หัวข้อข่าว: เร่งคลอดกฎหมายใหม่-นายกฯถกแก้ทุจริตภาครัฐวันนี้ รื้อใหญ่ระบบ’จัดซื้อจัดจ้าง‘
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560
สคร.สั่งตัวแทนคลังในรัฐวิสาหกิจคุมเข้ม พร้อมให้การบินไทย ปรับระบบใหม่
“ประยุทธ์” ประชุม “มินิ คาบิเนต” ถกแก้ปัญหาทุจริตภาครัฐ “สมคิด”ชี้เสนอเข้มงวดจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดราคากลาง เพิ่มการสื่อความสร้างความเข้าใจ แนะหน่วยราชการตั้งคณะกรรมการคุมเข้มโครงการขนาดใหญ่ ขณะสคร.สั่งผู้แทนคลังตรวจเข้มจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมให้การบินไทยรื้อระบบจัดซื้อจัดจ้าง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการ แผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดย่อยหรือมินิ คาบิเนต ของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(ป.ย.ป.) ในวันนี้ (30 ม.ค.)
โดยจะหารือการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ภายหลังจากที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้คะแนนและจัดอันดับประเทศไทยในปี 2559 ลดลงไปอยู่ที่อันดับ 101 เป็นอันดับที่ต่ำลงจากปีก่อนหน้าซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 76
นอกจากนี้ จะหารือประเด็นการจ่ายสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ ในการจัดซื้อ จัดจ้างของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เรื่องดังกล่าวได้หารือในที่ประชุมครม.มาแล้ว และในการประชุมวันนี้จะหารือร่วมกันอีกครั้งเกี่ยวกับการ แก้ปัญหาคอร์รัปชันในระยะต่อไปต้องให้ความสำคัญกับการจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดราคากลาง ถือเป็นการอุดรูรั่วและแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันได้ดีที่สุด
นายสมคิด กล่าวว่า ได้กำชับกับหน่วยงาน ที่มีส่วนรับผิดชอบหลัก เช่น สำนักงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กรมบัญชีกลาง รวมทั้งกระทรวงต่างๆ ที่จัดซื้อ จัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้ความสำคัญ ในเรื่องการกำหนดราคากลาง และการจัดซื้อ จัดจ้างให้เข้มงวด เพราะเรื่องที่มีปัญหาในอดีตจะเห็นได้ว่าเกิดจากขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้าง
ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้และนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้หากมีข้อเสนอ แก้ปัญหา หรือจำเป็นต้องออกกฎหมายเพิ่มเติม หรืออาจต้องใช้อำนาจตาม ม.44 เพื่อผลักดันแก้ปัญหาเรื่องนี้ให้รวดเร็วขึ้นก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่จะสั่งการได้
“การทำงานของรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ต้องให้ความสำคัญกับการสื่อความ ให้ข้อมูลกับสังคม และให้ข้อมูลไปยังต่างประเทศเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลได้ แก้ปัญหาเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกันหากพิจารณาจากคะแนนที่ไทยได้ในแต่ละด้านเราจะพบว่าคะแนนการใช้อำนาจภาครัฐไปทุจริต ในเรื่องนี้เราได้คะแนนดีขึ้น เช่นเดียวกับในส่วนที่เป็นคะแนนการติดสินบนของเจ้าหน้าที่ก็ดีขึ้น แต่คะแนนที่ปรับลดลงเป็นคะแนนที่มาจากการสำรวจความคิดเห็นซึ่งเมื่อคะแนนส่วนนั้นลดลงก็กลายเป็นฉุดให้อันดับเราลดลงด้วย”นายสมคิด กล่าว
“สคร.”สั่งผู้แทนคลังเข้มจัดซื้อรสก.
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบาย รัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้สั่งไปยังผู้แทนกระทรวงการคลัง ที่ดูแลรัฐวิสาหกิจ (รสก.) แต่ละแห่ง ให้เพิ่มความเข้มงวดต่อการตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อ จัดจ้างโดยต้องโปร่งใสมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
“ล่าสุดได้ส่งหนังสือไปยังผู้แทนคลังที่ดูแลแต่ละรัฐวิสาหกิจทั้งหมดว่า เนื่องจากคนร.ให้ความสำคัญกับระบบธรรมาภิบาล ขอให้ผู้แทนคลังรายงานถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจ และขอให้กำกับให้รัฐวิสาหกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงปัญหาความโปร่งใสในอดีต เพื่อนำมาทบทวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึง ให้รัฐวิสาหกิจร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช.หรือ สตง.และเพื่อป้องกันการทุจริต ให้รัฐวิสาหกิจเพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อให้นำระบบคุณธรรมมาใช้”
ดึง”เอกชน”นั่งบอร์ดจัดซื้อ
นายเอกนิติ ยังกล่าวว่า เหตุการณ์ทุจริตที่เกิดขึ้นในรัฐวิสาหกิจ เช่น กรณีรับสินบน ในการบินไทย และปตท. ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น มาแล้วในอดีตนับจากปี 2534-2548 ตอนนั้น ระบบการจัดซื้อจัดจ้างยังเป็นระบบเก่า แต่ระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้พัฒนาระบบการจัดซื้อที่ดีขึ้น ถามว่า วันนี้ ที่ทำเพียงพอหรือไม่ ก็ถือว่า ทำได้ดีระดับหนึ่ง ซึ่งต้องเข้าใจด้วยว่า แม้ระบบจะดีแค่ไหน แต่คนที่ต้องการโกงก็จะหาช่องโหว่
“ขณะนี้ผมให้เขาเอาข้อตกลงคุณธรรม ที่นำตัวแทนภาคเอกชนเข้าเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานต่างๆ แต่ที่ผ่านมา ใช้แบบอาสาสมัคร เช่น โรงงานยาสูบ รวมถึงโครงการส่งเสริมความโปร่งในการก่อสร้างภาครัฐ ที่จะเปิดเผยข้อมูลการลงทุนให้แก่ ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำแบบ สมัครใจเหมือนกัน ที่ผ่านมา เอโอที (บมจ.ท่าอากาศยานไทย) ก็ใช้ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ก็สมัครเข้ามา แนวทางนี้ กรมบัญชีกลางได้นำมาใช้และระบุไว้ในกฎหมายจัดซื้อใหม่ ตรงนี้ จะอยู่ในระบบที่ไม่ใช่เป็นระบบใครอยากจะทำ โดยกรม บัญชีกลางจะเป็นคนดูเกณฑ์ว่าใครจะเข้ามา จะเห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราเอาโครงสร้างนี้มาใช้ หวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา”
ระบุก.ม.2ฉบับช่วยจัดซื้อโปร่งใส
นายเอกนิติ กล่าวว่า หัวใจของการป้องกัน การทุจริตที่สามารถดำเนินการได้ คือ การออกกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ที่จะครอบคลุมระบบการจัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ จะวางกติกาการจัดซื้อที่สร้างความเป็นธรรม โปร่งใส โดยจะนำระบบการซื้อแบบที่ เรียกว่า องค์กรคุณธรรมเข้ามาใช้ ซึ่งจะมีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมตรวจสอบ และ จะเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับรัฐวิสาหกิจ บางแห่งที่มีกฎหมายการจัดซื้อเป็นของ ตัวเอง จะขอยกเว้นการจัดซื้อไม่ต้องอยู่ภายใต้ กฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ได้ แต่กรมบัญชีกลางในฐานะที่ดูแลกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นผู้พิจารณาว่า กฎหมายของรัฐวิสาหกิจที่ขอใช้กฎหมายของตัวเอง เป็นกฎหมายที่มีความโปร่งใสเพียงพอหรือไม่ ซึ่งสคร.เห็นด้วยกับการจัดซื้อที่ควรจะยืดหยุ่นในบางรัฐวิสาหกิจ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
หวังช่วยลดปัญหาทุจริตในรสก.
นอกจากนี้ ในร่างกฎหมายพัฒนากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจจะเป็นหนึ่งในช่องทางที่จะช่วยลดปัญหาการทุจริตในรัฐวิสาหกิจ โดยจะลดการแทรกแซงทางการเมืองในการ แต่งตั้งกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน การแต่งตั้งกรรมการในรัฐวิสาหกิจจะขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง แต่ในร่างกฎหมายพัฒนากำกับดูแลรัฐวิสาหกิจจะกำหนดให้การแต่งตั้งกรรมการในรัฐวิสาหกิจมาจากการสรรหาเท่านั้น “แม้กฎหมายฉบับนี้จะไม่ช่วยโดยตรง ในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง แต่จะช่วยทางอ้อม ในเรื่องระบบธรรมาภิบาลในภาพรวม ที่จะลดการแทรกแซงทางการเมือง ในการ แต่งตั้งกรรมการ เพราะเดิมให้อำนาจแต่งตั้ง โดยผู้มีอำนาจ ไม่มีกระบวนการสรรหา” นายเอกนิติกล่าวและว่าขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยนายกรัฐมนตรี ได้เร่งให้พิจารณา คาดว่า ภายในเดือนก.พ.จะแล้วเสร็จ
สั่ง”การบินไทย”ปรับระบบจัดซื้อ
สำหรับการบินไทย ขณะนี้อยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ สคร.ได้สั่งให้ไปจัดทำระบบการจัดซื้อใหม่ ที่เรียกว่า การจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรฐานโลก (Global Procurement) ซึ่งจะนำ ระบบไอทีเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เพื่อให้ สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆ ได้รวมถึง การนำระบบองค์กรคุณธรรมมาใช้ในการจัดซื้อ
“กรณีการบินไทย อยู่ในแผนที่ต้องฟื้นฟูกิจการ เราก็สั่งให้ทำระบบ Global Procurement เพราะอุตสาหกรรมการบิน ก็นำระบบนี้มาใช้ เช่น นำระบบไอทีเข้ามาใช้ ประมูลจัดซื้อต่างๆ ระบบสายการบินอื่นเขาจะมีวิธีการจัดซื้อ ไม่ว่าระบบการจัดซื้ออาหารที่ผ่านเอเย่นต์ ก็ให้เขาไปดูมาตรฐานการจัดซื้อที่เป็นสากลว่า เขาทำอย่างไร”
สำหรับการจัดซื้อด้วยระบบเอเย่น ได้มอบนโยบายแก่ผู้แทนคลังในรัฐวิสาหกิจต่างๆ ไปว่า ให้ดูถึงความจำเป็น หากไม่จำเป็น ต้องใช้เอเย่นต์ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ โดยให้พิจารณาเป็นรายกรณี
ชี้แก้คอร์รัปชันต้องใช้เวลา
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า จาก ผลคะแนนดัชนีความโปร่งใส และอันดับ ดัชนีคอร์รัปชันของไทยที่ปรับลดลง องค์การต่อต้านคอร์รัปชันกำลังอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับนักวิชาการและสถานศึกษาในการวิเคราะห์ถึงผลคะแนนในด้านต่างๆ ที่ทำให้อันดับของประเทศไทยตกลง
โดยภายในสัปดาห์นี้องค์กรฯจะประกาศแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของไทยในระยะต่อไป ซึ่งอาจจะออกมาในรูปแบบของแถลงการณ์หรือการให้ข้อมูลแก่สาธารณะ
“การบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการ ในการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชันอาจต้องใช้ เวลาถึงจะเห็นผลที่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากประเทศไทยมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 -5 ปี คาดว่าการแก้ปัญหานี้จะได้ผล และทำให้อันดับของไทยสามารถปรับตัวดีขึ้นในการจัดอันดับครั้งต่อๆ ไป”