ค้านคลังแก้กม.ปราบโกงโทษผู้ให้สินบนแค่ปรับ-ไม่ติดคุก

หัวข้อข่าว: ค้านคลังแก้กม.ปราบโกงโทษผู้ให้สินบนแค่ปรับ-ไม่ติดคุก

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

 

ผู้จัดการรายวัน360 – นายราเมศ รัตนะเชวง ฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีรมว.คลัง เตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรี แก้กฎหมายลดโทษผู้ให้สินบนจากจำคุกเหลือแค่โทษปรับ ว่า ตนไม่เห็นด้วย และเสียงของสังคมก็ไม่เห็นด้วย จึงอยากให้มีการทบทวนในเรื่องนี้ ซึ่งตนเห็นว่า ขณะนี้มีความผิดปกติหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล สนช. และ สปท.

 

นายราเมศ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีปัญหา เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างหลายมาตราเอื้อทุจริต ทั้งที่ นายกฯ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่า จะให้เป็นของขวัญกับคนไทยแต่เป็นของขวัญที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีการยกเว้นให้กับรัฐวิสาหกิจ ทั้งที่เป็นแหล่งที่มีงบประมาณ และมีการแสวงหาประโยชน์กันมากที่สุด กระทั่งเกิดกรณีรับสินบนข้ามชาติ จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ ทบทวนเพื่อให้รัฐวิสาหกิจ มีหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างที่ชัดเจน โดยเสนอกฎหมายเฉพาะมาอีกหนึ่งฉบับ แทนที่จะเปิดช่องให้แต่ละรัฐวิสาหกิจไปออกระเบียบกันเอง

 

รัฐบาลขายฝันว่าเอาจริงกับการปราบทุจริต อยากให้ทำให้เห็นสักราย โดยเฉพาะกรณีที่มีสนช.สองคนพัวพันกับการทุจริต แต่กลับยังคงทำหน้าที่ปกติ จึงมีข้อสงสัยว่า มีการปิดตาข้างหนึ่งหรือไม่ นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ยังเสนอให้ลดโทษคนให้สินบนโดยอ้างต่างประเทศ ไม่อยากให้เกิดความสับสน โดยเห็นว่ากฎหมายที่บังคับใช้อยู่นั้นดีอยู่แล้ว หากทำตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง จะมีผล กระทบต่อฐานความผิดอีกหลายฐานความผิด ที่สำคัญ จะกระทบกับฐานความผิดต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แล้ว กระบวนการยุติธรรมจะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร หากเดินตามแนวนี้ จะส่งเสริมให้เกิดการทุจริตอย่างใหญ่หลวง เพราะแค่รับสารภาพ และเสียค่าปรับเท่านั้น จะเป็นมูลเหตุจูงใจทำให้คนกล้าให้สินบนมากขึ้น เพราะถ้าไม่ถูกจับได้ ก็สบาย แต่ถ้าถูกจับได้ ก็แค่เสียค่าปรับ จึงอยากให้ คสช.และรัฐบาลทบทวน ถ้าเดินตามนี้ ถือว่าเป็นการเดินผิดทาง

 

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎหมายเดิมมีการระบุเกี่ยวกับคนให้ข้อมูลเรื่องการทุจริต เพื่อชี้มูลความผิดผู้อื่น ป.ป.ช. สามารถกันเป็นพยานได้อยู่แล้ว ซึ่งก็จะไม่ต้องรับโทษเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิด โดยมีการใช้มาแล้วหลายครั้ง การจะเขียนกฎหมายใหม่ก็จะซ้อนกับกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/5 วรรคสอง โดยสรุปคือ ให้ปรับบริษัทหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตได้หนึ่งเท่า แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย หรือประโยชน์ที่ได้รับ.