ผุดบอร์ดคุมแต่งตั้งทุกระดับม.44แก้ซื้อเก้าอี้ตร. บิ๊กตู่เซ็นรื้อพรบ.ตำรวจสกัดตั๋ว-เด็กนาย-วิ่งเต้นเพิ่มช่องร้อง’ศอตช.’ได้

หัวข้อข่าว: ผุดบอร์ดคุมแต่งตั้งทุกระดับม.44แก้ซื้อเก้าอี้ตร. บิ๊กตู่เซ็นรื้อพรบ.ตำรวจสกัดตั๋ว-เด็กนาย-วิ่งเต้นเพิ่มช่องร้องศอตช.ได้

ที่มา: มติชน ฉบับวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

 

บิ๊กตู่แก้กฎแต่งตั้งตำรวจ ใช้อำนาจตามม.44′ กำหนดระเบียบใหม่ ให้แต่ละ บก.-บช.ตั้งบอร์ด กลั่นกรอง พิจารณาโยกย้ายระดับรองผู้การลงไป ไม่เป็นธรรม-ทุจริตร้อง ศอตช.ได้

 

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2560 เรื่องการปรับปรุงระบบการแต่งตั้งตำรวจ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งดังนี้ 1.ให้ยกเลิกความในมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 แก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 44/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของตำรวจ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา 54 การแต่งตั้งตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่มาตรา 44 (7) ลงมา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอน สรุปสาระสำคัญดังนี้ (1) ระดับกองบังคับการ (บก.) แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองประกอบด้วย รอง ผบก.ทุกคนเป็นกรรมการ แล้วเสนอ ผบก.หรือหน่วยงานระดับกองบัญชาการ (บช.) เพื่อดำเนินการตาม (2) หรือเสนอต่อ ผบ.ตร. ในกรณีแต่งตั้งตำรวจในสังกัด สง.ผบ.ตร.เพื่อดำเนินการตาม (3) ต่อไป แล้วแต่กรณี

 

(2) ให้ระดับ บช.แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองประกอบด้วย รอง ผบช.ทุกคนเป็นกรรมการ และการแต่งตั้งตำรวจที่ได้รับการเสนอตาม (1) แล้วเสนอต่อ ผบ.ตร.เป็นผู้สั่งแต่งตั้งเพื่อดำเนินการตาม (3) หรือดำเนินการแต่งตั้งต่อไป แล้วแต่กรณี

 

(3) ให้ ผบ.ตร.แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ประกอบด้วยจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) และรอง ผบ.ตร.ทุกคนเป็นกรรมการ แต่งตั้งตำรวจในสังกัด สง.ผบ.ตร. และการแต่งตั้งตำรวจที่ได้รับการเสนอตาม (1) หรือ (2) แล้วเสนอต่อ ผบ.ตร.เพื่อแต่งตั้งต่อไป กรณีที่ผู้สั่งแต่งตั้งเห็นว่ารายชื่อตำรวจตามวรรคหนึ่งผู้ใดมีความไม่เหมาะสม หรือมีตำรวจซึ่งเห็นสมควรดำรงตำแหน่งต่างๆ ให้ผู้สั่งแต่งตั้งมีอำนาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม หรือสั่งให้พิจารณาทบทวน การเสนอแต่งตั้งได้ตามควรแก่กรณี

 

ข้อ 2 การแต่งตั้งตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 44 (7) ถึง (10) ในวาระการแต่งตั้งประจำปี พ.ศ.2559 ให้ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 21/2559 เรื่อง การปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยให้นำข้อ 1 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ข้อ 3 การแต่งตั้งตำรวจให้กระทำโดยสุจริต เป็นธรรม ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด หากมีเรื่องร้องเรียนหรือข้อสงสัยว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ให้ผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือสอบสวนโดยเร็ว และรายงานผลให้ผู้บังคับบัญชา เหนือชั้นขึ้นไปหรือ ผบ.ตร.แล้วแต่กรณี ทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง ในกรณีจำเป็นจะเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อสั่งให้ตำรวจที่ถูกร้องเรียน หรือเกี่ยวข้องไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่นหรือนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นการชั่วคราวระหว่างการตรวจสอบก็ได้

 

ข้อ 4 ให้ ตร.ศึกษาแนวทางการปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ แล้วรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปกิจการตำรวจที่จะจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 260 ของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รับไปพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจต่อไป โดยคำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

แหล่งข่าวจาก ตร.กล่าวถึงคำสั่ง คสช.ที่ 7/25560 ว่าเป็นการปรับผู้มีอำนาจในการออกคำสั่งแต่งตั้งใหม่ เป็นการปรับสำหรับอนาคต หมายความว่า ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจวาระประจำปี 2559 ในการแต่งตั้งระดับรอง ผบก.ลงไป ยังคงให้อำนาจ ผบ.ตร.เป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งทั้งหมด เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 21/2559 เรื่อง การปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 26 เมษายน 2559 หรือ ผบ.ตร.จะมอบอำนาจให้รอง ผบ.ตร.หรือผู้มีตำแหน่งระดับผู้บัญชาการ (ผบช.) ขึ้นไปออกคำสั่งแต่งตั้งก็ได้ แต่ในอนาคตกฎหมายบังคับว่า หลังการแต่งตั้งวาระปี 2559 ผบ.ตร.มีสิทธิมอบอำนาจให้ผู้ที่มีอำนาจตั้งแต่ระดับ ผบช.ขึ้นไปออกคำสั่งแต่งตั้งในตำแหน่งระดับรอง ผบก.ลงไป ทั้งนี้ หากมอบอำนาจไปแล้วเห็นการดำเนินการแต่งตั้งไม่มีประสิทธิภาพ ผบ.ตร.มีสิทธิยกเลิกคำสั่งแต่งตั้งนั้น หรือยกเลิกการให้อำนาจแต่งตั้งแล้วนำมาทำเองก็ได้

 

คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ การแต่งตั้งไม่ว่าจะเป็นอำนาจ ผบ.ตร.ออกคำสั่ง หรือ ผบ.ตร.มอบอำนาจให้ระดับรอง ผบ.ตร. ที่ปรึกษา (สบ 10) ผู้ช่วย ผบ.ตร.หรือ ผบช. ออกคำสั่งก็ตาม การพิจารณาแต่งตั้งต้องผ่านคณะกรรมการคัดเลือกหรือบอร์ดกลั่นกรอง ตั้งแต่ระดับ บก.ต้องมีบอร์ดที่มีรอง ผบก.ทุกนายเป็นกรรมการ จากนั้นจะต้องนำเสนอระดับ บช. ที่ต้องพิจารณาผ่านบอร์ดที่มีรอง ผบช.ทุกนายเป็นกรรมการ และหากต้องเสนอถึง ผบ.ตร.ที่มีอำนาจออกคำสั่งก็ต้องผ่านบอร์ด ที่ต้องมีรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) ทุกนายเป็นกรรมการ หากตีความให้เข้าใจง่ายๆ การแต่งตั้งตำแหน่งระดับรอง ผบก.ลงมา ทุกรายชื่อทุกคำสั่งต้องผ่านการพิจารณาของบอร์ดกลั่นกรอง ตั้งแต่ระดับ บก. บช. ถ้า ผบ.ตร.มอบอำนาจให้ ผบช.แต่งตั้งได้ ก็ออกคำสั่งได้เลย แต่หากเป็นอำนาจแต่งตั้งของ ผบ.ตร. รายชื่อที่ผ่านบอร์ด บช.ก็ต้องเข้าบอร์ดระดับ ตร.อีกครั้ง ก่อนออกคำสั่ง คล้ายกับกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง พ.ศ.2549″ แหล่งข่าวกล่าว

 

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า กรณีที่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งเห็นว่ารายชื่อที่บอร์ดเสนอแต่งตั้งไม่เหมาะสม หรือมีผู้เหมาะสมกว่าก็มีอำนาจในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง สั่งให้ทบทวนได้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางการร้องเรียน หากพบการแต่งตั้งไม่ชอบธรรม ทุจริต เรียกรับ สามารถร้องต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบ หากมีความจำเป็นนำไปสู่การเสนอหัวหน้า คสช. เพื่อสั่งให้ข้าราช การตำรวจที่ถูกร้องเรียนหรือเกี่ยวข้องไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานอื่นหรือนอก ตร.เป็นการชั่วคราวระหว่างการตรวจสอบก็ได้