โครงการศึกษาเปรียบเทียบค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ
Author : ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร
Team :
Abstract TH : รัฐวิสาหกิจหลายแห่งมีอัตราการจ่ายผลตอบแทนคณะกรรมการที่แตกต่างและไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และรัฐวิสาหกิจมีอัตราการจ่ายค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และการบินไทย คณะกรรมการสามารถกำหนดค่าตอบแทนของตนเองโดยผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ และการขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นการกำหนดค่าตอบแทนแก่ตนเอง สุ่มเสี่ยงต่อปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ฯ ค่าตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์จะสูงกว่า รัฐวิสาหกิจทั่วไป โดยพิจารณาตามสถานะการเงินและเปรียบเทียบกับบริษัทเอกชน แต่มักจะสะท้อนถึงการนำหลักเกณฑ์มาพิจารณาเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ บทบาทเป็นการทำงานในเชิงนโยบาย จึงจำกัดในการมีส่วนร่วมกับผลประกอบการองค์การ ค่าตอบแทนสูงจะสร้างแรงจูงใจให้เกิดความพยายามที่จะเป็นกรรมการมากยิ่งขึ้นแทนที่จะยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก การศึกษาการดำเนินงานของกรมศุลกากร อาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาความขัดแย้งกันเชิงผลประโยชน์ฯ เนื่องจากอธิบดีนั้นมีส่วน ในการรับเงินสินบนและรางวัลด้วยขณะเป็นผู้มีอำนาจตามระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล มาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งของผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัว ควรมีหลักการ ดังนี้ 1) การตัดสินใจใดที่ผู้ตัดสินใจมีส่วนเกี่ยวข้องในการได้รับผลประโยชน์โดยตรงไม่สามารถกระทำได้ 2) ระบุให้บุคคลสามารถดำรงตำแหน่งการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจได้ไม่เกิน 1 แห่ง และ 3) การบังคับใช้ระเบียบการกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจให้เข้มงวด โดยมีข้อเสนอแนะว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติควรมีระเบียบ และกฎเกณฑ์บางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น 1) กำหนดเพดานขั้นสูงของจำนวนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ที่กรรมการรัฐวิสาหกิจจะได้รับ 2) สร้างให้มีกลไกการสร้างแรงจูงใจที่ไม่เป็นตัวเงิน 3) ประกาศเผยแพร่ข้อมูลค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ให้เป็นข้อมูลสาธารณะ 4) รณรงค์สร้างค่านิยมในการให้ความสำคัญต่อการกระทำความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์อันเป็นการสร้างจิตสำนึกในประโยชน์ของสาธารณะ
ความเป็นมา และความสำคัญ : ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งเป็นรูปแบบการคอร์รัปชันอย่างหนึ่งที่มีความคลุมเครือ และยังขาดการตระหนักถึงปัญหาและการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่ควร ปัญหาเหล่านี้หากเกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาครัฐ ที่ทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคมย่อมบั่นทอนความเจริญก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นยังนำไปสู่วิถีทาง ธรรมเนียมปฏิบัติ และเป็นวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้ปัญหาดังกล่าวยังคงดำรงอยู่ในสังคม โดยที่ความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์นี้อาจจะพัฒนาไปสู่การกระทำคอร์รัปชันอย่างเต็มรูปแบบ หากขาดการควบคุมและตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ สาเหตุสำคัญของปัญหานี้เกิดขึ้นจากเงื่อนไขของปัญหาตัวแทน (Agency Problem) อันเป็นปัญหาจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารระดับสูง และหรือคณะกรรมการ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทน (Agent) ของผู้ถือหุ้นในการทำหน้าที่บริหารกิจการ กับประชาชน อันหมายถึงสังคมโดยรวม ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของ (Principal) อันเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหน่วยงานภาครัฐ โดยที่ปัญหาเกิดจากตัวแทนเหล่านี้มีข้อมูลเกี่ยวกับกิจการมากกว่าเจ้าของ ในขณะที่การเฝ้าติดตามตรวจสอบ และมีส่วนร่วมจากประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่สูงและเข้าถึงข้อมูลได้ยาก ทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ และการดำเนินงานของตัวแทน มีแนวโน้มที่จะมุ่งไปยังเป้าหมายอันเป็นผลประโยชน์ของตนเอง มากกว่าการระลึกถึงเป้าหมายที่เป็นผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม
แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง : ความขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม , แรงจูงใจ
Objective : 1. เพื่อศึกษาถึงรูปแบบ โครงสร้างของค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจ และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการถือหุ้น
2. เพื่อศึกษาถึงสถานการณ์ที่อาจจะถือเป็นความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมที่เกิดขึ้นในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภาครัฐ และองค์กรที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการถือหุ้น ในอดีตที่ผ่านมา
3. เพื่อศึกษาถึงกลไกการเอื้อประโยชน์และให้ผลตอบแทนแก่คณะกรรมการของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและผู้บริหารระดับสูง อันก่อให้เกิดสถานการณ์ที่เกิดความเกรงใจระหว่างกรรมการและผู้บริหาร และผลที่เกิดขึ้นต่อการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาในการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม
4. เพื่อนำเสนอมาตรการทางด้านกฎหมาย และแนวมาตรฐานการปฏิบัติงาน ในการป้องกันปัญหาการขัดแย้งกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมในรัฐวิสาหกิจภาครัฐ และองค์กรที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการถือหุ้น
5. เพื่อเป็นการสื่อสารข้อมูลค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรที่รัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการถือหุ้น ให้แก่ประชาชนทราบในวงกว้าง”