาก เช่น ในปี 2559 สตช.จ่ายเงินรางวัลสำหรับคดียาเสพติดไปเป็นเงิน 286 ล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากรก็จ่ายไปเฉลี่ยแล้วมากถึงปีละ 893 ล้านบาท ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา
โดยพบว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้มีการจ่ายสินบนและเงินรางวัลเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 125 ฉบับ เมื่อปี 2547 มาเป็น 132 ฉบับ ในปี 2555 ซึ่งมีทั้งตำรวจ ศุลกากร ขนส่งทางบก ป่าไม้ และหน่วยปราบปราม ยาเสพติด เป็นต้น โดยให้เหตุผลสำคัญว่าเพื่อเป็นแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดปัญหาเจ้าหน้าที่รับสินบนจากผู้กระทำผิด
แต่จากการศึกษากลับพบว่าการจ่ายสินบนและเงินรางวัลเหล่านี้ ไม่ได้เกิดผลดีตามที่กล่าวอ้าง ตรงกันข้ามกลับสร้างผลเสียและกลายเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นมากกว่าเดิม กล่าวคือ
1.ไม่ได้ช่วยให้คอร์รัปชั่นลดลง เพราะ “ฝ่ายผู้ให้” มักเลือกที่จะจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งยาก เสียเวลา หรือการถูกเปิดเผยเรื่องราวของตน รวมทั้งอาจถูกกลั่นแกล้งให้สถานการณ์เลวร้ายลง หรืออาจโดนบทลงโทษอื่นอีกหากตนต้องเข้าสู่ขั้นตอนของกฎหมายและการพิจารณาสั่งปรับ ขณะที่ “ฝ่ายเจ้าหน้าที่” มักมองว่าสินบนและเงินรางวัลเป็นของตายอย่างไรเสียตนก็ต้องได้
แต่หากเลือกรับสินบนนำจับก็จะมีกระบวนการในการเบิกจ่ายที่ ยุ่งยากซับซ้อน และเกิดส่วนแบ่งตามอำนาจหน้าที่ จนอาจทำให้ได้รับส่วนแบ่งน้อยกว่าหากเรียกรับเงินใต้โต๊ะเสียเอง หรือบางกรณีมีเรื่องของพวกพ้องหรือการช่วยเหลือเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเกิดแรงจูงใจให้เกิดการต่อรองเพื่อเลือกรับระหว่างผลประโยชน์แบบถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายที่ให้ประโยชน์แก่ตนมากกว่า
2.มีการใช้อำนาจโดยมิชอบมากขึ้น การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมี อำนาจและผลประโยชน์จากการเลือกบังคับใช้กฎหมาย ทำให้ บางครั้งเกิดการใช้อำนาจอย่างเกินเลย เพื่อให้ตนได้ผลประโยชน์ที่ มากกว่าเร็วกว่า เช่น พฤติกรรม “ตีเมืองขึ้น” หรือ “ตีไก่” ที่เป็นการข่มขู่เรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะมีการกระทำผิดจริงหรือไม่
เข้าทำนองรังแกโดยการปรักปรำ หรืออาศัยช่องว่างจากการที่ประเทศเรามีกฎหมายจำนวนมาก หรือมีรายละเอียดเงื่อนไขซับซ้อนหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบ่อย แต่เจ้าหน้าที่ก็เลือกตีความหรือบังคับใช้กฎหมายในทางที่ตนได้เปรียบ
3.เกิดพฤติกรรมบิดเบือนไปจากที่ควรกระทำตามหน้าที่ คือแทนที่จะทำตามภารกิจของหน่วยงานและทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม กลับพบว่าเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติงานหรือทำคดีเฉพาะที่มีโอกาสจะได้เงินรางวัลมากๆ
และยังพบว่าบ่อยครั้งที่ทำเกินกว่าเหตุเพื่อหวังเงินรางวัล หรือมีพฤติกรรมที่เรียกว่า “ขุดหลุมล่อ” แล้วไปดำเนินคดีในภายหลัง หลายกรณีจึงเข้าข่ายการมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
4.สร้างความไม่เป็นธรรมในระบบการทำงานของราชการ จากการที่ข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ตามภาระปกติแต่กลับได้ ผลตอบแทนมากกว่าข้าราชการอื่น หรือบางครั้งเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันก็มีปัญหาการแบ่งปันเงินรางวัลอย่างไม่เป็นธรรมหรือผิด กฎหมายด้วย เช่น กรณีสมรู้ร่วมคิดกันให้พรรคพวกหรือญาติพี่น้อง แอบอ้างเป็นผู้ชี้เบาะแสเพื่อรับเงินสินบน แม้จะไม่มีการแจ้งเบาะแสจริง
ดังนั้น หากจะคงแนวทางให้สินบนและเงินรางวัลนี้ต่อไป ควรมีการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาดังกล่าวมาแล้ว เช่น
1.เปิดโอกาสให้ “ผู้จ่ายใต้โต๊ะ” สามารถกล่าวหาเจ้าหน้าที่ผู้รับสินบน โดยได้รับการกันตัวไว้เป็นพยาน เชื่อว่าวิธีนี้จะทำลายความไว้วางใจระหว่างกันของบรรดาคนให้และคนรับ จนทำให้การเจรจาเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
2.กำหนดเงื่อนไขทุกอย่างให้ชัดเจนเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การรับการจ่ายและจำนวนเงินอาจคิดเป็นสัดส่วนกับผลงานในคดีก็ได้ แต่ต้องไม่จ่ายมากเกินไป ทางที่ดีควรให้ตามผลงานโดยรวมของหน่วยงานมากกว่า และต้องทำให้โปร่งใสโดยเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณะ
3.ทำให้กติกาการจ่ายสินบนและเงินรางวัลเป็นที่รับรู้ทั่วไป มิใช่จำกัดอยู่แต่ในหมู่เจ้าหน้าที่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาให้รัฐในการให้เบาะแสข้อมูล การให้เงินสินบนแก่ประชาชนที่มากพอจะช่วยชดเชยการเสี่ยงภัยและค่าใช้จ่ายที่เขาลงไป เช่น การเดินทาง การสืบค้นข้อมูล และเวลาทำมาหากินที่เสียไป
คอร์รัปชั่นมักเกิดจากการสมยอมระหว่างผู้ให้และผู้รับ การลงโทษที่เบาเกินไปคนจะไม่เกรงกลัว แต่หากมีการลงโทษที่รุนแรงคนก็จะ หาวิธีติดสินบนเพื่อให้พ้นผิด ดังนั้นการป้องกันด้วยมาตรการหนึ่งๆ ย่อมเสี่ยงที่จะถูกบิดเบือนหรือล้มเหลวได้ จำเป็นต้องใช้หลายๆ มาตรการร่วมกัน
โดยเฉพาะการสร้างความโปร่งใส ทำให้มีการตรวจสอบโดยสาธารณชน แต่ “โดยสรุปแล้วการให้หรือรับสินบนไม่ว่าจะให้ใครหรือโดยใครก็ถือว่าไม่ถูกต้องทั้งสิ้น ดังนั้นทำไมเราไม่พัฒนาประเทศและสังคมของเราที่ทำให้ประชาชนมีความสำนึกในความถูกต้องและทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ที่คอยปกป้องหรือรักษาผลประโยชน์ของสังคมโดยไม่เห็นแก่อามิสสินจ้างหรือเงินรางวัล” (เมธี ครองแก้ว, 2552)