สปท.จัดยาแรงปรามพวกปล้นชาติ โกงพันล้านโทษประหาร

หัวข้อข่าว: สปท.จัดยาแรงปรามพวกปล้นชาติ โกงพันล้านโทษประหาร

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2560

 

ผู้จัดการรายวัน360 – สปท.ผ่านรายงาน กมธ.ด้านการเมือง จัดยาแรงป้องกันพวกปล้นชาติ เสนอประหารนักการเมืองโกงเกินพันล้าน “วิษณุ”ห่วงโทษประหารฝืนกระแสโลก
วานนี้ (9 ม.ค.) ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้พิจารณารายงานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เรื่องการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง นำเสนอรายงาน ซึ่งมีเนื้อหาส่วนสำคัญคือ มาตรการควบคุมและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ของฝ่ายการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องไปบังคับใช้กับข้าราชการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ใช้อำนาจรัฐ ควรลดการผูกขาดการใช้อำนาจรัฐ โดยการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง การโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการ และข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกระดับ เพื่อป้องกันการผูกขาดไปสร้างอิทธิพล
สำหรับการตรวจสอบภายในหน่วยงานของรัฐ ผู้ตรวจราชการของรัฐ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง จะต้องทำหน้าที่อย่างจริงจัง เพื่อไม่ละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หากข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ ละเลย หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หรือแสวงหาผลประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้มีโทษตามกฎหมายในอัตราสูงสุด
ทั้งนี้เห็นควรให้แก้ไขกฎหมายและอัตราโทษในความผิดทุจริต คอร์รัปชัน โดยผู้ใดกระทำผิดทุจริต คอร์รัปชัน ให้ลงโทษตามเกณฑ์ตัวอย่าง ดังนี้ (1) มูลค่าความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน จำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี (2) มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุก 10 ปี (3) มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุก 20 ปี (4) มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 1 พันล้านบาท ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และ (5) มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินเกินกว่า 1 พันล้านบาทขึ้นไป ต้องระวางโทษประหารชีวิต
รายงานที่เสนอนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ป้องกันให้คนที่ปฏิบัติหน้าที่ ที่คิดจะทุจริต ให้ระวังว่ามีโทษอย่างไร จึงกำหนดบทลงโทษที่รุนแรง ซึ่งในหลายๆประเทศก็กำหนดบทลงโทษไว้รุนแรงเช่นกัน เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้สัมฤทธิผล จึงได้เสนอแนะ การควบคุมการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐควบคู่ไปด้วย อาทิ การแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน ควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนับแต่วันเริ่ม บรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ โดยให้จัดเก็บข้อมูลดังกล่าวไว้ที่หน่วยงานต้นสังกัดที่บุคคลนั้นบรรจุ และแต่งตั้งเข้ารับราชการ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อหน้าที่หรือไม่
สำหรับการลงมติ สมาชิก สปท. เห็นด้วย 155 ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 7 จากนั้นจะมีการนำความคิดเห็นสมาชิกไปปรับปรุงก่อนส่งไปยัง ครม. สนช. กรธ. ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่อไป
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี สปท. เสนอให้ประหารชีวิต คดีทุจริตที่สร้างความเสียหายเกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ว่า คดีทุจริตตามกฎหมายเดิมมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณากระแสโลกที่ไม่อยากให้มีโทษประหารชีวิตด้วย และไทยได้รับปากกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่นครเจนีวา เอาไว้ว่าเราจะไม่เลิกโทษประหารชีวิตในทันที แต่อะไรที่มีโทษประหารชีวิตอยู่ จะพยายามแก้กฎหมายให้มีทางเลือกอื่น หรือจำคุกตลอดชีวิต และอะไรที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต จะกำหนดโทษ จำคุกเป็นจำนวนปีไป ในระยะยาวจะค่อยๆ ลดลง แต่เรายืนยันว่าจะไม่เลิกโทษประหารชีวิตในทันที
“ในกรณีที่เป็นกฎหมายใหม่ เราจะพยายามไม่เขียนให้มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต หรือถ้ามีโทษประหารชีวิตเราจะระบุไว้ว่า “หรือ” เพื่อให้เป็นทางเลือก เพราะมันมีมาตรการที่เล่นงาน คนที่ทุจริตเกินพันล้านบาทหลายมาตรการ ทั้งนี้ การออกกฎหมายมีทางหลายทาง ไม่ใช่จะเอาโทษหนักอย่างเดียว เพราะอาจจะใช้ไม่ได้ผลก็ได้”.