แกะรอยสินบนโรลส์-รอยซ์: ใช้ใต้ตึกสถานที่ราชการ-โรงเรียนพาณิชย์รับเงินอื้อซ่า เปิดโปง’4ขาใหญ่’รับสินบน

หัวข้อข่าว: แกะรอยสินบนโรลส์-รอยซ์: ใช้ใต้ตึกสถานที่ราชการ-โรงเรียนพาณิชย์รับเงินอื้อซ่า เปิดโปง’4ขาใหญ่รับสินบน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

 

“บัณฑิต”ชี้สินบนตอกย้ำปัญหาทุจริตรัฐวิสาหกิจ ที่ฝังรากมานาน แนะเร่งสอบโดยเร็ว
แกะรอยเส้นทางรับสินบนโรลส์-รอยซ์ 3 สัญญากว่าพันล้าน แลกซื้อเครื่องยนต์ที-800 ของการบินไทย ระบุมีผู้มีอำนาจ 4 คนเรียกรับเงินอื้อซ่า ตั้งแต่ 200-300-400 ล้านบาท เปิดโปงใช้ใต้ถุนอาคารสถานที่ ราชการ-โรงเรียนพาณิชยการในกทม. แหล่งรับสินบน ขณะพนักงานบินไทยได้แค่ เลี้ยงดูปูเสื่อ พาเที่ยวฮ่องกง เผยสินบนเครื่องยนต์แค่ 1 ใน 4 ของเครื่องบินหนึ่งลำ
หลังจากสำนักงานปราบปรามการทุจริตขั้นร้ายแรงแห่งอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ออกมาเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับยอมความ ของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่ของประเทศอังกฤษในคดีโรลส์-รอยซ์ติดสินบนใน 3 ประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ รวมถึงไทย ในกรณีของไทยนั้น ได้ตรวจพบการให้สินบน 3 ช่วงเวลาด้วยกัน
โดยเอสเอฟโอ ตรวจพบว่า โรลส์-รอยซ์ ติดสินบนในไทย เริ่มขึ้นในช่วงแรก ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.2534 – 30 มิ.ย.2535 ช่วงที่ 2 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มี.ค.2535-31 มี.ค. 2540 และช่วงที่ 3 เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย.2547-28 ก.พ.2548 ทั้ง 3 ครั้งเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อเครื่องยนต์เทรนต์ 800 หรือที-800 ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายเริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการรับสินบนจากการซื้อเครื่องยนต์ที-800 ว่า เกิดขึ้น ได้อย่างไร เกิดขึ้นในช่วงไหน ใครเป็น ผู้บริหารหรือดูแลการบินไทยในยุคที่เป็น ปัญหาเรียกรับสินบน เรื่องนี้จะเกี่ยวข้องกับใครอย่างไรบ้าง เพราะในส่วนของไทย โรลส์-รอยซ์ ให้การว่า มีการจ่ายเงินกว่า 36 ล้านดอลลาร์ (1,270 ล้านบาท) ระหว่างปี 2534-2548 ให้ “นายหน้า” เพื่อช่วยเหลือสัญญา 3 ฉบับในการจัดหาเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่น “เทรนต์” หรือที-800 ให้การบินไทย
เปิดหน้ากาก4ขาใหญ่รับกว่าพันล้าน
เรื่องนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้รับการอธิบายจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่เป็น “นายหน้า” การจัดซื้อเครื่องยนต์ที-800 จากโรลส์-รอยซ์ ว่าเป็นเรื่องจริงที่มีการจ่ายเงินให้กับผู้มีอำนาจในไทยในช่วงที่ผ่านมา
ตามที่ โรลส์-รอยซ์ ได้ให้การต่อเอสเอฟโอทุกประการ พร้อมกับยอมรับว่าทางเอสเอฟโอ เขามี”รายชื่อ”มีหลักฐานว่าผู้รับเงินเป็นใครบ้าง รับไปเท่าไร ช่วงไหน มีระบุวันเวลาที่ชัดเจน การเบิกจ่ายแต่ละครั้งจะมีแบบฟอร์มว่าจ่ายไปที่ไหนบ้าง เงินส่วนใหญ่ที่ได้มามีการรับกันทั้งในและต่างประเทศ
การเรียกรับสินบนแลกกับการซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ เริ่มจากเครื่องบินโบอิ้ง777 เริ่มเกิดขึ้นในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(รสช.) ที่เริ่มอนุมัติให้จัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ได้ การซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ ไม่ได้หมายความเป็นเครื่องยนต์ที่ไม่ดี ต้องยอมรับว่าเป็นเครื่องยนต์ที่ดี ใช้กันทั่วโลก เพียงแต่การจัดซื้อของไทย มีการจ่ายสินบนกันมาก จนกลายเป็นเรื่องเป็นราวในปัจจุบันนี้
โดยสัญญาแรกที่มีการจัดซื้อในระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 2534 – 30 มิ.ย. 2535 การจัดซื้อครั้งนี้มีผู้มีอำนาจในการสั่งการและชี้ขาดมีผู้เกี่ยวข้องอยู่หลายคน แต่มีคนหนึ่งที่เป็นรับสินบนไปครั้งแรกกว่า 300 ล้านบาท หนึ่งในจำนวนนายหน้าที่ไปรับเงินมีชื่อย่อ นายส., นายช., นายจ. แต่จะนำเงินส่วนนี้ไปแบ่งให้ใครบ้างไม่ทราบ ในยุคแรกๆ ที่ใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ บอกได้เลยเป็นการตัดสินใจของผู้มีอำนาจทั้งสิ้น ส่งตัวแทนรับสินบนโรงเรียนพณิชยการ
ต่อมาสัญญาที่ 2. ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2535 – 31 มี.ค. 2540 เป็นการจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินจากโรลส์-รอยซ์ ต่ออีกครั้ง ในครั้งนี้มีผู้ที่มีอำนาจหลายคนที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้ที่รับสินบนจากการซื้อ เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์อยู่ 2 คนในสัญญานี้ มี นายป. เป็นผู้แทน ไปกว่า 200 ล้านบาท โดยนัดหมายรับเงินส่วนนี้ที่โรงเรียนพณิชยการแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
“การจ่ายเงินให้ นายป.ในวันนั้นถึงขั้นต้องขนใส่กระเป๋าเดินทางไปให้ โดยใช้รถแท็กซี่เป็นยานพาหนะในการขนเงิน ซึ่งกระเป๋าที่ใช้แต่ละใบมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 70 กิโลกรัม” ในสัญญานี้ยังมีอีกคนหนึ่งที่ได้รับสินบนจากการซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ คือ นายธ. ,นายย. และนายช.ซึ่งได้รับเงินไปจำนวนหลายร้อยล้านบาท เพราะถือเป็นผู้มีอำนาจเปิดกระโปรงรถเบนซ์รับ400ล้าน
ส่วนสัญญาที่3.เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2547 – 28 ก.พ. 2548 ในสัญญารอบนี้มีผู้ที่มีส่วนในการจัดการอยู่1 คน เรียกว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจการสั่งซื้อเช่นกัน คนที่รับสินบนจากสัญญานี้คนที่เรียกรับคือ นายว. และนายพ. ได้รับสินบนจากการจัดซื้อไปร่วม 400 ล้านบาท รายนี้ใจกล้ามากถึงขั้นมีการเสนอให้ไปจ่ายสินบนในกระโปรงรถเบนซ์ ในสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง เป็นการจ่ายเงินสดๆ แบบไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น รายนี้มีการกล่าวอ้างว่านำเงินส่วนนี้ ไปให้นายใหญ่ที่เป็นผู้หญิง เพื่อแลกกับการนั่งอยู่ในตำแหน่งขณะนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าเงินก้อนนี้มีคนให้มาเพราะทำงานดีคนบินไทยได้แค่เลี้ยงดูปูเสื่อ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการบินไทยที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีพนักงานและผู้บริหารระดับสูงบางส่วนได้รับสินบน จากการจัดซื้อเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์นั้น ได้รับการยืนยันจาก”นายหน้า”ว่าคนในการบินไทยมีน้อยคนมากที่ได้รับเงินก้อนโตไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะการเลี้ยงดูปูเสื่อ พาไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่มากกว่า
บางครั้งก็พาไปเลี้ยงกันที่ฮ่องกง ไม่ได้ รับเป็นเม็ดเงินก้อนใหญ่ๆ เหมือนกับใครบางคน “คนการบินไทยที่เป็นระดับผู้บริหารระดับกลางๆส่วนใหญ่ได้แค่พาไปเที่ยว หรือไม่บางรายก็ได้นิดๆหน่อยๆ ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนผู้มีอำนาจ” นายหน้าระบุเผยเครื่อยนต์แค่1ใน4ของสินบน “นายหน้า” ยังอธิบายให้ฟังว่าการจัดซื้อเครื่องยนต์ของการบินไทย ในส่วนของเครื่องยนต์แค่1ใน4 ของราคาค่าเครื่องบินหรืออยู่ที่ประมาณ1,000 ล้านบาทต่อเครื่องบิน1ลำ ส่วนที่เหลือจะเป็นตัวเครื่องบิน และอื่นๆมากกว่า การจัดซื้อเครื่องบิน แต่ละครั้งก็มีการเรียกรับสินบนอยู่ไม่น้อย ไม่เฉพาะแต่การเรียกรับสินบนเฉพาะเครื่องยนต์ “ทุกวันนี้บอกได้เลยการบินไทยใช้เครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์เกือบทั้งหมดแล้ว”

นายบัณฑิต นิจถาวร เลขาธิการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต หรือ CAC กล่าวว่า กรณีที่เป็นข่าวให้ตอกย้ำว่าการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นปัญหาใหญ่ที่สะสมมานาน และได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในระบบราชการเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง ซึ่งต้องรวมถึงการปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้โปร่งใส และตรวจสอบได้จากภายนอก
สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นทั้งสามกรณีคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ.และการบินไทยการตรวจสอบคงต้องทำโดยเร็ว เพราะประชาชนอยากทราบข้อเท็จจริง ควรต้องทำอย่างโปร่งใส ซึ่งวิธีหนึ่งคือให้มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก ซึ่งเป็นบุคคลกลางเข้าร่วมกระบวนการตรวจสอบด้วย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงระบบควบคุมภายในของบริษัท และป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีกในอนาคต