วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2559 กรรมสนองโกง

หัวข้อข่าว: วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2559 กรรมสนองโกง

ที่มา: คอลัมน์ ชานชาลาประชาชน, ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559

 

11 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้จัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2559” ขึ้น ภายใต้แนวคิด “กรรมสนองโกง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจุดพลังความร่วมมือของประชาชนทุกภาคส่วนให้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาคอร์รัปชัน และถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อขจัดปัญหาให้หมดไป ให้ประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน

 

นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2559” เพื่อที่จะทำให้การคดโกงทุจริตหมดไปจากประเทศไทย

 

“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันแห่งประเทศไทยได้ประกาศจุดยืนในการที่จะเปลี่ยนสังคมไทย ชักชวนให้คนไทยทุกคนต่อต้านการคอร์รัปชันให้หมดไปจากสังคมไทย

 

หลายคนหัวเราะ หลายคนส่ายหัว และหลายคนก็เมินเฉย คนไทยเกลียดการคดโกง แต่คนไทยก็สิ้นหวังกับการต่อสู้ สิ่งที่ได้ยินเสมอมาคือ เราจะทำไปเพื่ออะไร กฎหมายศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่ เมื่อไหร่คนโกงจะได้รับการลงโทษ และนี่คือที่มาของงานในวันนี้ กรรมสนองโกง”

 

นายประมนต์กล่าวต่อไปว่า วันนี้การโกงของคนที่ทุจริตกำลังโดนกฎหมายตามลงโทษอย่างจริงจัง เด็ดขาดและรวดเร็ว ซึ่งเป็นไปตามหลักครรลองของกระบวนการยุติธรรมตามมาตรฐานสากล

 

“วันนี้พลังประชาชนเริ่มมีแสงสว่าง กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เริ่มเห็นผล กระบวนการยุติธรรมมาเป็นที่พึงของสังคมไทยได้อีกครั้ง วันนี้ เราไม่ต้องบนบานศาลกล่าวขอให้กฎแห่งกรรมทำงาน เพราะกฎหมายกำลังตามลงทัณฑ์คนโกงอย่างเที่ยงธรรม กลไกทุกอย่างของสังคมเริ่มขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ความเลวร้ายของคนโกงเริ่มได้รับการตีแผ่ ทุกคนเริ่มตาสว่าง ใจสว่าง เริ่มมองอนาคตอย่างมีความหวัง

 

วันนี้ คนโกงที่ทำกรรมต่อประเทศเริ่มได้รับกรรมสนองโกง วันนี้ เรามาอยู่ร่วมกันเพื่อขอบคุณและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นผลงานของเราทุกคน”

 

ขณะที่ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ได้กล่าวถึงผลงานและนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันว่า มีความคืบหน้าทั้งในเชิงการบังคับใช้กฎหมายและสร้างกลไกต่างๆ พร้อมเรียกร้องประชาชนให้เลือกคนดีที่จะเข้ามาบริหารประเทศหลังจากนี้ เพื่อสานต่อนโยบายดังกล่าว

 

“ผมเชื่อเหลือเกินว่า ปัญหาระยะยาว และสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้พยายามแก้ปัญหาให้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งเป็นคำสั่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะยังคงอยู่ตลอดไปนั้น หรือเราจะแก้ไปที่ระบบราชการ คือ ศูนย์ปฏิบัติการต่อการทุจริต (ศปท.) ซึ่งอยู่ประจำแต่ละกระทรวง 40 หน่วยงานกำลังจะเกิดขึ้นมา เพราะนอกจากเราทำงานแล้ว เราเห็นว่า ศอตช.นั้นคงรับมือไม่ได้กับงานทั้งประเทศ กับข้าราชการทั้งประเทศ ศปท.ควรจะมีบทบาทที่ดูแลเป็นรายกระทรวง รายกรม รายกองที่เป็นอิสระ ศปท.กำลังจะเกิดขึ้น ท่านนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้จัดตั้ง ศปท.ขึ้นเพื่อกำหนดอำนาจราชการที่ถาวร ศปท.แต่ละกระทรวงจะมาทำหน้าที่เดินงานแทนที่ ศอตช.”

 

พลเอกไพบูลย์กล่าวต่อไปว่า การปราบปราบทุจริตที่ดีที่สุดคือ การป้องกัน ที่ผ่านมารัฐบาลที่พยายามทำทั้งใช้มาตรา 44 การโยกย้ายข้าราชการ ออกกฎหมายก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้ประเทศนี้แก้ไขปัญหาในระยะยาวได้เลย การปราบปรามหมายถึงการสูญเสียทรัพยากรทั้งสิ้น แม้จะจับคนทุจริตได้ก็ไม่สามารถที่จะหางบประมาณตรงนั้นมาคืนได้ ไม่สามารถพัฒนาประเทศไปตามขั้นตอนที่วางได้เลย

 

“ระบบป้องกันเป็นระบบที่ควรนำใช้ให้มากที่สุด เพราะมันจะทำให้ไม่เกิดการสูญเสียอะไรเลย”

 

“เว็บไซต์รัฐบาลไทย” รายงานข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงาน และได้กล่าวปาฐกถาเนื่องในงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2559” ตอนหนึ่ง ความว่า

 

“การทุจริตคอร์รัปชัน เป็นกับดักสำคัญของประเทศไทย ทำให้ประเทศเจริญเติบโตช้า และเป็นต้นเหตุของหลายๆ ปัญหา รวมทั้งการไม่ยอมรับของต่างประเทศ วันนี้ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลได้ทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไขปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหาเก่า ป้องกันการคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้นใหม่มาอย่างต่อเนื่อง

 

พร้อมกับส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ บริหารงานในองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตลอดจนมีการวางมาตรการทางกฎหมาย ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ไม่จำเป็น

 

รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและจัดให้มีกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน และบทลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจน นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับปรุงกฎหมาย สร้างกลไกการใช้อำนาจให้เกิดความยุติธรรมและเที่ยงธรรม โดยจะไม่เข้าไปก้าวก่ายอำนาจของกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม พร้อมทั้งไม่ต้องการให้การบังคับใช้กฎหมายส่งผลกระทบให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ ตามมา ทั้งนี้ ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย ปฏิบัติตามขอบเขตของกฎหมายอย่างจริงจัง และกระบวนการตามกฎหมายต้องเข้มแข็ง ปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด

 

ในส่วนของข้าราชการ ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้าง การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ที่จะต้องดำเนินการโดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบความเป็นมาของการดำเนินการ การประกวดราคา และผลการดำเนินการ

 

ตลอดจนมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ทั้งการผลิตสื่อและการรณรงค์สร้างการรับรู้ของประชาชนทุกระดับในวงกว้าง เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึก ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม และประชาชนเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดในเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการให้การศึกษาเรื่องนี้แก่เด็กและเยาวชน

 

รวมถึงสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ลดความหวาดระแวง และยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ให้บริการประชาชนด้วยความเต็มใจ ลดช่องว่างการทำงานระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนต่อไป”

 

วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2559 กรรมสนองโกง ซึ่งรณรงค์ให้กฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์ จัดการกับคนโกงให้ได้รับกรรมอย่างเที่ยงธรรมและมีประสิทธิภาพ นอกจากกลไกและนโยบายรัฐที่เป็นรูปธรรมแล้ว

 

การเลือก “คนดี ใจซื่อ มือสะอาด” คือ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุจริตคดโกงหมดไปจากประเทศไทย

 

“โครงการสร้างคนดี มองการณ์ไกล ไทยรุ่งเรือง”ภายใต้มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว จึงรณรงค์ให้ประชาชนใช้หลักคุณธรรมเลือกคนดีเข้ามารับผิดชอบบ้านเมืองเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้สิ้นซากไป.