รายงาน: องค์การอนามัยโลกสาธารณสุขไทย ไม่โปร่งใสใต้อิทธิพลNGOสายสุขภาพ

หัวข้อข่าว: รายงาน: องค์การอนามัยโลกสาธารณสุขไทย ไม่โปร่งใสใต้อิทธิพลNGOสายสุขภาพ

ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

 

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับการประชุมรัฐภาคียาสูบ ครั้งที่ 7 ที่จะมีขึ้น ณ ประเทศอินเดีย ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ยิ่งใกล้ถึงวันประชุม กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วมุมโลกถึงความไม่โปร่งใสของการประชุมยิ่งชัดเจนขึ้น แว่วมาว่างานนี้ ตัวแทนของแต่ละประเทศที่จะได้รับเชิญเข้าไปร่วมประชุมต้อง เปิดเผยข้อมูลต่อคณะผู้จัดว่ามีความข้องเกี่ยวหรือทำงานร่วมกับบริษัทยาสูบหรือไม่

 

ถ้าจะสกรีนเพื่อเอาแต่คนในวงของตัวเอง คนที่มีแนวคิดต่อต้านอุตสาหกรรมแบบเดียวกันแบบนี้ ก็ไม่รู้การประชุมสำคัญระดับโลกอย่างนี้ จะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อส่วนรวมได้อย่างไร การประชุมที่จะได้ประโยชน์อันดีต่อส่วนร่วม โดยปกติแล้วควรต้องมีผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากหลายฝ่าย มีความคิดเห็นหลากหลาย เพื่อให้ข้อตกลงที่หารือร่วมกันมีความเป็นกลางและเกิดประโยชน์อย่างสมดุลต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด

 

หากลองเปรียบเทียบกับการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผู้นำจาก 147 ประเทศ ผู้แทนกว่า 10,000 คนจาก 195 ประเทศเดินทางไปเข้าร่วมประชุม และองค์กรเอ็นจีโอหลากหลายจากกว่า 2,000 องค์กรเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งความต้องการ อย่างมีเหตุมีผลของประเทศสมาชิกได้รับการพิจารณาอย่างชอบธรรม แม้ที่ประชุมจะมีข้อขัดแย้งในแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม แต่ผู้ร่วมประชุมทุกฝ่ายเห็นด้วยในหลักการทั่วไปของการแก้ปัญหาโลกร้อน และสามารถบรรลุความเห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญ เช่น งบประมาณ ความโปร่งใสในการปฏิบัติ ซึ่งที่สุดทำให้สามารถบรรลุอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ในที่สุด

 

ในขณะที่การประชุมกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การ อนามัยโลก มีเพียง 20องค์กรเอ็นจีโอหน้าเดิมๆ เท่านั้นที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม ยิ่งไปกว่านั้น ยังไร้เงาของตัวแทนจากกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ กลุ่มผู้บริโภค หรือกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เพราะล่าสุด สมาคมเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบสากล (International Tobacco Growers Association) เพิ่งจะถูกปฏิเสธคำขอในการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

 

เป็นที่รู้กันมาโดยตลอดว่า การประชุมรัฐภาคียาสูบฯ มีภาพลักษณ์เรื่องขาดความโปร่งใสมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องกีดกันการเข้าร่วมของสื่อมวลชน การไม่รับฟังมุมมอง หรือความเห็นรอบด้านจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้ว แบบนี้การประชุมจะบรรลุประโยชน์สูงสุดบนพื้นฐานของความเป็นกลาง และไม่สร้างผลกระทบต่อกฎหมาย หรือสร้างภาระในการปฏิบัติเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้อย่างไร

 

ขอยกตัวอย่างหนึ่งในข้อกำหนดของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบคือให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อสกัดกั้นการบริโภคยาสูบและหยุดยั้งการเสียชีวิตได้ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมาย ทางสาธารณสุขนี้ เพียงแค่การออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ หรือควบคุม การทำการตลาดบุหรี่อย่างเดียวแบบที่ทำมาในอดีตคงไม่พอ ถึงแม้ว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรทั่วโลกจะมีแนวโน้มลดลง แต่แทบจะเรียกได้ว่าไม่มีหลักฐานใดเลยที่จะบ่งชัดเจนลงไปได้ว่า การลงนามร่วมกันในกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบฯ ของประเทศสมาชิก ตั้งแต่ปี มี 2546 มีส่วนช่วยเร่งอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรโลกได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

นี่คงพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่รัฐบาลหรือเอ็นจีโอต่อต้านบุหรี่ในหลายประเทศกำลังทำอยู่ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการลดบุหรี่ได้จริง มีหลายครั้งที่การประชุมนี้หยิบยกเรื่องการมาตรการที่สมดุลเพื่อควบคุมการบริโภคบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศว่า มีประสิทธิภาพในการช่วยลดการสูบบุหรี่และสามารถช่วยให้ผู้สูบเลิกบุหรี่ ได้จริง แต่มาตรการนี้ก็ต้องถูกปัดทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย เพราะกลุ่ม ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเอ็นจีโอที่มีแนวคิดในการต่อต้านอุตสาหกรรมบุหรี่

 

ล่าสุด Reason Foundation ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่มุ่งทำวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะของสหรัฐอเมริกา ระบุในรายงานฉบับล่าสุดยืนยันว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบลดความเสี่ยงสามารถลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ของผู้สูบบุหรี่ได้ และเตือนไปยังรัฐบาลของหลายประเทศในแถบเอเชียว่า การใช้มาตรการทางกฎหมายที่เกินเลย จะทำให้ประเทศเสียโอกาสบรรลุ เป้าหมายการควบคุมการบริโภคยาสูบ พร้อมย้ำการประชุมรัฐภาคียาสูบฯ ที่จะมีขึ้นเร็วๆ นี้ในอินเดีย เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะได้พิจารณาแนวทางในการควบคุมที่เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้

 

หากการประชุมระดับโลกเพื่อกำหนดนโยบายเพื่อการควบคุมการบริโภคบุหรี่ มีแต่ตัวแทนที่มาจากเอ็นจีโอต่อต้านบุหรี่ หยิบยกแต่ประเด็นการควบคุมที่เข้มงวดไร้เหตุผล เราจะคาดหวังให้นโยบายที่ออกมามีความสมดุลและเป็นกลางได้อย่างไร และถ้าเรายังไม่สามารถทำให้ตัวแทนที่จะเข้าร่วมประชุมมาจากผู้กำหนดนโยบายจากทุกภาคส่วนได้ การหารือแบบโปร่งใสและเป็นกลางจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

 

ประเทศไทยเองในฐานะสมาชิกลำดับที่ 36 ที่ร่วมลงนามในกรอบ อนุสัญญาฯ ก็เริ่มจะเคลื่อนไหวในการส่ง “เอ็นจีโอสายสุขภาพ” ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่ในการออกกฎหมายหรือเกี่ยวข้องโดยตรงในนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศไปเป็น “ตัวแทน” ประเทศในการเข้าร่วมประชุม โปรแกรมและหัวข้อการประชุมที่คณะผู้จัดประกาศออกมาอย่างลับๆ นั้น จนถึงทุกวันนี้ หน่วยงานราชการหลักที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิต โรงงานยาสูบ หรือแม้แต่ชาวไร่ยาสูบ ซึ่งเกี่ยวข้องและจะได้รับผลกระทบโดยตรงในอุตสาหกรรมนี้ก็ยังไม่ได้รับทราบหรือได้รับการติดต่อให้เข้าไปร่วมกำหนดท่าทีของประเทศร่วมกัน หน่วยงานเหล่านี้เริ่มแสดงความกังวล เพราะรู้ดีว่ามติที่บิดเบือนมาจากที่ประชุมจะส่งผลกระทบและสร้างความอึดอัดในการทำงานอย่างมากมาย

 

หากจะเรียกศรัทธาคืนให้แก่การประชุม และการทำหน้าที่ตัวแทนประเทศไทยในครั้งนี้ ขอเรียกร้องให้มีการจัดการประชุมร่วมกันของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหารือข้อเสนอ และผลกระทบในภาพกว้าง ที่จะยังประโยชน์ให้ทั้งทางด้านนโยบายสาธารณสุข การเงินการคลัง และความเป็นอยู่ของเกษตรกรในชาติ.