ผวาเช็กกันวุ่น สินบนซีซีทีวีสภา ทอท.โผล่โต้ว่าจ้าง’ไทโค’

หัวข้อข่าว: ผวาเช็กกันวุ่น สินบนซีซีทีวีสภา ทอท.โผล่โต้ว่าจ้าง’ไทโค

ที่มา: เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2560

 

สภา สะดุ้งปมสินบนซีซีทีวี สั่งเช็กข้อมูลด่วน ทอท.ออก โรงยืนยันสร้างสนามบินสุวรรณภูมิโปร่งใส แจง “ไทโค” ไม่มีนิติกรรมสัญญาใดเกี่ยวข้องกัน ระบุอิตาเลียนไทยเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัย เตรียมตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้กระจ่าง “องอาจ” แนะรัฐใช้วิกฤติพลิกเป็นโอกาส สังคายนารัฐวิสาหกิจปลอดคอร์รัปชั่น ล้อมคอกกันนักการเมือง-ผู้มีอำนาจ แสวงหาประโยชน์ “โพล” ห่วงปมสินบนต่างชาติ กระทบภาพลักษณ์ประเทศไทย แนะใช้ ม.44 ล้างบางคอร์รัปชั่นให้สิ้นซาก ศอตช. เด้งรับลูก เล็งหารือปราบปรามทุจริตรับสินบนอย่างจริงจัง

 

จากกรณีที่สำนักงานสืบสวนการฉ้อฉลรุนแรงของสหราชอาณาจักร (เอสเอฟโอ) เปิดโปงข้อมูล บริษัท โรลส์รอยซ์ จ่ายสิน บนซื้อขายเครื่องยนต์โรลส์รอยซ์ให้กับประเทศไทย อดีตผู้บริหารและพนักงาน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) รวมเป็นเงินนับ 1,000 ล้านบาท นอกจากนี้มีการเปิดเผยข้อมูลบริษัทต่างชาติจ่ายสินบนคว้างานในสนามบินสุวรรณภูมิ ติดตั้งกล้องซีซีทีวีในรัฐสภาของไทยและการวางระบบจราจรที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยมีหลายฝ่ายเร่งตรวจสอบการทุจริต พยายามรวบรวมข้อมูลและติดตามหาตัวผู้กระทำผิดอย่างเร่งด่วนแล้ว ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

 

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวว่า บริษัท ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขายระบบรักษาความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์ ได้จ่ายสินบนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ระหว่างปี 2547-2548 และทำให้บริษัทได้กำไรเป็นเงิน 879,258 ดอลลาร์สหรัฐ ว่า ทอท. ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวแล้ว

 

นายนิตินัย กล่าวขอชี้แจงด้วยว่า โครงการก่อสร้างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ หรือปัจจุบันคือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นโครงการดำเนินการโดย บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัดหรือ บทม. ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในขณะนั้นให้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มการก่อสร้างในเดือน ม.ค. 2545 โดยมีสัญญาจ้างบริษัทรับเหมาก่อ สร้างพร้อมติดตั้งอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยของสนามบินคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ขณะที่ บริษัท ไทโค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไม่ได้มีนิติกรรมสัญญาใด ๆ กับโครงการก่อสร้าง สนามบินสุวรรณภูมิ กระทั่งต่อมาในช่วง ปลายปี 2548 จึงได้โอนการบริหารสนามบินสุวรรณภูมิให้กับ ทอท. และเปิดให้บริการในเดือน ก.ย. 2549

 

นายนิตินัย กล่าวด้วยว่า ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนถูกต้องและเพื่อชี้แจง ต่อสาธารณชนและหน่วยตรวจสอบต่าง ๆ ทอท. จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วนต่อไป พร้อมยืนยันว่า ทอท. มีความมุ่งมั่นจะดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส โดยได้นำโครงการลงทุนก่อสร้างสำคัญและมีมูลค่าการลงทุน สูงเข้าร่วมเป็นโครงการต้นแบบตามโครงการ ของคอนสตรัคชั่น เซคเตอร์ ทรานสพาเรนซี อินิเททีฟ หรือคอสต์ ซึ่งเป็นองค์กรมีวัตถุ ประสงค์หลักในการช่วยยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสและการตรวจสอบโครงการก่อสร้างของภาครัฐ โดยใช้กลไกการเปิดเผยข้อมูลพื้นฐานในทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้อง กับการดำเนินงานในโครงการก่อสร้างของ ภาครัฐ เพื่อนำมาใช้ยกระดับมาตรฐานความโปร่งใสในโครงการก่อสร้างของภาครัฐในประเทศไทยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น

 

ขณะที่ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกระทรวงยุติธรรม สหรัฐอเมริกา เปิดเผยข้อมูลการจ่ายสินบนแก่บุคคล อ้างตัวเป็นที่ปรึกษาโครงการติดตั้งกล้องซีซีทีวีในรัฐสภา ปี 2549 ว่า เพิ่งทราบข่าวจากสื่อมวลชน ตนยังไม่ทราบรายละเอียดโครงการดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องย้อนหลังไป 10 ปี จึงต้องขอตรวจสอบข้อมูลก่อน โดยจะเรียกผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามว่า เป็นโครงการของหน่วยงานใดเสนอขึ้นมาและดำเนินการติดตั้งจริงหรือไม่ อีกทั้งสมัยนั้นใครเป็นผู้รับผิดชอบ

 

นายสรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ส่วนจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ เนื่องจากต้องรอดูนโยบายของ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า จะมีดำริเรื่องนี้อย่างไร และหากมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อหน่วยงานใด จะต้องดำเนินการหาข้อเท็จจริงและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

 

ด้าน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีสินบนข้ามชาติว่า การจัดซื้อจัดจ้างในรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหารับเงินใต้โต๊ะและทำกันจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติปกติ สร้างความเสียหายให้กับชื่อเสียงของประเทศ ไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลควรใช้วิกฤติจากสินบนข้ามชาติในครั้งนี้ ใช้เป็นโอกาสสังคายนารัฐวิสาหกิจไทยทั้งระบบ เพื่อให้ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นและให้รัฐวิสาห กิจเป็นองค์กรมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง ไม่ใช่องค์กรผลาญชาติ

 

นายองอาจ กล่าวต่อว่า การสังคายนาองค์กรรัฐวิสาหกิจ มี 3 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1. ให้มีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ 2. ควรใช้วิธีการคัดเลือกสรรหาแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจด้วยระบบคุณธรรมอย่างเคร่งครัด และ 3. การได้มาซึ่งประธานและกรรมการบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ควรมีกระบวนการให้ได้บุคคลมีความรู้ความสามารถ เพื่อทำประโยชน์ให้องค์กรอย่างแท้จริง

 

นายองอาจ กล่าวด้วยว่า นอกจากทำ ให้รัฐวิสาหกิจเป็นองค์กรปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว ยังต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเข้ามาใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์เกาะกินรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป พร้อมฝากให้ผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องช่วยกันทำให้รัฐวิสาหกิจให้ปลอดจากคอร์รัปชั่น พร้อมเชื่อมั่นว่าหากรัฐวิสาหกิจปลอดทุจริต จะทำให้มีศักยภาพที่เข้มแข็งและมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างแน่นอน

 

ทางด้าน นายนพดล กรรณิกา ประธานชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชนและ ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยว่า สำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้สำรวจความเรื่อง “โพลความกังวลของคนคอการเมืองต่อข่าว รับสินบนของอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ” โดยสอบถามประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทุกสาขาอาชีพ 1,256 คน พบว่าประชาชนร้อยละ 60.6 ทราบข่าวบริษัทเอกชนข้ามชาติจ่ายสินบนอดีตเจ้าหน้าที่รัฐ จัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบินโบอิ้ง ในช่วงปี 2548 โดยมีประชาชนร้อยละ 84.6 กังวลต่อผลกระทบของข่าวรับสินบนต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ขณะที่ประชาชนร้อยละ 76.2 ระบุควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นให้หมดไป

 

ทางด้าน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า เรื่องราวทุจริตให้สินบนเกิดขึ้นในอดีต ทางการต่างประเทศได้ลงโทษบริษัทเอกชนและบุคคลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ในบ้านเราพวกรับสินบนไม่ว่านักการเมือง ข้าราชการ เอกชน ยังไม่ได้ถูกลงโทษ จึงต้องหาตัวผู้เกี่ยวข้องและไม่น่าจะยากนัก เพราะทุกเรื่องระบุปีสั่งซื้อสินค้า มีหลักฐานเป็นเอกสารการ การจัดซื้อ จัดจ้าง และมีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทาง โดย ศอตช. ได้ประสานหน่วยตรวจสอบให้ดำเนินการแล้ว และจะใช้ทุกช่องทางและอำนาจตามกฎหมาย ทำให้เกิดความกระจ่างชัด และเสนอรัฐบาลโดยเร็ว

 

นายสุวพันธุ์ กล่าวด้วยว่า บทเรียนสำคัญจากจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูงมาก ๆ จากต่างประเทศ มีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริต และมีความคล้ายคลึงกัน คือ การทุจริต จ่ายสินบน รับสินบน มีนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจคนไทยและต่างชาติ เข้ามาเกี่ยวข้องร่วมมือกัน รับเงินด้วยกัน มากน้อยต่างกันไป จึงต้องตรวจสอบลงลึกไปว่ามีใครเกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงไปถึงใครอีกบ้าง มีนอมินีคนใดรับเงินแทน หรือจ่ายเงินสดให้กัน อีกทั้งต้องนำบทเรียนนี้มาป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีกต่อไป.