หัวข้อข่าว: อึ้ง!70%จ่ายใต้โต๊ะแฉรสก.ทำเป็นธรรมเนียม/ดร.ธรณ์บี้หาผู้บงการ
ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560
ไทยโพสต์ * ผู้ว่าฯ สตง.ลั่นอีกไม่นานได้ตัวแน่แก๊งงาบสินบนฉาวโรลส์-รอยซ์ เชื่อมีคนกลางวิ่งล็อบบี้หิ้วกระเป๋าจ่ายเงิน บอร์ด ปตท.นัดถกศุกร์นี้ “ดร.ธรณ์” กรรมการทุบโต๊ะต้องสาวให้ถึงตัวการทั้งหมดใครเอี่ยวรับเงิน ย้ำครบ 30 วันอ้ำอึ้งไม่ได้ พร้อมเตรียมนำข่าวนอมินีระยองรับดีลงานล็อกสเปกถามที่ประชุมอนุฯ กระทรวงการคลัง แฉเองรัฐวิสาหกิจ 70 เปอร์เซ็นต์จ่ายใต้โต๊ะทั้งสิ้น!
ความคืบหน้ากรณีกระทรวงยุติธรรมและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐอเมริกา ได้ตรวจสอบพบบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม อิงค์ ได้ติดสินบนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาท ทำให้บอร์ดบริษัท ปตท.จะนำเรื่องนี้มาพิจารณากันในที่ประชุมในสัปดาห์นี้
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ กรรมการอิสระบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ด ปตท. เปิดเผยว่า จะมีการประชุมบอร์ด ปตท.ประจำเดือนในวันศุกร์ที่ 27 ม.ค.นี้ โดยเชื่อว่านายเทวินทร์ วงษ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัด การใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน ) จะรายงานเรื่อง การตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้นต่อที่ประชุมบอร์ด ปตท.ในประเด็นสำคัญ เช่น ประเด็นที่กรรมการตรวจสอบซึ่ง ปตท.ตั้งขึ้น กรรมการสอบจะสอบสวนประเด็นใดบ้าง ซึ่งหากที่ประชุมฟังแล้วเห็นว่ากรอบการสอบยังไม่ครบถ้วน ก็จะสั่งให้กรรมการสอบประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน กรณีที่ตกเป็นข่าว แม้ว่าช่วงเวลาตามที่ปรากฏในรายงานของต่างประเทศจะเกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว แต่จะไม่เป็นปัญหาต่อการสอบย้อนหลังแน่นอน เพราะทุกอย่างเป็นเอกสารของบริษัท ปตท.ที่ต้องเก็บไว้อยู่แล้ว จึงสามารถสอบย้อนหลังได้ เพื่อดูว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง โดยเมื่อตั้งกรรมการสอบแล้ว ที่ทาง ปตท.กำหนดระยะเวลาให้สอบสวนภายใน 30 วันนั้น เมื่อถึงเวลาครบกำหนดแล้วมารายงานผลต่อที่ประชุมบอร์ด ปตท.ในเดือนกุมภาพันธ์ กรรมการสอบต้องมีความคืบหน้ามารายงานให้ชัดเจน จะมาบอกแค่ว่ากำลังดำเนินการคงไม่ได้ ต้องมีชัดเจนมากกว่านั้น เรื่องนี้ยังไงต้องสางให้ถึงที่สุด
“เรื่องนี้ต้องสอบสวนให้ได้ข้อเท็จจริงโดยเร็วที่สุด การประชุมบอร์ดวันศุกร์นี้ ที่ประชุมต้องซักถามให้ละเอียด เพราะ ปตท.ให้ความสำคัญกับเรื่องความโปร่งใสเป็นอันดับหนึ่งในการดำเนินงาน หากพบว่าเรื่องนี้เป็นความจริง ก็ต้องขยายผลต่อไปว่าเรื่องนี้สาวถึงใคร ในองค์กร ปตท.มีใครไปเกี่ยวข้อง หากเป็นคนนอก ก็เป็นเรื่องของรัฐบาล ต้องไปดำเนินการ แต่หากเป็นคนในองค์กร ปตท. ก็ต้องเอาให้ชัดว่าใครเกี่ยวข้อง ต้องให้ถึงที่สุด แม้จะทำงานอยู่หรือเลิกทำงานไปแล้วก็ต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด กรรมการที่ ปตท.ตั้งขึ้นมาแล้ว ให้เวลาสอบ 30 วัน ลำดับแรกเมื่อครบกำหนดแล้ว กรรมการสอบจะต้องมารายงานต่อที่ ประชุมบอร์ด ปตท.ให้ได้ ว่าเรื่องนี้ต้องมีโรดแมปการสอบสวนชัดเจนว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะมีการประชุมบอร์ด ปตท.ครั้งหน้า ต้องมีการมารายงานผลให้ชัดเจนว่าสอบไปถึงไหนแล้ว จะมาบอกแค่ว่ากำลังดำเนินการ ตรวจสอบอยู่คงไม่ได้ ต้องมีคำตอบให้กับสังคม ด้วย เพื่อภาพลักษณ์ขององค์กร” ดร.ธรณ์กล่าว
ถามว่า เรื่องที่เกิดขึ้นตามรายงานของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา พบว่าหลายกรณีเกิดขึ้นมาหลายปี จะมีปัญหาในการตรวจสอบย้อนหลังของกรรมการที่ ปตท.ตั้งขึ้นมาหรือไม่ นายธรณ์กล่าวว่า คงไม่มีปัญหาเพราะว่ากระบวนการต่างๆ ในการดำเนินการของภาครัฐ จะต้องมีกรรมการมาพิจารณาแต่ละเรื่อง ยิ่งหากเป็นการจัดซื้อที่มีเงินจำนวนมากเป็นหลักล้าน ร้อยล้าน พันล้าน มันต้องกรรม การตรวจสอบ กรรมการตรวจรับ ตามระบบราชการก็สามารถไปตรวจสอบย้อนหลังได้ว่ามีกรรมการคนไหนเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้นก็ไปดูว่ากรรมการแต่ละคนเกี่ยวข้องอย่างไร มีการตัดสินใจอย่างไร มีข้อมูลเหตุผลที่อ้างอิงได้ชัดเจนหรือไม่ การตรวจสอบทำได้อยู่แล้ว เรื่องนี้มีเอกสารแน่นอน แม้เวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ตาม หากไปตรวจสอบเรื่องทั้งหมดแล้วจะมาบอกว่า เอกสารหายไปหมดแล้วคงไม่ยอมแน่นอน ของอย่างนี้ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะหายไปได้ง่ายๆ
“ผมเป็นกรรมการภาพลักษณ์องค์กร ปตท.ด้วย เราให้ความสำคัญกับเรื่องภาพลักษณ์ องค์กรมาก มีการทำคู่มือป้องกันเรื่องคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน มาวันนี้หากพบว่าสิ่งที่ทำมันมีรูรั่ว ก็ต้องไปดูว่าอยู่ตรงไหน ต้องเข้าใจว่ามาตรฐาน ปตท.ในเรื่องนี้ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมา ในเรื่องการป้องกันการคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ก็แน่นอนว่ามันก็ไม่ได้มีอะไรดีที่สุด เมื่อมันเกิดเหตุ ก็ต้องมาทบทวน บอร์ดก็ต้องมาประชุมกันว่า แล้วต่อไปเราจะป้องกันกันอย่างไรให้มันดีขึ้น เงิน ปตท.ก็เป็นเงินภาษีของผม อะไรที่มันหลุดรอด ผมก็ไม่อยากให้มันเกิด หากมันมีปัญหาขึ้นมา ชื่อเสียงผมที่ทำมากี่ปี ผมไม่เอาไปแลกแน่นอน” กรรมการอิสระ ปตท. กล่าว
ส่วนที่สื่อนำเสนอข่าวเรื่องมีกลุ่มบริษัทนายหน้าอยู่ที่ระยองเพื่อดีลงานกับเอกชน ในลักษณะการล็อกสเปกเครื่องยนต์ ทั้งซื้อตรงวิธีพิเศษหรือล็อกสเปกผ่านนอมินี และล่าสุดผู้รับเหมาตอนนี้กำลังเล็งงานใหญ่โครงการแสนล้าน (ท่อเส้นที่ 5) เรื่องนี้นายธรณ์กล่าวว่า ทราบผ่านๆ ว่าสื่อเสนอข่าว อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องนี้อาจเป็นโครงการของ ปตท.สผ. แต่การดำเนินการเรื่องสำคัญๆ ก็ต้องให้บริษัทแม่คือบริษัท ปตท.รับรู้ ต้องนำเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่ ปตท. เพราะ ปตท.ใหญ่ต้องดูภาพลักษณ์ขององค์กรทั้งหมดในเครือ เรื่องนี้ก็รอข้อมูล หากมีอะไรชัดเจน ก็อาจจะนำไปสอบถามในที่ประชุมบอร์ด ปตท.วันศุกร์นี้
“เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับภาพลักษณ์องค์กร ทุกอย่างต้องรีบเคลียร์ ผมในฐานะบอร์ด ปตท. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากที่สุด เพราะเรื่องอื่นไม่ต้องไปพูดเลยว่าปตท.กำไรเท่าไหร่ หากองค์กรไม่ขาวสะอาด เพราะสิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่ ปตท.ได้มา ต้องได้มาจากความซื่อสัตย์สุจริต” นายธรณ์กล่าว
สตง.ฟันธงมีรับสินบนแน่
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า ทาง สตง.ได้ส่งสายตรวจตรวจสอบหลักฐาน การจัดซื้อของทั้งบริษัท การบินไทยฯ และบริษัท ปตท.แล้ว โดยจะรวบรวมหลักฐานกระบวนการจัดหา ผู้เสนออนุมัติ ว่าประกอบด้วยใครบ้าง พร้อมเอาข้อมูลจากต่างประเทศมาตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลต์ โดยเชื่อว่ามีหลักฐานการเงินเป็นข้อมูลเจาะจงตัวบุคคล ว่าจ่ายเงินให้ใคร เพราะเอาผิดจากผู้จ่ายเงินสินบน ซึ่งต้องมีรายชื่อคนไทยทั้งหมดที่ไปรับเงินจากบริษัทโรลส์-รอยซ์ จะเห็นว่าแม้ย้อนหลังไปกี่ปี กฎหมายต่างประเทศก็เอาผิดได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้นำเอาแบบอย่างการจัดซื้อของต่างประเทศมาใช้ในไทย เพื่อแก้ไขการคอร์รัปชันได้ผลดีขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ เรียกว่าการทำสัญญาคุณธรรม ที่ขณะนี้หลายหน่วยงานนำไปใช้แล้วและคดีทุจริตไม่มีอายุความ
นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า กรณีบริษัท ปตท.รับสินบนในปี 2556 นั้น หาหลักฐานได้ไม่ยาก โดยเฉพาะหลักฐานการจัดซื้อกระบวนการอนุมัติจัดหา การเลือกเครื่องยนต์กลไก ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยจะมีคณะกรรมการศึกษาด้านเทคนิค เสนอใครตัดสินใจ เลือกซื้อยี่ห้อนี้ และเสนอรัฐมนตรี เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหรือไม่ มาประกอบกับหลักฐานจากต่างประเทศ
“เรื่องนี้ต้องมีคนกลางวิ่งล็อบบี้เพื่อจ่าย สินบนให้หน่วยงานไทย อาจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ล็อบบี้ทั้ง ปตท.และการบินไทย ให้ซื้อเครื่องยนต์ของบริษัทโรลส์-รอยซ์ และเชื่อว่าจะมีการระบุรายชื่อว่าจ่ายเงินให้ใคร เหมือนกรณีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คาดว่าไม่นานจะได้รายชื่อคนไทยรับเงินจากบริษัทนี้ ถ้าได้หลักฐานมาก็จบได้เร็ว” นายพิศิษฐ์กล่าว
ภาคีต้านคอร์รัปชันขอร่วมสอบ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ (สปท.) ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันกล่าว ถึงเรื่องข่าวสินบนบริษัทโรลส์-รอยซ์ว่า ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันได้เสนอ รมว.คมนาคมว่า ในการแต่งตั้งผู้ที่จะเข้าไปสอบสวนเรื่อง ดังกล่าว ให้รวมภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรม การด้วย เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นว่าไม่ใช่เป็นการทำภายในเท่านั้น เพื่อจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการที่จะหาข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ขณะนี้เรากำลังรอคำตอบอยู่
“ครั้งนี้ค่อนข้างจะมีหลักฐาน เนื่องจากบริษัทผู้ให้สินบนเป็นผู้ออกมายอมรับเอง หลักฐานเชื่อถือได้พอสมควร ยากที่จะผู้รับจะปฏิเสธ แตกต่างจากกรณีในอดีต ดังนั้นถ้ามีการติดตามน่าจะมีหลักฐานชัดเจน ชื่อหรืออะไรที่บ่งชี้ว่าเป็นใครชัดเจนพอสมควร หลายคนที่เกี่ยวข้องยังมีชีวิตอยู่ แม้เรื่องจะนานแล้วอาจจะหมดอายุความในบางกรณี แต่อีกหลายกรณียังอยู่”
เมื่อถามย้ำว่า แต่ถ้าดูจากชื่อผู้บริหารในยุคนั้นแต่ละคนเป็นบิ๊กๆ ทั้งนั้น จะเอาผิดได้หรือไม่ นายประมนต์ กล่าวว่า บิ๊กๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่มีชื่อจะเกี่ยวข้องด้วย อย่าเพิ่งไปเหมารวมหรือปรักปรำเขา เท่าที่ดู ข้อมูลจากองค์กรตรวจสอบอังกฤษ เรื่องนี้มีตัวยืนอยู่คนสองคน แต่อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อย่าให้เป็นมวยล้ม ต้องดูว่าภาครัฐหนักแน่นหรือเอาจริงแค่ไหน องค์กรตรวจสอบต่างๆ อย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และองค์กรอื่นๆ เอาจริงแค่ไหน เราต้องคอยจี้ทุกองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
นายประมนต์กล่าวว่า ปัจจุบันสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐไปแล้ว น่าจะประกาศใช้ได้อีก 1-2 เดือน ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นการพยายามปิดการรั่วไหล แต่จะเพียงพอหรือไม่ ตรงนี้เราจะต้องมาดูกันว่าจะต้องปรับปรุงหรือเสริมอะไรเข้าไปอีก
นายมนูญ ศิริวรรณ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการด้านพลังงาน สภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีตผู้บริหารบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ กล่าวว่า สำหรับ ปตท.ค่อนข้างมีระเบียบตรวจสอบที่รัดกุม โดยเฉพาะตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา ได้มีการควบคุมดูแลกันมากขึ้น อย่าง ปตท. เวลาจะเปิดประมูลโครงการใหญ่ๆ จะเปิดให้ภาคเอกชน องค์กรต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเข้าไปร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบด้วยตลอดเวลา มีบทลงโทษที่รุน แรงมากขึ้น แต่ต้องเข้าใจว่าเรื่องแบบนี้ถ้ามีการสมรู้ร่วมคิดกันตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ก็เป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการแทรกแซงหรือสั่งการจากทางการเมืองมา ก็อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ถามว่าจะส่งผลต่อ ปตท.หรือไม่ นาย มนูญกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องในอดีต แต่อาจจะส่งผลมาถึงปัจจุบันบ้าง แต่ต้องยอม รับว่าในอดีตมันมีการแทรกแซงทางการเมืองสูง โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่งรัฐบาลปฏิวัติบางยุค ถ้าย้อนไปดูจะเห็นว่า ปตท.เองยังไม่หลุดพ้นจากอำนาจทางการเมืองเสียทีเดียว ทางที่ดีที่สุดก็ควรให้ ปตท.พ้นจากการแทรกแซงทางการเมืองจะเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด
สินบนงาบไป 3,417 ล้านบาท
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะ เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป คณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ได้ทำการประ เมินมูลค่าปัจจุบันของสินบนโรลส์-รอยซ์ในเบื้องตัน พบว่ามีมูลค่าปัจจุบันโดยรวมจากการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน 3 ครั้ง โดยรวมประมาณเท่ากับ 3,417 ล้านบาท (กรณีแรกใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 5% คำนวณ) เท่ากับ 2,780 ล้านบาท (กรณีที่สอง ใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 4%) หรือเท่ากับ 2,263 ล้านบาท (กรณีที่สาม ใช้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 3%) โดยทั้งสามกรณีใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ 32-35 บาทต่อดอลลาร์ มูลค่าปัจจุบันของสินบนที่ระดับ 2,263-3,417 ล้านบาทนี้ จะเห็นได้ชัดว่าความเสียหายและมูลค่าสินบนสูงสุดในยุครัฐบาลรัฐประหาร เผด็จการ รสช.ในปี พ.ศ.2534-2535 อยู่ที่ประมาณ 1,386-2,248 ล้านบาท
“จะเห็นได้ว่ากรณีสินบนโรลส์-รอยซ์ นี้ เป็นกรณีตัวอย่างสะท้อนว่าการทุจริตคอร์รัป ชันในประเทศไทยนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ยังเกี่ยวข้องกันนักการเมืองแต่งตั้งโดยอำนาจรัฐประหารด้วย เกี่ยวข้องกับผู้นำกองทัพ เกี่ยวข้องกับข้าราชการระดับสูง และผู้บริหารรัฐวิสาหกิจและบอร์ดรัฐวิสาหกิจอีกด้วย”
“ผมในฐานะอนุกรรมการประเมินผลรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ที่ทำหน้าที่มาหลายรัฐบาล ขอเรียนว่า กรณีการบินไทยไม่ใช่กรณีเดียวอย่างแน่นอนที่มีการติดสินบนการจัดซื้อจัดจ้างเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างไม่ต่ำ 60%-70% ของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีปัญหาเช่นนี้ การติดสินบนหรือคอร์รัปชันในลักษณะนี้ได้ทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติปกติ เป็นที่เอือมระอาของบรรดานักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลายที่ไม่เห็นด้วยกับระบบอันฉ้อฉลนี้” นายอนุสรณ์ระบุ
นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า การติดสินบนเช่นนี้ และการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นเสมอ และหลายกรณีก็ไม่ปรากฏว่าเอาผิดใครได้ ทั้งกรณี CTX กรณีการจัดซื้ออาวุธ การรั่วไหลจากการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร เป็นต้น ระบบราชการและรัฐวิสาหกิจจึงซื้อของไม่มีคุณภาพและราคาแพง กิจการหรือบริษัทดีๆ ที่ไม่ยอมจ่ายสินบนบางแห่งถึงขั้นล้มละลาย ภาคเอกชนไทยก็จะลงทุนทางด้านวิจัยและสร้างนวัตกรรมน้อย แต่จะใช้เงินไปสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ ข้าราชการระดับสูงในหลายกรมก็ไปเป็นที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เอื้อประโยชน์ให้กันโดยไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล การแต่งตั้งอธิบดีบางกรมต้องผ่านความเห็นชอบกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่รับสัมปทานจากรัฐก่อน ระบบแบบนี้สั่นคลอนระบบคุณธรรมในระบบราชการ ส่วนต่างค่าคอมมิชชั่นหรือสินบนไปอยู่ในกระเป๋าของผู้มีอำนาจทั้งในระบบรัฐวิสาหกิจ ระบบราชการ และระบบการเมืองทั้งแบบแต่งตั้ง โดยรัฐประหารหรือเลือกตั้ง ขณะที่ภาคเอกชนที่ได้งานไปก็จะนำการจ่ายสินบนคิดเป็นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ บางแห่งจ่ายผ่านบริษัทที่ปรึกษาก็คำนวณเป็นต้นทุนเช่นเดียวกัน ไม่มีเอกชนรายใดยอมขาดทุน ก็จะไปลดคุณภาพของที่ส่งมอบให้ราชการ ทำให้ราชการได้ของใช้คุณภาพต่ำ หรือบางทีใช้ไม่ได้ก็มี เช่น กรณีโกงกล้ายาง กรณีรับจำนำข้าว กรณี GT200 กรณีเรือเหาะ จึงเป็นเรื่องเศร้ามากๆ สำหรับประเทศที่มีการทุจริตคอร์รัปชันประมาณปีละ 120,000-400,000 ล้านบาท (ตัวเลขจากหอการค้าไทย) ที่ต้องกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจทั้งที่บางโครงการไม่ต้องกู้ หากสามารถลดหรือหยุดการทุจริตคอร์รัปชันได้สัก 50% ของมูลค่าคอร์รัปชันและมูลค่าสินบนที่มีอยู่ในสังคมไทย.