หัวข้อข่าว: ระบุม.44ตั้งตร.แก้วิ่งเต้น-ชื่อซ้ำ
ที่มา: ข่าวสด ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
รองนายกฯ’วิษณุ เครืองาม‘ แจงหัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งแก้กฎเกณฑ์แต่งตั้ง-โยกย้ายตำรวจใหม่ เพื่อแก้ไขการวิ่งเต้นแต่งตั้งซื้อขายตำแหน่ง รายชื่อซ้ำและล่าช้า พร้อมให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีเส้นสาย เชื่อหลังรธน.ฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว ต้องรื้อเรื่องการปฏิรูปตำรวจอย่างแน่นอน ระบุเลขาธิการป.ป.ท.รับเรื่องร้องเรียนแล้วต้องสอบด้วย ไม่ใช่ส่งต่อให้ผู้บังคับบัญชา เพราะจะหายเข้ากลีบเมฆ เตรียมเพิ่มช่องทางให้ร้องเรียนเพิ่มได
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนหลังจากมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 7/2560 เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อแก้ปัญหาการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งว่า จากนี้จะต้องตั้งคณะกรรมการ 3 ระดับ คือ ระดับกองบังคับการ ระดับกองบัญชาการ และระดับภายในของ สตช. เพื่อให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจที่ผ่านการกลั่นกรองในชั้นกองบังคับการและส่งไปในขั้นตอนกองบัญชาการ เพื่อออกคำสั่งของหน่วยงานนั้นๆ
นายวิษณุกล่าวว่ามาตรการนี้น่าจะแก้ปัญหาเรื่องตำรวจได้หลายอย่าง คือ เรื่องความล่าช้าและผิดถูกของรายชื่อ ในคำสั่งมีชื่อคนตายย้ายสองหน เพราะไม่ต้องรวมเรื่องให้มาอยู่ที่ผบ.ตร.แต่หน่วยงานที่ใกล้ชิดได้ตรวจสอบแล้ว แก้เรื่องการซื้อขายตำแหน่ง หรือการวิ่งเต้นเพื่อตำแหน่งลงไปได้บ้าง จากเดิมที่มีโอกาสเกิดมาก แต่ครั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงสามารถตรวจสอบและจัดการได้ทันที นอกจากนั้นในคำสั่งมาตรา 44 ยังเปิดช่องให้ร้องเรียนต่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้อีกทาง เพื่อป้องกันกรณีที่ไปวิ่งเต้นกับผู้บังคับบัญชาหรือการซื้อขายเกิดในระดับผู้บังคับบัญชาเสียเอง ต่างจากเดิมที่ระบุไว้เพียงให้ร้องทุกข์กับผู้บังคับบัญชา
นายวิษณุกล่าวว่า ในวันเดียวกันนี้ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขาฯศอตช.ได้เข้าพบตน จึงแจ้งว่าในคำสั่งดังกล่าวศอตช.ต้องเป็นผู้สอบสวน ไม่ใช่รับคำร้องมาแล้วส่งให้ผู้บังคับบัญชา เพราะถ้าเป็นแบบนั้นมีโอกาสที่เรื่องจะหายเข้ากลีบเมฆได้ แต่การเปิดช่องทางนี้จะช่วยถ่วงดุลสำหรับคนที่คิดว่าร้องไปแล้วไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นพวกเดียวกัน จนกว่าจะพบว่ามีการไปวิ่งกับศอตช.ก็จะต้องมีพูดกันอีกว่าอาจย้ายไปมีช่องทางร้องเรียนที่สามอีก และคำสั่งดังกล่าวจะให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะหน่วยงานที่ใกล้ชิดที่สุดจะเห็นว่าทำอย่างไรจึงจะวางคนให้ถูกต้องกับงาน ซึ่งสำคัญกว่าทุกเรื่อง ในอดีตมีปัญหากรณีพ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญาที่มีปัญหาเรื่องความเป็นธรรม ที่อยากขอย้ายออกจากพื้นที่ แต่ผู้บังคับบัญชาไม่ให้ไป เป็นต้น
รองนายกฯ กล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญคือต้องให้ความสำคัญกับคำสั่งข้อสุดท้ายที่ให้สตช. ศึกษาแนวทางการปฏิรูปตำรวจทั้งระบบ ให้ครอบคลุมการปรับปรุงและการบริหารงานของตำรวจ ถือเป็นการส่งสัญญาณหลายอย่าง เพราะเมื่อศึกษาเสร็จก็ต้องรายงานนายกฯ และเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้วการปฏิรูปตำรวจถือเป็นเรื่องที่บังคับต้องทำ โดยกรรมการที่ดำเนินการเป็นคนนอกทั้งหมด บางประเภทก็ต้องเป็นคนที่ไม่เคยเป็นตำรวจมาก่อน ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้จะต้องรับเรื่องที่นายกฯมอบหมาย แล้วส่งไปให้โดยกำหนดหัวข้อให้ศึกษา อาทิ เรื่องอำนาจการสอบสวน การแต่งตั้ง สวัสดิการ การลงโทษ และวินัย เป็นต้น
ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจคำสั่งดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการซื้อขายตำแหน่งตำรวจได้ นายวิษณุกล่าวว่า คงแก้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะไม่มีอะไรที่ทำได้ทั้งหมดอยู่แล้ว แม้จะคอมพิวเตอร์มาช่วยเลือกในขั้นตอนการแต่งตั้ง ใช้หลักอาวุโสตามลำดับ ที่ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ยังเคยเกิดปัญหาฟ้องร้องศาลปกครอง ในแง่การจัดลำดับอาวุโสผิดแล้วชนะ ตัวอย่างกรณีของ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ซึ่งกฎหมายเขียนไว้แล้วว่าเมื่อถึงขั้นนี้ให้ทำตามหลักอาวุโส หลับตาเดินก็ได้เลื่อนตำแหน่ง แต่มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่ามีการจัดลำดับอาวุโสผิดแล้วสุดท้ายเกิดการชนะคดี เพราะศาลวินิจฉัยว่ามีการจัดลำดับผิดจริง จึงไม่มีอะไรที่แก้ปัญหาได้ 100 เปอร์เซ็นต์
เมื่อถามว่า คำสั่งดังกล่าวที่ให้ไปแก้ในเนื้อหา พ.ร.บ.ตำรวจ จากนี้ไปจะเปลี่ยนจาก คำสั่ง ม.44 มาเป็นพ.ร.บ. หรือไม่ เพื่อให้มาตร การดังกล่าวยังคงอยู่ในระยะยาว นายวิษณุกล่าวว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่ออกมา ได้ให้แก้เนื้อหาพ.ร.บ.ตำรวจ ไปแล้ว แต่หวังว่า เมื่อมีการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีการแก้ไขแปรสภาพคำสั่ง ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปอาจจะไปคิดวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายแบบอื่นก็ได้ และต้องเอาตามแบบใหม่ วันนี้รัฐบาลจึงไม่สั่งแก้อะไร
เมื่อถามย้ำว่าหากรัฐบาลนี้หมดวาระแต่การปฏิรูปตำรวจยังไม่เสร็จ ตัวพ.ร.บ.ตำรวจที่แก้ไขไปแล้วจะยังคงอยู่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังคงอยู่ตลอดไป แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ระบุว่าคำสั่งคสช.ที่ออกไปตาม ม.44 แม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้แล้วก็ยังคงมีผลอยู่ หรือถ้าคสช.ยังอยู่ก็ออกเป็น ม.44 ใหม่ เพื่อแก้อันเก่าได้ แต่หากไม่มี คสช. แล้ว ก็ต้องออกเป็น พ.ร.บ. แทน