โครงการศึกษาประเด็นทางกฎหมายที่เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตที่มีผลกระทบในภาพรวมโดยฉพาะภาคเอกชน
Author : ดร.คณพล จันทน์หอม
Team :
Abstract TH : โครงการวิจัยนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาข้อเท็จจริงที่เป็นพฤติกรรมการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ด้วยวิธีการจัดหมวดหมู่สภาพปัญหาเหล่านั้นเพื่อใช้เป็นฐานในการศึกษาช่องว่างของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งศึกษาถึงกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศไทยในปัจจุบันว่ามีอยู่อย่างไร และนำมาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศที่มีการแก้ปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างดีเยี่ยม ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐจีน เพื่อค้นหาแนวทางและนำเสนอผลการวิจัยที่นาไปสู่การพัฒนาด้านกฎหมายที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ผู้วิจัยพบว่าการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยมีปัญหาในการดำเนินการทั้งสิ้น 3 ประการ ประการแรก ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย อันเป็นกรณีที่หน่วยงานกำหนดนโยบายที่ไม่สุจริตตั้งแต่ก่อนจะมีการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งส่วนมากเป็นกรณีที่นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเข้ามาพัวพันและเกิดกรณีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยใช้กฎหมายเป็นสิ่งที่ยาก ประการที่สอง ปัญหาการจัดการโครงสร้างขององค์กรจัดซื้อจัดจ้างที่มีโครงสร้างแบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) กล่าวคือ มีการดำเนินการด้วยคณะกรรมการชุดเดียวทำให้ไม่สามารถตรวจสอบและกำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างทั่วถึงและง่ายต่อการทุจริต นอกจากนั้น กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ยังมีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่มีกฎเกณฑ์กลาง และมีลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่าพระราชบัญญัติทาให้ไม่สามารถกำหนดโทษทางอาญาได้ในตัวเองและอาจถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้ ประการที่สาม ปัญหาในชั้นกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่าถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดกฎระเบียบว่าด้วยกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไว้อย่างละเอียดก็ตาม แต่ก็ยังมีช่องว่างและขาดมาตรการป้องกันการทุจริตที่เพียงพอ ข้อเสนอแนะผู้วิจัยภายหลังจากที่ได้ศึกษาวิจัย มีดังนี้ ประการแรก กำหนดมาตรการเสริมเพื่อป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย โดยเฉพาะมาตรการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโดยการประชุมแบบเปิดเผยตามแบบอย่างที่ปรากฏในกฎหมาย Sunshine Act ค.ศ. 1977 ของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงกำหนดให้การกระทำบางอย่างเป็นความผิดตามแบบอย่างของประมวลจริยธรรมเจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐเกาหลีและประมวลจริยธรรมสาหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของสาธารณสาธารณรัฐจีน ประการที่สอง เปลี่ยนแปลงการจัดโครงสร้างองค์กรที่ทาหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างจากแบบรวมศูนย์อำนาจ (Centralization) ที่ง่ายต่อการทุจริต เป็นลักษณะการกระจายอำนาจ (Decentralization) เหมือนดังเช่นในรูปแบบที่พบในประเทศสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐจีน และร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารงานพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลกันระหว่างคณะกรรมการชุดต่างๆ ประการที่สาม แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยแบ่งแยกไปตามช่วงเวลาของการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งก่อนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง และภายหลังจากกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ความเป็นมา และความสำคัญ : “แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นจำนวนมากที่กำหนดกลไกและเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เช่น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เป็นต้น แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่อาจนำมาใช้ให้สัมฤทธิ์ผลเพื่อขจัดการทุจริตได้จริง เพราะเหตุที่ว่าบทบัญญัติของกฎหมายมุ่งเน้นความแน่นอนของกระบวนการและรูปแบบการจัดการเป็นสำคัญ อันอาจทำให้กลไกเหล่านี้สามารถป้องกันการกระทำอันเป็นการทุจริตได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อรูปแบบและวิธีการในการทุจริตได้มีการพัฒนามากขึ้น กลไกดังกล่าวอาจจะล้าสมัยในการปรับใช้เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ยาก ซ้ำร้ายอาจกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้กระทำความผิดอาศัยเป็นช่องทางในการศึกษาวิธีที่จะหลีกเลี่ยงเพื่อให้การกระทำอันเป็นการทุจริตนั้นไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้อีกด้วย ดังนั้น กฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันจึงมีข้อจำกัดในการป้องกันการทุจริตที่นับวันมีแต่จะถูกพัฒนาให้มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าที่เป็นมาในอดีต อีกทั้งกฎหมายเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเยียวยาและเรียกร้องผลประโยชน์ทั้งของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องและของแผ่นดินที่เสียไปให้กลับคืนมา คณะผู้วิจัย จึงเห็นสมควรที่จะศึกษาและหาแนวทางแก้ไขให้กับปัญหาการทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเพื่อค้นหาแนวทางและนำเสนอผลการวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาด้านกฎหมายที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม”
แนวคิด/ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง : การจัดซื้อจัดจ้าง หลักความโปร่งใส หลักความมีประสิทธิภาพ กฏหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โครงสร้างองค์กร
Objective : (1) เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงที่เป็นพฤติกรรมการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐโดยเน้นเฉพาะแต่ประเด็นและกรณีศึกษาที่สำคัญๆ ด้วยวิธีการจัดหมวดหมู่สภาพปัญหาเหล่านั้นเพื่อใช้เป็นฐานในการศึกษาช่องว่างของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
(2) เพื่อศึกษาถึงกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างในปัจจุบันว่ามีอยู่อย่างไร ประเด็นใด หรือกลไกใดที่ยังไม่เพียงพอต่อการควบคุมและป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ
(3) เพื่อศึกษาถึงกฎหมายของต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐเปรียบเทียบกับกฎหมายของไทย โดยเน้นเฉพาะวิธีการที่กฎหมายต่างประเทศใช้ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นเป็นประเด็นข้อเท็จจริงในประเทศไทย
(4) เพื่อนำเสนอแนวทางและผลการวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาด้านกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม