หัวข้อข่าว: ปราบคอร์รัปชั่น : ปัญหาโลกแตก
ที่มา: คอลัมน์ วสิษฐ เดชกุญชร, มติชน ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 กันยายนที่ผ่านไปนี้ ที่ท้องสนามหลวงในกรุงเทพมหานคร มีการจัดงานใหญ่ซึ่งจัดว่าเป็นงานประจำปีที่สำคัญที่สุดงานหนึ่ง คืองานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ 2559 ในโอกาสนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.) ประธานงานได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “มาตรการจัดการการคอร์รัปชั่นของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม”
ในตอนหนึ่งของปาฐกถา พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การทุจริตไม่ใช่แค่เรื่องเงินทองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำผิดกฎหมายอย่างอื่น เช่นการขายของผิดที่ผิดทาง ซึ่งต้องถือว่าทุจริตด้วย ท่านกล่าวด้วยว่าท่านเข้าใจดี ว่าเมื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาจะทำให้เกิดความขัดแย้งสูง แต่ก็ต้องทำเพื่อปรับระบบให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน และถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ความเดือดร้อนจะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆ นายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม แม้จะมีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชี้เป็นชี้ตายได้ แต่ก็ไม่
กระแสทรรศน์เคยทำ และต่อไปก็จะไม่มีมาตรา 44 แล้ว การแก้ไขปัญหาต้องถือเอากฎหมายสากลและความร่วมมือของประชารัฐเป็นหลัก การแก้ไขปัญหาโดยใช้กฎหมายจะไม่มีวันจบ ต้องแก้ไขปัญหาอย่างอื่นไปพร้อมกันด้วย เช่น ปัญหาความยากจน ลดการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ความไม่พอเพียง และการศึกษา ทุกอย่างเกี่ยวพันกันเป็นห่วงโซ่ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และต่างประเทศ เป็นปัญหาที่ทับซ้อนกันอยู่ เพราะเวลาที่จำกัด พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่สามารถที่จะแจงรายละเอียดของการแก้ปัญหาการทุจริตได้ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งผมเห็นว่าสำคัญที่สุด เพราะสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนเป็นที่อบรมบ่มนิสัยและจริยธรรมของนักเรียนมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่สมัยนี้เราจะเห็นว่าบทบาทของโรงเรียนเกี่ยวกับการปลูกฝังความสุจริตนั้นน้อยลงจนเกือบไม่มีเหลือแล้ว แม้แต่ครูอาจารย์เองก็กลายเป็นตัวอย่างของความประพฤติมิชอบ จึงไม่ต้องสงสัยอะไรเลยว่า เหตุใดเยาวชนทั้งชายและหญิงจึงมีพฤติกรรมล่วงศีลขาดธรรมดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
สมัยก่อนนี้ในชั้นมัธยมมีวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมเป็นวิชาบังคับ แต่สมัยนี้ไม่มีการสอนวิชานี้แล้ว หรือถ้ามีก็เป็นวิชาความรู้ทั่วไป ไม่ บังคับให้เรียน การแก้ปัญหานี้จึงจำเป็นต้องทำด้วยการรื้อระบบการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตร และนำเอาศีลธรรมหรือจริยธรรมเข้าไปเป็นวิชาสำคัญในหลักสูตรการศึกษา และต้องเป็นวิชาบังคับ ทั้งในระดับประถม มัธยม และอุดมศึกษาด้วย
เมืองไทยของเราได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ แต่น่าเสียดายที่คนไทยเป็นจำนวนมากนอกจากจะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องพระพุทธศาสนาแล้ว ยังมีพฤติกรรมเหมือนคนไร้ศาสนาด้วย คดีอาญาที่เกี่ยวกับการลักเล็กขโมยน้อยมีมากจนตำรวจไม่รับแจ้งความ หรือรับก็รับอย่างเสียไม่ได้ รับแล้วก็ไม่ติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด ในที่สุดคดีลักเล็กขโมยน้อยก็บานปลาย กลายเป็นคดีลักใหญ่ขโมยหลวง จนกระทั่งประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองหัวขโมย และเป็นประเทศที่มีความทุจริตสูงประเทศหนึ่ง
นายกรัฐมนตรีกล่าวในปาฐกถาพิเศษด้วยว่า การแก้ปัญหาทุจริตซึ่งอยู่ในแผนการปฏิรูป 20 ปีของรัฐบาลต้องทำตั้งแต่วันนี้ และอีก 20 ปีข้าง หน้าประเทศไทยจะปราศจากทุจริตหากทุกฝ่ายร่วมกัน และประชาชนให้กำลังใจให้คนดีเข้ามาทำงาน
ผมเชื่อว่าไม่มีวันที่ประเทศไทยจะปราศจากทุจริต เพราะตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่ ตราบนั้นมนุษย์ก็จะไม่สิ้นโลภอันเป็นเหตุของทุจริต แต่ผมก็ เชื่อว่าการร่วมมือกันของทุกฝ่าย และการให้กำลังใจให้คนดีเข้าไปทำงานให้บ้านเมืองจะทำให้ทุจริตน้อยลงกว่านี้ แม้จะยังไม่หมดไปโดยสิ้นเชิงก็ตาม