‘จริยธรรมกลาง’มาตรฐานใหม่ร่างรธน.ฉบับประชามติ

หัวข้อข่าว ‘จริยธรรมกลางมาตรฐานใหม่ร่างรธน.ฉบับประชามติ

ที่มา; คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

 

สำนักข่าวเนชั่น

เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้นัด 5  ประธานองค์กรอิสระ เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ได้แก่ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)

 

การประชุมนัดแรกครั้งนี้ สืบเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2559 ฉบับผ่านประชามติ ในบทเฉพาะกาล  มาตรา 276 บัญญัติไว้ว่า.ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระดำเนินการให้มี มาตรฐานทางจริยธรรม ตามมาตรา 219 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระพ้นจากตำแหน่ง

 

ในขณะที่ มาตรา 219 บัญญัติไว้ว่า.ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นใช้บังคับแก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระและเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว ต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และต้องระบุให้ชัดแจ้งด้วยว่า การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมใดมีลักษณะร้ายแรง

 

การจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง ให้รับฟังความคิดเห็น ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย และเมื่อประกาศใช้บังคับแล้ว ให้ใช้บังคับแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีด้วยแต่ไม่ห้ามสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะรัฐมนตรีที่จะกำหนดจริยธรรมเพิ่มขึ้นให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของตน แต่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรฐานทางจริยธรรมตามวรรคหนึ่ง และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

สรุปเนื้อหาของทั้ง 2 มาตรา อธิบายง่ายๆ ได้ว่า เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ได้กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันกำหนด “มาตรฐานทางจริยธรรม” เพื่อใช้บังคับกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการองค์กรอิสระ, ผู้ว่าการ สตง. รวมทั้ง ส.ส., ส.ว., ครม.   ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจึงต้องมาประชุมร่วมกัน  โดยมีเวลา 1 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในการวาง

 

หลักการเกี่ยว กับมาตรฐานจริยธรรมกลาง”(ตอนนี้ยังไม่เริ่มนับหนึ่งเนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้)

 

แต่เดิมนั้นในเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นเรื่องของแต่ละองค์กรที่จะกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาและใช้บังคับกับคนในองค์กรนั้นเอง เช่น ในรัฐธรรมนูญปี 2550  มาตรา 279 บัญญัติว่ามาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละประเภท ให้เป็นไปตาม “ประมวลจริยธรรม” ที่กำหนดขึ้นดังนั้นจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมาแต่ละองค์กรก็จะออกมาตรฐานจริยธรรมของตนเอง ยกตัวอย่าง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออก “ประกาศศาลรัฐธรรมนูญ

 

เรื่อง ประมวลจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” โดยอาศัยอำนาจ มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญปี  2550 ในขณะนั้น และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  6 พฤศจิกายน 2555 กำหนดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นใน “จริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ดังนี้

ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยด้วยความซื่อสัตย์สุจริตโดยปราศจากอคติทั้งปวงเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชนและความสงบสุขแห่งราชอาณาจักร

ยึดมั่นความเป็นอิสระและเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่หวั่นไหวต่อกระแสหรือแรงกดดันใดๆ

รักษาความลับ ระเบียบ ข้อบังคับ และมารยาทในการประชุมปรึกษาอย่างเคร่งครัด

เคารพในมติและเหตุผลในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก

ระมัดระวังในการให้คำปรึกษาแก่บุคคลภายนอกในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็นต่อสื่อมวลชนหรือสาธารณชนในเรื่องที่เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เสนอหรืออาจจะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจักต้องไม่ประพฤติปฏิบัติหรือดำเนินการใด อันอาจกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้กรณีที่มีการประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมนี้ ให้ผู้มีส่วนได้เสียดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งก็คือการยื่นเรื่องถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญผู้ที่ฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมต่อวุฒิสภา

 

ส่วน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ผ่านมาก็ได้ออกระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ.2551 ดังนี้

ต้องดำรงตนอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริตและมีความน่าเชื่อถือ

ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ไม่จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง

ต้องไม่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นใด ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ

ต้องไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้ มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

 

นอกจากนี้ ระเบียบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว กำหนดว่า การฝ่าฝืนระเบียบฯ ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดทางวินัย ซึ่งการดำเนินการทางวินัยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน

 

ส่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาก็มีข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกับสมาชิกวุฒิสภาก็มีข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภา

 

แต่มาคราวนี้ จะมี “มาตรฐานจริยธรรมกลาง” ซึ่งใช้กับองค์กรต่างๆทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ, ป.ป.ช., กกต., กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, ส.ส., ส.ว. และ ครม. องค์กรเหล่านี้ต้องยึดปฏิบัติตามเหมือนกัน ซึ่งน่าจะมีบทลงโทษที่เข้มข้นและจริงจังมากขึ้นในทางปฏิบัติมากกว่ามาตรฐานจริยธรรม ของใคร-ของมันอย่างที่ผ่านมา ซึ่งไม่ค่อยลงโทษใครให้เห็นในเรื่องผิดจริยธรรม

 

หลังจากการประชุมร่วมนัดแรกเสร็จสิ้นลง ที่ประชุมก็ได้ให้แต่ละองค์กรไปยกร่าง “ประมวลจริยธรรมกลาง” มาเป็น “ตุ๊กตา” โดยอาจดูจากประมวลจริยธรรมเดิมที่แต่ละองค์กรเคยมีอยู่แล้ว หรือยกร่างขึ้นมาใหม่ก็ได้ โดยให้เวลา 1 เดือน

 

จากนั้นจึงค่อยมาประชุมร่วมกันอีก และคงมีการประชุมร่วมกันอีกเรื่อยๆ เพื่อค่อยๆ เคาะ ออกมาให้ได้เป็น “มาตรฐานจริยธรรมกลาง” ในที่สุด

ร่าง รธน. ฉบับผ่านประชามติ

ม.276 ให้ศาล รธน.และองค์กรอิสระ ดำเนินการให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม

ม.219 มาตรฐานทางจริยธรรม ใช้บังคับตุลาการศาล รธน., ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ, ผู้ว่าการ สตง., ส.ส., ส.ว., ครม.