หัวข้อข่าว: ‘บิ๊กตู่‘ระดมองค์กรปราบโกง ปิดช่องผลาญงบ 18 กลุ่มจังหวัด
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
1ในนโยบายที่มีเม็ดเงินนับแสนล้าน ของโครงการตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงินกว่า 1.15 แสนล้านบาท ถูกหลายฝ่ายจับตา
ในทุกจังหวะที่รัฐบาล เทงบประมาณนับแสนล้าน ลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ย่อมถูกจับตาจากฝ่ายค้านนอกสภาอย่างไม่ลดละ แม้ขณะนี้อยู่ในช่วงรัฐบาลทหาร คุมอำนาจเบ็ดเสร็จ
รัฐบาลจึงต้องกำชับการใช้งบฯทุกบาท ทุกสตางค์ให้คุ้มค่า ขีดเส้นใต้ตัวแดงว่า “ต้องไม่มีทุจริต”
“ประยงค์ ปรียาจิตต์” เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จึง กล่าวว่า
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯและหัวหน้า คสช. ได้ให้นโยบาย ศอตช.ว่าให้ตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริต ป้องกันตั้งแต่ต้นทาง เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา ตลอดจนการทำสัญญา อย่างไรก็ดี จะไม่ทำให้เกิดความไม่สะดวกจนทำให้โครงการต้องหยุดชะงัก แต่หากเกิดการทุจริตขึ้นจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด”
“ปัจจุบัน ศอตช.มีหน่วยงานตรวจสอบร่วมกันทำงานบูรณาการ ได้แก่ ป.ป.ท.ซึ่งมีหน่วยงานตรวจสอบระดับภาค 1-ภาค 9 ขณะที่ สตง.และ ป.ป.ช.มีสำนักตรวจสอบระดับจังหวัดทั่วประเทศ โดยหน่วยงานระดับจังหวัดนี้จะลงพื้นที่
เพื่อตรวจสอบไม่ให้เกิดการทุจริต”
สำหรับงบประมาณเพื่อจัดสรรตามแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ในโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด มีวงเงิน 75,057 ล้านบาท ใน 18 กลุ่มจังหวัด ตกแล้วจังหวัดละ 1 พันล้านบาทประกอบด้วย
1.ภาคใต้ รวม 3 กลุ่ม อาทิ โครงการศึกษาออกแบบทางรถไฟสายใหม่ ช่วงอำเภอดอนสัก เชื่อมรถไฟสายใต้ สุราษฎร์ธานี 69 ล้านบาท
พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน อาทิ โครงการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจเพื่อความ เข้มแข็งและยั่งยืนกลุ่มจังหวัด จำนวน 1,500 ล้านบาท รถไฟฟ้าชุมพร-ท่าเรือ น้ำลึกระนอง การก่อสร้างสะพาน เกาะลันตาช่วงแรก (บ้านหัวหิน-บ้านคลองหมาก)
พื้นที่ภาคใต้ชายแดน อาทิ โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือปัตตานี 40 ล้านบาท โครงการพัฒนาท่าอากาศยานนราธิวาส 60 ล้านบาท
2.ภาคตะวันออก อาทิ บูรณะช่องจราจรทางคู่ขนานทางหลวงหมายเลข 7 ด้านขวา 3.ภาคกลาง 5 กลุ่ม อาทิ โครงการเนรมิตอยุธยาเพื่อความน่าอยู่และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 606 ล้านบาท
ภาคกลางตอนบน 2 อาทิ ปรับปรุงคลองส่งน้ำ สาย 2-4 ลพบุรี 21 ล้านบาท ก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 205 ลพบุรี 24 ล้านบาท
ภาคกลางตอนล่าง 1 อาทิ โครงการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการทางการแพทย์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต 212 ล้านบาท
ภาคกลางตอนล่าง 2 จำนวน 3,754 ล้านบาท อาทิ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเพชรสมุทรคีรี 1,961 ล้านบาท 4.ภาคเหนือ 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน 1 อาทิ โครงการเพิ่มศักยภาพภาคอุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน 500 ล้านบาท โครงการเพิ่มศักยภาพภาคการเกษตร 793 ล้านบาท
ภาคเหนือตอนบน 2 อาทิ โครงการ ส่งเสริมการค้า การลงทุน Logistics รองรับการเชื่อมโยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพใน การแข่งขัน 1,082 ล้านบาท
ภาคเหนือตอนล่าง 1 อาทิ พัฒนาปรับปรุง ขยายเส้นทางระบบ Logistics เชื่อมโยง East-West Economic Corridor วงเงิน 150 ล้านบาท
ภาคเหนือตอนล่าง 2 อาทิ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางขนส่งและระบบโลจิสติกส์ 1,451 ล้านบาท พัฒนาแหล่งน้ำและระบบบริหารจัดการน้ำ 955 ล้านบาท
5.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 กลุ่มอาทิ พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและระบบกระจายน้ำ 534 ล้านบาท
โครงการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรและการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร 1,731 ล้านบาท
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง อาทิ พัฒนาอาหารเกษตรปลอดภัย 414 ล้านบาท โครงการยกระดับการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดครบวงจร 1,154 ล้านบาท
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 จำนวน 4,472 ล้านบาท อาทิ พัฒนาการเกษตรและอาหารปลอดภัยนครชัยบุรินทร์ 2,979 ล้านบาท พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 509 ล้านบาท
ทุกโครงการจะถูกตรวจสอบโดยกลไกตรวจสอบประหนึ่งตาสับปะรด