งัดกฎเหล็กขจัดโกงสปท.ชงขรก.-บอร์ดรัฐโชว์บัญชีจตุพรโยนบิ๊กตู่รับผิดร่วมสุกำพล

หัวข้อข่าว งัดกฎเหล็กขจัดโกงสปท.ชงขรก.-บอร์ดรัฐโชว์บัญชีจตุพรโยนบิ๊กตู่รับผิดร่วมสุกำพล

ที่มา; คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

 

สปท.ปราบโกง ชงมาตรการปฏิรูปให้ ขรก.-บอร์ดองค์กรรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินรายได้ครอบครัว ตีกรอบ จนท.เกี่ยวข้องจัดซื้อจัดจ้าง “จตุพร” โยน “บิ๊กตู่-บิ๊กเจี๊ยบ” รับผิดชอบ ร่วม “สุกำพล” รัฐปลื้มคนนับหมื่น นั่งเรือคลองผดุงฯ

 

วันที่ 17 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ในวันที่ 19 กันยายน มีความน่าสนใจและต้องจับตาวาระพิจารณารายงานปฏิรูปที่สำคัญ คือ รายงานการปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลในภาครัฐ และการปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงานที่มีบรรษัทภิบาลในภาคเอกชน ซึ่งนำเสนอโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน

 

รายงานดังกล่าว มีข้อเสนอแนะการปฏิรูป จำนวน 7 มาตรการ ได้แก่ 1.รัฐบาลต้องกำหนดให้ทุกหน่วยงาน ทั้งส่วนราชการ, รัฐวิสาหกิจ, องค์กรในกำกับของรัฐ และองค์การมหาชน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีนโยบายเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานและมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชั่น ทั้งนี้ ต้องติดตาม ประเมินผล ทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง

 

2.ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามกฎหมายเพิ่มเติม อาทิ ตำแหน่งผู้บริหารที่มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง การอนุมัติ การอนุญาต การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งต่างๆ, ประธานกรรมการ, รองประธานกรรมการ และกรรมการในคณะกรรมการ (บอร์ด) องค์กรในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งตามกฎหมาย เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ (สปสช.), คณะกรรมการประกันสังคม, ข้าราชการ นอกจากนั้น หน่วยงานราชการต่างๆ ต้องกำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงสามีหรือภรรยาและบุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะต้องยื่นบัญชีรายได้ ทรัพย์สินและหนี้สินทุก 1-3 ปี เพื่อติดตามและตรวจสอบ

 

3.ให้กรมบัญชีกลางมีหน้าที่รวบรวมและทำฐานข้อมูลแสดงผลการจัดซื้อจัดจ้างเปรียบเทียบของครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างในรายการประเภทเดียวกันและเผยแพร่ข้อมูลสู่ฐานข้อมูลกลาง โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง

 

4.ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต(ศปท.) ประจำกระทรวง ให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบระดับกระทรวง เพื่อกำกับ ติดตาม ประเมินผลหน่วยงานรัฐ

 

5.จัดทำเกณฑ์จริยธรรม ข้อห้ามปฏิบัติ และคู่มือจัดซื้อจัดจ้าง อย่างโปร่งใสสำหรับราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ

 

6.ปรับบทบาท ศปท.ทุกหน่วยงานให้เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรมในหน่วยงานรัฐ โดยนำแนวทางของศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) เป็นแผนแม่บท และ

 

7.จัดปฐมนิเทศข้าราชการ ข้าราชการบรรจุใหม่และเจ้าหน้าที่รัฐ เรื่องคุณธรรม จริยธรรมและมาตรการเสริมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

ชงเข้มสกัดขรก.-เอกชนทุจริต

 

สำหรับรายงานการปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบบริหารงานที่มีบรรษัทภิบาลในภาคเอกชน มีแนวทางปฏิรูปที่สำคัญ คือ ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ต้องกำหนดเงื่อนไขให้บุคคลหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนภายในประเทศ ต้องรายชื่อบริษัทนอกอาณาเขตที่มีตัวตนและมีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนใดส่วนหนึ่ง, กำหนดให้คนไทยที่มีบัญชีธนาคารในต่างประเทศยื่นข้อมูลต่อ ปปง.ทุกปี เพื่อให้ตรวจสอบรายงานธุรกรรม, ให้ ป.ป.ช.กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับบุคคลในตำแหน่งที่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยให้เปิดเผยข้อมูลรายชื่อบริษัทนอกอาณาเขตที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือให้มีการแสดงหลักฐานการจดทะเบียนบริษัท รายงานงบดุลประจำปี ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ด้วย

 

ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ออกระเบียบกรณีคำสั่งซื้อหลักทรัพย์ไทยจากต่างประเทศสามารถตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องรอให้มีหลักฐานว่ากระทำผิดกฎหมายไทย, กรมสรรพากร ต้องจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะ รับผิดชอบด้านการตรวจสอบกรณีการป้องกันการเลี่ยงภาษี โดยมีเจ้าหน้าที่ชำนาญด้านการประกอบธุรกิจข้ามชาติ, เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี, นักวิชาการภาษีและนิติกร เป็นต้น นอกจากนี้ให้เพิ่มบทลงโทษกรรมการบริษัท กรณีที่ใช้ข้อมูลวงในหาประโยชน์จากการค้าหุ้น โดยแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเพิ่มโทษจำคุกจาก 2 ปี เป็น 5 ปี และเพิ่มโทษปรับจาก 2 เท่าของประโยชน์ที่ได้รับเป็น 2 เท่าของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์

 

ปชป.จี้แก้ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อ-จัดจ้าง

 

นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ว่า ขอท้วงติงในเนื้อหาสาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะสาระสำคัญเรารับไม่ได้ที่ขณะนี้มีการยกเว้นการเปิดเผยราคากลาง การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณการวิจัยต่างๆ ซึ่งรวมถึงการกู้เงินจากต่างประเทศ นอกจากนี้ เราติดตามกฎหมายฉบับนี้ และพรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยที่มีกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง แต่ต้องเป็นกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันการทุจริตอย่างแท้จริง

 

ผมเคยท้วงติงไปยังคณะกรรมาธิการ แต่ยังไม่เคยได้รับคำตอบจากคณะกรรมาธิการ จึงอยากเรียกร้องว่าถ้ามีความจริงใจในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องออกมาอธิบายถึงความคืบหน้าของกฎหมายว่ามีการแก้ไขให้สอดคล้องป้องกันการทุจริต ถ้าไม่ปรับแก้ ต้องไปสู้กันในศาลรัฐธรรมนูญ เพราะกฎหมายดังกล่าวขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 258 ที่ระบุว่าให้ปรับปรุงด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้เปิดเผยตรวจสอบได้ รวมถึงมีกลไกป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน ซึ่งถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ออกไป จะเป็นผลงานที่อัปยศที่สุดของประเทศ เพราะจะเอื้อต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น” นายราเมศ กล่าว