อาญาสิทธิ์ปราบโกง!

หัวข้อข่าว; อาญาสิทธิ์ปราบโกง!

ที่มา: คอลัมน์ บ้านเกิดเมืองนอน, แนวหน้า ฉบับวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย สิริอัญญา

 

เพราะโกงกันทั้งแผ่นดิน โกงกันทุกขั้นทุกตอน โกงกันชนิดเย้ยฟ้าท้าดิน และหมักหมมมานาน ในขณะที่คนโกงยังลอยนวล หรือไม่ก็หลบหนีและยังมีเครือข่ายลิ่วล้อบริวารคอยปกป้องคุ้มครอง คอยเตะถ่วง เพื่อไม่ให้คนโกงเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือไม่ก็เพื่อให้ขาดอายุความ หรือเพื่อให้หลุดคดี จึงทำให้ประชาชนทั้งแผ่นดินเดือดแค้น

 

เดือดแค้นแรกถึงขั้นทนไม่ไหว ต้องลุกฮือขึ้นขับไล่ด้วยสองมือเปล่าต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 12 ปี ประชาชนต้อง เสียหาย ล้มตาย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังเห็นว่า เทือกเถาเหล่าโกงยังแฝงตัวฝังตัวพร้อมจะงอกงามขึ้นทุกเมื่อ

 

เดือดแค้นที่สองก็คือแม้มีการยึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 แล้ว ก็ยังมีทีท่าบางห้วงบางเวลาในลักษณะปรองดองแบบ “ขี้ผสมข้าว” แต่ในที่สุดเมื่อเหล่าโกงฮึกเหิมลำพองก่อกรรมทำเข็ญหนักขึ้น อาการปรองดองแบบขี้ผสมข้าวก็เห็นท่าขาดสะบั้นลงไปแล้ว

 

ดังนั้นกระบวนการปราบโกงจึงขับเคลื่อนไป ซึ่งถ้าหากมีการขับเคลื่อนดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้เกิดขึ้นแต่ต้น วันนี้ดอกผลที่จะปราบโกงให้สิ้นทั้งแผ่นดินไทยก็คงจะได้เห็นหน้าค่าตากันชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว แต่กระนั้นก็ต้องถือว่ายังไม่สายเกินไป

 

มันเป็นชะตากรรมของประเทศชาติ! เพราะสรรพสิ่งนั้นไม่ดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว ย่อมขึ้นกับสถานการณ์เงื่อนไขและปัจจัยแห่งเวลา มาบัดนี้รอบการเปลี่ยนแปลงใหญ่ 84 ปี ก็มาถึงแล้ว กรอบแรกของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ 7 ปีก็มาถึงแล้ว อาณาประชาราษฎรทั้งแผ่นดินก็พรั่งพร้อมที่จะสนับสนุนให้รัฐบาลทำการที่ถูกที่ควร โดยไม่ต้องประหวั่นหรือเกรงผลกระทบจากขบวนการโคตรโกงอีกต่อไป

 

จึงเห็นได้ชัดเจนว่ากระบวนการปราบโกงกำลัง ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสถานการณ์กาลเวลาและพลังประชาชน ที่สนับสนุนค้ำจุนรัฐบาลและอีกไม่ช้านานกำลังของฝ่ายโกงบ้านกินเมืองก็คงจะมอดไหม้ลงไป ในภาคประชาชน ก็เกิดการตื่นตัวอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะในต่างจังหวัดแม้ว่าในอดีตจะเคล้าคลีเป็นเนื้อเดียวกันและรับผลประโยชน์จากการโกง แต่มาถึงบัดนี้ความจริงก็ปรากฎให้ได้รู้กันแล้วว่าเศษเดนที่ขบวนการโกงให้แก่ราษฎรนั้น ไม่ต่างอะไรกับก้างปลาที่เหล่าโกงกินเนื้อเหลือแต่เศษโยนทิ้งโยนขว้างให้กับราษฎร

 

เหตุนี้ประชาชนในชนบทจึงตื่นตัวขึ้น ประสานการตื่นตัว เข้ากับประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ก่อเกิดเป็นกระแส ต่อต้านโกงทั้งแผ่นดิน และในที่สุดรัฐบาลก็ได้ขับเคลื่อนกระแสต่อต้านโกงทั้งแผ่นดิน ปราบโกงเก่า ป้องกันโกงใหม่ ดังที่ได้เคลื่อนไหวในสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

 

การทั้งนั้นเป็นปลายเหตุ หากต้นเหตุหรือกลางเหตุได้ดำเนินการเสียให้ถูกต้อง ก็ไม่ต้องต่อสู้และรับชะตากรรมอัน เลวร้ายมาถึง 12 ปี จนบ้านเมืองป่นปี้ดังที่เห็นๆ กันอยู่

 

และบัดนี้ก็ถึงกาลเวลาที่จะปฏิรูปกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือการคอร์รัปชั่น เพราะก่อนการเลือกตั้ง จะต้องมีการร่างกฎหมาย ป.ป.ช. หรือกฎหมายป้องกันและปราบปรามการโกงให้เสร็จเสียก่อน จึงจะมีการเลือกตั้งได้

 

ดังนั้นจะร่างกฎหมายนี้อย่างไรจึงจะสร้างกลไกที่มีประสิทธิผลในการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชั่น เพราะที่ผ่านมานั้นความจริงได้พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่าทั้งการป้องกันและการปราบปรามไร้ผล จึงทำให้การโกงลุกลามไปทั้งแผ่นดิน จนกระทั่งหวุดหวิดจะสิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน

 

สรุปรวมก็คือ ขบวนการปราบโกงที่ผ่านมานั้นล่าช้า ไม่ทันการณ์ แม้พบเห็นการโกงก็ได้แต่มองตาปริบๆ เพราะ ขั้นตอนและมาตรการตามกฎหมายไร้ประสิทธิภาพ และเป็นแบบอย่างอันเจ็บปวดให้กับชาติบ้านเมือง

 

ดังนั้นกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่ที่จะร่างขึ้นจึงต้องแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าวเสียให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหตุนี้จึงขอเสนอมาตรการพิเศษสองประการ เสริมเพิ่มเติมเพื่อทำให้กระบวนการปราบโกงมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง นั่นคือ ขอเสนอให้กฎหมาย ป.ป.ช.ใหม่บัญญัติเรื่องเหล่านี้เอาไว้ ก็จะเป็นผลในการปราบโกงได้อย่างเฉียบขาด

 

มาตรการแรก คือมาตรการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งต้องบัญญัติว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดมีทรัพย์สินรวมกันไม่ว่าในชื่อตนเองหรือผู้อื่นเกินกว่าสิบเท่าของจำนวนเงินได้ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีในรอบระยะเวลา 10 ปีก่อนรับตำแหน่ง หรือก่อนเวลาใดที่ถูกไต่สวน ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นเป็นผู้ร่ำรวยผิดปกติ

 

และเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐคนใดถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่าร่ำรวยผิดปกติ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องพิสูจน์การได้มาซึ่งทรัพย์สินว่าได้มาโดยชอบและได้เสียภาษีอากรถูกต้องครบถ้วนแล้ว

 

หากพิสูจน์ไม่ได้หรือไม่พิสูจน์ให้แล้วเสร็จในเวลากำหนด ให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หรือถ้าพิสูจน์การได้มาแล้ว แต่ปรากฏว่าเสียภาษีไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ก็ให้เรียกเก็บค่าภาษีที่ค้างชำระให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เหลือเท่าใดจึงคืนทรัพย์สินนั้นไป และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร้องเรียนแจ้งเบาะแสทรัพย์สินนั้นด้วย

 

มาตรการที่สอง คือมาตรการป้องกันและแก้ไขความเสียหาย นั่นคือเมื่อ ป.ป.ช.พบว่าโครงการหรือการดำเนินโครงการใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐส่อว่าจะเกิดความเสียหายแก่รัฐหรือประชาชน หรือส่อจะมีการทุจริต ให้ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งระงับหรือยกเลิกโครงการหรือการกระทำนั้นได้ และให้ ป.ป.ช.ทำการไต่สวนจนคดีถึงที่สุด และถ้าปรากฏมีการ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ให้ ป.ป.ช. มีอำนาจอายัดทรัพย์สินของผู้ทำให้เกิดความเสียหายไว้ก่อน จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

 

นี่คือมาตรการสร้างกลไกที่มีประสิทธิผลในการปราบปรามการทุตริตคอร์รัปชั่นตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติ