หัวข้อข่าว ‘ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ‘ฝากไว้ในตำนาน‘มนุษย์ทองคำ‘วงการหุ้น
ที่มา; ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2559
นับจากวันที่ 14 กันยายน 2559 มนุษย์ทองคำในวงการตลาดหุ้นที่ชื่อ “ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ” ก็ต้องยุติบทบาทลง หลังถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ลงโทษด้วยการพักการให้ความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน 2 ปี
“ประสิทธิ์” โดนก.ล.ต.สอยลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) แอพเพิล เวลธ์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากละเลยการตรวจสอบดูแลระบบงานในการทำความรู้จักลูกค้า ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้า ซึ่งเป็นระบบงานหลักที่สำคัญและมีผลต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนโดยรวม ทั้งนี้ก.ล.ต.ตรวจพบหลังบ้านหรือแบ็กออฟฟิศของบล.แอพเพิล เวลธ์ฯ มีรูรั่วเบ้อเริ่ม โดยพบความบกพร่องในระบบงานการทำความรู้จักลูกค้าและตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Know Your Customer / Customer Due Diligence : KYC/CDD) และการกำกับดูแลการทำธุรกรรมของลูกค้าที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะระบุตัวตนหรือผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงของลูกค้า รวมถึงยังไม่สามารถป้องกันการกระทำที่อาจไม่เหมาะสมของลูกค้าได้ และหากลูกค้าดังกล่าวมีการกระทำที่ผิดกฎหมาย บริษัทอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกพิจารณาได้ว่ามีส่วนสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมในการกระทำดังกล่าวของลูกค้า
“ประสิทธิ์” จัดเป็นคนหนุ่มไฟแรงของวงการตลาดหุ้น เป็น 1 ใน 5 ของซีอีโอ ที่ได้รับเงินเดือนสูงที่สุดในประเทศไทย เข้าสู่เส้นทางสายตลาดหุ้นปี 2544 หรือเมื่อ 15 ปีก่อน
เขาเคยเล่าว่าสมัยที่เป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่หาดใหญ่ เคยเสี่ยงตายว่ายน้ำฝ่าน้ำท่วมไปห้องค้าหลักทรัพย์เพื่อเคาะขาย หุ้น 600 ล้านบาทให้ลูกค้าได้สำเร็จก่อนหมดเวลาซื้อขายหุ้นจนได้ใจลูกค้าไปเต็มๆ ฉายแวว “มนุษย์ทองคำ” แห่งวงการตลาดหุ้นมานับแต่นั้น โดยมีข้อเสนอซื้อตัวจากนักธุรกิจมากมาย
“ประสิทธิ์” เคยให้สัมภาษณ์ว่า เงินไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับเขาในการตัดสินใจทำงาน แต่เขายึดแนวคิด “ขอเป็นคนเลือกนาย ไม่ใช่ให้นายเลือก”
ความขยันขันแข็ง ดูแลลูกค้าอย่างดี และที่สำคัญลูกค้าเล่นหุ้นของเขาล้วนกระเป๋าหนัก หรือเป็นนักลงทุนรายใหญ่ระดับวีไอพี เขามีก๊วนเพื่อนมาร์เก็ตติ้งที่จับมือกันแน่น ทำให้ปี 2549 “ประสิทธิ์” เติบใหญ่ในตำแหน่งซีอีโอ หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. บีฟิทฯ (ปี 2549- 2552) และสามารถสร้างผลงานได้โดดเด่น ส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.63% จากระดับ 0.74% ในเวลาไม่ถึง 1 ปี
หลังลาออกจาก บล.บีฟิทฯ “ประ สิทธิ์” ได้ยกทีมเพื่อนๆ ที่ล้วนเป็นมาร์เก็ตติ้งหุ้นแถวหน้าแต่ละคนดูแลพอร์ตลูกค้าระดับพันล้านไปบล.คันทรี่ กรุ๊ปฯ ของตระกูล “เตชะอุบล” โดยเขานั่งตำแหน่งสูงสุด คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ปี 2552- 2556)
ต่อมาในปี 2557 “ประสิทธิ์”เลิกเป็นมือปืนรับจ้าง หันมาเป็นเจ้าของกิจการ โดยรวมตัวกับก๊วนเพื่อนมาร์เก็ตติ้งกลุ่มเดิมที่ไปไหนไปกันด้วยการลงขันซื้อบล.สินเอเซียฯ ต่อจาก บล.ฟินันเซีย ไซรัสฯ เพื่อมาบริหารเอง และเปลี่ยนชื่อเป็นบล.แอพเพิล เวลธ์ฯ และว่ากันว่าที่โบรก เกอร์แห่งนี้มีแต่ลูกค้าระดับวีไอพี ทั้งคนการเมืองและนักธุรกิจ
“ประสิทธิ์” ยังมีสายสัมพันธ์กับอดีตนักการเมือง และเขายังสวมหมวกอีกใบ คือ เป็นผู้บริหารระดับสูงสุด ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็มลิงค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ MLINK ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เฟอร์รั่มจำกัด (มหา ชน) หรือ FER ซึ่งเป็นของกลุ่มตระกูล “วงศ์สวัสดิ์” ภารกิจของเขา คือ ทำให้ผลประกอบการพลิกมีกำไร หรือเป็นหุ้นเทิร์น อะราวด์
การถูกโทษแบน 2 ปี “ประสิทธิ์” ได้ดิ้นรนต่อสู้ขอความเป็นธรรมด้วยการยื่นขออุทธรณ์คำสั่งของก.ล.ต.ต่อไป โดยเขายืนยัน 4 ข้อ คือ 1. ไม่ได้ทำความเสียหายให้กับลูกค้าและบริษัท 2. ทำตามกฎเกณฑ์ของสมาคมบริษัทหลักทรัพย์และก.ล.ต. 3. ให้ความสำคัญกับ KYC, CDD,STR และปปง. และ 4. ทำงานตามระบบกฎเกณฑ์มาตรฐานของบริษัทที่กำหนดไว้
“ผมเสียใจ คนอื่นทำได้แต่ผมทำไม่ได้ เรื่องโอนหุ้นข้ามชื่อ โบรกเกอร์อื่นก็ทำ ผมก็ทำ พอ ก.ล.ต.มาบอกว่าทำเยอะเกินไปแล้ว ผมก็ลดจำนวนลง เพราะผมเป็นเด็กดีมาตลอด ขณะที่คู่แข่งยังทำอยู่ สมาคมก็ไม่ได้มีกฎออกมา ผมต้องยอมเสียเปรียบในเชิงการแข่งขัน ทั้งที่ระบบมันเสรีแล้ว”
ข้างต้น คือ ประโยคทิ้งท้ายของมาร์เก็ตติ้งมือทองแห่งวงการโบรกเกอร์หุ้น และซีอีโอผู้หวือหวา “ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ”