เปิดพฤติกรรมต้องห้าม ผิดกฎหมาย ‘7 ชั่วโคตร’ – ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

หัวข้อข่าว เปิดพฤติกรรมต้องห้าม ผิดกฎหมาย ‘7 ชั่วโคตร

ที่มา; ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

 

กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อ “ดร.วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายรัฐบาล คสช.ประกาศเตรียมเข็น “กฎหมาย 7 ชั่วโคตร” ออกมาบังคับใช้.

 

ทั้งย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้น่ากลัวกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา!!! โดยขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับแก้ไขถ้อยคำและกระบวนการ คาดว่าจะส่งร่างให้คณะรัฐมนตรี( ครม.)พิจารณาอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ ก่อนส่งต่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาในขั้นต่อไป

 

ที่ถูกเรียกว่าเป็น “กฎหมาย 7 ชั่วโคตร ก็เพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ระบุชัด ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้เครือญาติ ครอบคลุมตั้งแต่ พ่อ แม่ บุตร ลูกเขย ลูกสะใภ้ ลุง ป้า น้า อา พ่อตา แม่ยาย ลูก หลาน เหลน จึงได้สมญาดังกล่าว

 

บทลงโทษที่เอาผิดทั้งตระกูล โดยที่อาจไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงมีเสียงทักท้วงว่า การบังคับใช้เข้มงวดและยุ่งยาก เกินความจำเป็น ในร่างกฎหมายที่เสนอล่าสุดจึงได้ปรับแก้ไขให้ครอบคลุมเพียง “3 ชั่วโคตร” คือ พ่อ แม่ ลูก และคู่สมรสของลูกเท่านั้น

 

ชื่อจริงของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. .   หรือ Conflict of interest ซึ่งมติสหประชาชาติ ถือว่าการกระทำการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีลักษณะ Conflict of interest เป็นการทุจริตคอร์รัปชันอย่างหนึ่ง และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 หรือ UNCAC 2003 มีบทบัญญัติกรณีนี้เอาไว้ชัดเจน โดยไทยได้เข้าเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้มาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2554

 

เมื่อเปิด “ข้อห้าม” ในร่างกฎหมายเดิมที่เสนอโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พบว่า มี 8 ประการ ดังนี้

1. กำหนดนโยบายหรือเสนอกฎหมายหรือกฎซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อกิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้เสียอยู่

2. นำความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ตนมีต่อบุคคลอื่น มาประกอบการใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลนั้น
3. กระทำการใด ดำรงตำแหน่งใด หรือปฏิบัติการใด ในฐานะส่วนตัว ที่ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะขัดกับประโยชน์ส่วนรวมที่อยู่ในความรับผิดชอบตามหน้าที่ หรือเป็นการเสื่อมเสียแก่ตำแหน่งหน้าที่

4.การใช้เวลาราชการหรือหน่วยงาน เงิน ทรัพย์สิน บุคลากร บริการ สิ่งอำนวยความสะดวกของทางราชการหรือหน่วยงานไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎ
5. การกระทำที่เกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

6.การใช้ข้อมูลภายในของรัฐที่ยังเป็นความลับอยู่ ที่ตนได้รับหรือทราบจากการปฏิบัติราชการ การปฏิบัติหน้าที่ หรือในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต
7.การริเริ่ม เสนอ จัดทำ หรืออนุมัติโครงการของรัฐโดยทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และ 8. การใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งตนมีอยู่ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นโดยทุจริตไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม โดยการกระทำตามข้อ 8 ที่ถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งอื่น กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ คือ

(1) อนุมัติ อนุญาต รับจดทะเบียน หรือให้สิทธิประโยชน์ อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ (2)ให้สัมปทาน ทำสัญญา หรือทำนิติกรรม อันเป็นการให้ประโยชน์แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด (3) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือน โอน ย้าย หรือให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในบังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม ข้อ 8 พ้นจากตำแหน่ง หรือพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ (4)ไม่แจ้งความหรือร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (5)ไม่ฟ้อง ไม่ดำเนินคดี หรือถอนฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา (6) ไม่บังคับการปกครอง หรือไม่บังคับคดี (7)กระทำการหรือไม่กระทำการอื่นตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ประกาศกำหนด

การกระทำใดตามวรรค 2 (1) (2) (3) และ (4) ที่จะถือว่าเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และจะใช้บังคับกับหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประกาศกำหนด

หาก ป.ป.ช.ไต่สวน พบว่ากระทำความผิด บทลงโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

 

อีกหนึ่งกฎหมาย “ปราบโกง” ที่รัฐบาลเตรียมนำออกมาสกัดคนทุจริตเร็วๆ นี้