ศอตช.เรียกถกปมโรลส์-รอยซ์เลขาฯสภายัน’ซีซีทีวี’โปร่งใส

หัวข้อข่าว: ศอตช.เรียกถกปมโรลส์-รอยซ์เลขาฯสภายัน’ซีซีทีวีโปร่งใส

ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

 

เรียกศอตช.ถกสินบนโรลส์-รอยซ์ในเดือนนี้ เลขาฯสภายันจัดซื้อจัดจ้างกล้องซีซีทีวีถูกต้องตามระเบียบ

 

ศอตช.เตรียมถกสินบน’โรลส์-รอยซ์

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดเผยการดำเนินการของ ศอตช.ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พัวพันการรับสินบนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ ประเทศอังกฤษ ว่า ศอตช.จะเป็นหน่วยคอยอำนวยการประสานงานติดตามและขับเคลื่อน รวมถึงให้แนวทางในการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบให้สามารถดำเนินการไปได้ ดังนั้น สิ่งที่ ศอตช.ทำอยู่ตอนนี้คือประสานงานกับหน่วยตรวจสอบกลาง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งได้มอบหมายให้นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการ ศอตช. ติดตามประสานงานในเรื่องนี้

 

“อยากให้พวกเราได้รอดูผลการตรวจสอบจากหน่วยตรวจสอบกลางเขาเป็นอย่างไรบ้าง ส่วน ศอตช.จะประสานงานเพื่อรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ กับเรื่องมาตรการทั้งในเชิงป้องกัน เชิงการบังคับใช้กฎหมาย” นายสุวพันธุ์กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเรียกหน่วยงานที่อยู่ใน ศอตช.มาร่วมประชุมเรื่องนี้หรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ในเดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีการประชุม ศอตช.ร่วมกัน แต่ยังไม่ได้มีการกำหนดวัน ซึ่งจะหารือเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ด้วย อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำชับอะไรเรื่องนี้เป็นพิเศษ

 

ประยงค์นัดหารือสัปดาห์หน้า

 

นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวถึงการตรวจสอบสินบนโรลส์-รอยซ์ ว่า นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. มีข้อสั่งการเกี่ยวกับการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน ศอตช. ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มาร่วมกันประชุมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานกันถึงวันในการประชุม โดยคาดว่าจะสามารถเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมร่วมกันได้ภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ การประชุมของ ศอตช.ในครั้งนี้จะถือเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการนัดแรก หลังจากที่นายสุวพันธุ์เข้ามาเป็นประธาน ศอตช. นอกจากเรื่องสินบนโรลซ์-รอยส์แล้ว คงจะมีการหารือถึงทิศทางการทำงานและแนวทางการทำงานร่วมกันของหน่วยงานใน ศอตช.ด้วย

 

เลขาฯสภายันซีซีทีวีโปร่งใส

 

ความคืบหน้าการตรวจสอบว่าการจัดซื้อกล้องซีซีทีวีของรัฐสภาระหว่างปี 2548-2549 ซึ่งกระทรวงยุติธรรมระบุว่ามีการรับสินบน นายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงดังกล่าว ระบุว่า เรื่องนี้ผ่านมานานมากแล้ว และไม่รู้เรื่องสินบนซีซีทีวี แต่จากการติดตามข่าวทราบว่ามีการทำสัญญา 2 ครั้ง คือ วันที่ 30 มีนาคม 2549 และเดือนกุมภาพันธ์ 2552 กระบวนการทั้งหมดตนไม่เกี่ยวข้อง เพราะมีการยุบสภาไปตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 อีกทั้งเป็นเรื่องของฝ่ายประจำดูแล และในช่วงปี 2552 ที่มีการทำสัญญาอีกรอบ คงต้องตรวจสอบดูว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในช่วงนั้น

 

ที่รัฐสภา นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ทำรายงานการตรวจสอบการจัดซื้อกล้องซีซีทีวี เสนอต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว โดยการจัดซื้อเป็นการดำเนินการของสำนักประชาสัมพันธ์ 2 ช่วงคือ ระหว่างปี 2548-2549 และ ระหว่างปี 2551-2552 ซึ่งผลการตรวจสอบไม่พบการทุจริต การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทั้งยังพบว่ารายชื่อบริษัทที่เข้าร่วมประมูลงานไม่ตรงกับตามการรายงานที่เปิดเผยจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม นายพรเพชรอยากให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงเพื่อความรอบคอบชัดเจนอีกครั้ง

 

กรมศุลฯย้ำนำเข้ารถเอ็นจีวีจีน

 

ส่วนการตรวจสอบการนำรถเมล์เอ็นจีวีของ บริษัท ซุปเปอร์ซารา จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนนำเข้าให้กับบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ผู้ชนะการประมูลจัดหารถเมล์เอ็นจีวี จำนวน 489 คัน ให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยพบว่ามีการหลบเลี่ยงภาษี และมีความเป็นไปได้ว่า ขสมก.อาจยกเลิกสัญญากับบริษัทเบสท์ริน

 

นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า กรมศุลกากรตรวจสอบแล้วว่ารถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าว มีแหล่งกำเนิดในประเทศจีนทั้งหมด แม้ว่าทางผู้นำเข้าจะยอมจ่ายภาษีนำเข้าในอัตรา 40% ในล็อตที่ 3 และ 4 จำนวน 291 คัน แต่ยังแจ้งว่านำเข้ามาจากมาเลเซีย ซึ่งรถดังกล่าวถูกตรวจปล่อยไปแล้ว แต่ผู้นำเข้าต้องถูกดำเนินคดีเนื่องจากสำแดงแหล่งกำเนิดเท็จ

 

นายกรีชากล่าวว่า กรมศุลกากรยืนยันว่าได้ทำตามกฎหมายของกรมแล้ว ส่วนหน่วยงานอื่นจะตัดสินใจอย่างไรเป็นอำนาจของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งกรมศุลกากรได้ตอบคำถามที่ทาง ขสมก.สอบถามมาแล้วว่า ขณะนี้ผู้นำเข้ารถยนต์เอ็นจีวีอยู่ระหว่างถูกกรมศุลกากรดำเนินคดี โดยรอให้ผู้นำเข้ามาชี้แจงกรณียืนยันว่ารถยนต์ดังกล่าวนำเข้าจากมาเลเซีย

 

ผู้นำเข้าดิ้นเลี่ยงค่าปรับ

 

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากรเปิดเผยว่า แม้ผู้นำเข้าสำแดงว่ารถเมล์เอ็นจีวีเป็นการนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย รวม 489 คัน แต่กรมศุลฯไม่เชื่อว่ารถเมล์เอ็นจีวีนำเข้าจากมาเลเซีย ซึ่งจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าตามข้อตกลงระหว่างภายในกลุ่มอาเซียน เพราะจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถเมล์ทั้งหมดนำเข้าจากจีน ทำให้ต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตรา 40% ของมูลค่านำเข้า ตกคันละ 1.47 ล้านบาท รวมถึงต้องจ่ายค่าปรับ 2 เท่าฐานสำแดงเท็จ

 

ทั้งนี้ แม้ว่าทางผู้นำเข้าจะยอมจ่ายภาษีนำเข้าในอัตรา 40% ในล็อตที่ 3 และ 4 จำนวน 291 คัน ให้แก่กรมศุลฯแล้วก็ตาม แต่ผู้นำเข้ายังยืนยันที่จะระบุในใบขนสินค้าว่าเป็นรถยนต์นำเข้าจากมาเลเซีย เพื่อไม่ต้องเสียค่าปรับในอัตรา 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย หรือต้องจ่ายเพิ่มอีกคันละ 2.94 ล้านบาท