‘บิ๊กตู่’เดินหน้าสู่โรดแมประยะที่ 2ยัน!!พร้อมส่ง ‘ไม้ต่อ’ รัฐบาลเลือกตั้ง

หัวข้อข่าว บิ๊กตู่เดินหน้าสู่โรดแมประยะที่ 2ยัน!!พร้อมส่ง ไม้ต่อรัฐบาลเลือกตั้ง

ที่มา; ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

 

โต๊ะข่าวการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงผลงานรัฐบาลครบรอบ 2 ปี ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล (15 ก.ย.59 ) ว่า จากการทำงานของรัฐบาลตลอด 2 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ที่ภายในประเทศเกิดความแตกแยก ส่วนนอกประเทศมีภัยก่อการร้าย ด้านเศรษฐกิจประสบปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การค้าการลงทุนซบเซา เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะขาลง อัตราการเติบโตชะลอตัว เศรษฐกิจโลกปี 2558 ขยายตัวอยู่ที่ 3% และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2559 ขยายตัว 3.1% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศยูโรโซน และประเทศจีนเศรษฐกิจก็ชะลอตัว

 

อย่างไรก็ดี จากการดำเนินงานของรัฐบาล มีหน่วยงานและองค์กรต่างๆประเมินว่า ประเทศไทยมีทิศทางที่ดีขึ้นหลายด้าน อาทิ ความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองจากอันดับ 58 เมื่อปี 2557 ขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 51 ในปี 2559 ความโปร่งใสในการบริหารของภาครัฐ จากอันดับ 57 ปี 2557 เป็นอันดับ 25 ในปี 2559 จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ลดลงกว่า 50%

 

ขณะที่ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (CPI) เกือบ 180 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2556-2558 อันดับของประเทศไทยดีขึ้นต่อเนื่อง ก่อนเข้ามาบริหารประเทศปี 2556 ไทยอยู่ในอันดับที่ 102 มาอยู่อันดับ 76 ในปัจจุบัน ดีที่สุดในรอบ 6 ปี และมีความโปร่งใสดีที่สุดในรอบ 10 ปี ด้านความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขัน พบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น ต่อเนื่อง จาก 0.8% ในปี 2557 เป็น 3.2%ในปี 2559

 

สัดส่วนมูลค่า SMEs ต่อจีดีพี มีแนวโน้มสูงขึ้นและต่อเนื่องจาก 39.6% ในปี 2557 เป็น 42.3% ในปี 2559 ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการคมนาคมทางบก จากอันดับ 48 ในปี 2556 เป็นอันดับ 26 ในปี 2559 ทางอากาศจากอันดับ 23 ในปี 2556 เป็นอันดับ 20 ในปี 2559 และความน่าลงทุนระหว่างประเทศ จากอันดับ 31 ในปี 2556 เป็นอันดับ 28 ในปี 2559 นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติยังได้ประกาศการจัดอันดับดัชนี e-Government ประเทศไทย จากอันดับ 102 ในปี 2014 เป็นอันดับ 77 ในปี 2016 จาก 193 ประเทศทั่วโลก ขณะที่สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD)จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศปี 2559 ขยับดีขึ้นจากอันดับ 30 ในปี 2558 นอกจากนี้นิตยสารนิวส์แอนด์เวิลด์รีพอร์ต ซึ่งจัดอันดับ 60 ประเทศที่ดีที่สุดประจำปี 2016 ได้จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 21 ของโลก ซึ่งสูงสุดในอาเซียน ทั้งยังเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 4 จาก 60 ประเทศที่ดีที่สุด เป็นต้น

 

ประเทศไทยได้ผ่านช่วงระยะที่ 1 ของโรดแมป ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วน และประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่ 2  คือ การเริ่มต้นปฏิรูปในเชิงโครงสร้าง ปฏิรูปการบริหารราชการ และการจัดทำแผนที่นำทางไปสู่อนาคตตามวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ถ้าไม่ทำวันนี้ โอกาสของคนไทยจะสูญเสียไปอย่างมหาศาลและยากที่จะเรียกกลับคืนมาได้

 

ไทยต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หากไม่เตรียมการ ไม่ปฏิรูปและหามาตรการใหม่ๆมารองรับ เราจะเผชิญปัญหาเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ภารกิจสำคัญของรัฐบาลในอนาคตจากนี้ คือการสร้างฐานรากสู่อนาคตตามโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” ใน 10 ภารกิจหลัก อาทิ การเตรียม “คนไทย 4.0″ สู่ประเทศโลกที่ 1 การเร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรมใหม่ การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต การสร้างความเข้มแข็งในวิสาหกิจไทย การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา การสร้างความเจริญเติบโตที่กระจายสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ผ่านจังหวัด – กลุ่มจังหวัด การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศ การสร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมแห่งโอกาส และสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปันกัน การบูรณาการอาเซียน และการเชื่อมโยงไทยสู่ประชาคมโลก รวมถึงการขับเคลื่อนประเทศผ่านกลไก “ประชารัฐ”

 

สิ่งที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการระยะที่ 2 คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้วยการศึกษาตลอดชีวิต การวางระบบการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน วางระบบประกันสุขภาพที่ต้องเอื้อประโยชน์ที่ดีขึ้นแก่ประชาชน สนับสนุนการลงทุนภายในประเทศด้วยการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ทันสมัยไปพร้อมกับปรับปรุงของเดิมที่ล้าสมัย พัฒนาโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเร่งผลักดัน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ หรือกลุ่ม S Curve และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S Curve ปฏิรูปการเกษตรโดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิต ต้องทำไปพร้อมกันเพื่อให้เกิดการสร้างอาชีพและจ้างงาน รวมถึงการพัฒนาฝีมือแรงงานที่ต้องสัมพันธ์กับความต้องการแรงงานภายในประเทศและในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการค้าขายสินค้าเกษตรต้นน้ำไปสู่การสร้างสินค้าเกษตรนวัตกรรมเพื่อการแข่งขัน เพราะรายได้ของประเทศปัจจุบัน 70% มาจากการส่งออกและส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรกรรมต้นน้ำที่มีมูลค่าไม่สูง

 

ระยะที่ 3 ของโรดแมป เป็นการส่งไม้ มอบหน้าที่ต่อรัฐบาลชุดใหม่ ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งต้องรับภาระหน้าที่ในการบริหารประเทศช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าสำเร็จประเทศไทยจะมีโอกาสยกฐานะไปสู่ประเทศในโลกที่ 1 หรือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี การเมืองมีเสถียรภาพ นักการเมืองมีธรรมาภิบาล เป็นต้น

 

ขอยืนยันว่า รัฐบาลและ คสช.จะอยู่เคียงข้างท่าน แต่ไม่ขอให้ทุกท่านอยู่เคียงข้างผม แต่ขอให้อยู่เคียงข้างประเทศไทย ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมมือกัน ในการปฏิรูปประเทศไปสู่ประเทศที่เจริญก้าวหน้า ผมมั่นใจว่า ทุกเรื่องเป็นจริงได้ ถ้าคนไทยทุกคนร่วมมือ ร่วมใจเดินไปด้วยกันทุกคน และความสำเร็จนี้จะเป็นความสำเร็จร่วมกันของเราทุกคน” นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้าย