บทนำมติชน: ก่อนแยกกระทรวง

หัวข้อข่าว บทนำมติชน: ก่อนแยกกระทรวง 

ที่มา; มติชน ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559

 

หลังจากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. ขณะนี้แนวคิดผลักดันให้แยกงานสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. จากกระทรวงศึกษาธิการแล้วจัดตั้งเป็นกระทรวงใหม่ ที่มีการเรียกร้องมาระยะหนึ่งเริ่มเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น ขณะที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการเอง มีท่าทีในเชิงสนับสนุน และกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเอง มีนโยบายว่าถ้าการปรับโครงสร้างเพื่อปรับปรุงการบริหารงานเล็กน้อยสามารถทำได้เลย หรือหากจำเป็นก็ขอใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แต่หากเป็นการปรับโครงสร้างใหญ่ ให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งการแยก สกอ.ออกจาก ศธ.ถือเป็นการปรับโครงสร้างใหญ่ ดังนั้น การดำเนินการจะเป็นการศึกษา และวางตุ๊กตา เพื่อให้รัฐบาลชุดหน้าเป็นผู้ดำเนินการต่อ

 

เหตุผลในการแยกตั้งเป็นกระทรวงใหม่ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยหลายคนให้เหตุผลว่า ระยะเวลา 10 ปี ที่งานอุดมศึกษามารวมอยู่กับ ศธ.ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า มีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้น มีปัญหาการผลิตบัณฑิตไม่ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน มีปัญหาธรรมาภิบาลในมหาวิทยาลัย และจากการเปรียบเทียบการทำงาน พบว่า สมัยที่งานอุดมศึกษายังอยู่ในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ การบริหารงานคล่องตัวกว่าในปัจจุบัน เพราะสายการบังคับบัญชาสั้นกว่า กรณีมีปัญหา มหาวิทยาลัยส่งเรื่องถึงปลัดทบวงฯได้ทันที ต่างจากปัจจุบัน ต้องผ่าน สกอ. ปลัด ศธ. ไปจนถึงรัฐมนตรี ทำให้ล่าช้าไม่ทันการณ์ ส่วนข้อดีข้อเสียต่างๆ ได้มีการศึกษาและจัดทำผลไว้เรียบร้อยแล้ว พร้อมนำเสนอและคิดว่าหากดำเนินการเรียบร้อยในสมัยรัฐบาลนี้จะเป็นประโยชน์กับการศึกษามากกว่า

 

การแยกกระทรวงเพื่อดูแลงานด้านอุดมศึกษา ซึ่งได้แก่ระดับมหาวิทยาลัยขึ้นไป เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าการรวมไว้ภายใต้กระทรวงเดียว กลายเป็นความอุ้ยอ้าย ขยับตัวและตัดสินใจได้ยาก มีผลต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญไม่ควรมองในเชิงการบริหารอย่างเดียว แต่น่าจะพิจารณาด้วยว่าการแยกกระทรวงออกมาจะช่วยยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพของอาจารย์ผู้สอน และบัณฑิตได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่พึงมีต่อสังคมในฐานะแหล่งวิชาการ พื้นที่ของปัญญาชนที่เป็นมันสมองของประเทศ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องเฉพาะของผู้บริหารมหาวิทยาลัย แต่ควรรับฟังเสียงของประชากรอื่นๆ ในงานอุดมศึกษา โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ไปพร้อมกันด้วย