หัวข้อข่าว: เปลือยทรัพย์ข้าราชการ สร้างความโปร่งใส
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีมติเอกฉันท์ 168 เสียง เห็นชอบกับรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ เรื่อง “การปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลในภาครัฐ” โดย สปท.จะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
มาตรการ 1 กำหนดนโยบายเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐบาลต้องกำหนดให้ทุกหน่วยงานทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรในกำกับของรัฐ และองค์การมหาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการกำหนดนโยบายเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ โดยมีมาตรการอย่างเป็น รูปธรรม มีขั้นตอนนำนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่นไปปฏิบัติ มีการปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายเกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น
จากนั้น จะต้องมีการติดตามประเมินผล ทุกหน่วยงานมีการประเมินตนเองผ่านโครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีการปรับปรุงข้อคำถามในแบบสำรวจให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามแนวทางการกำหนดนโยบายเพื่อความโปร่งใสในการดำเนินงานภาครัฐ และนำผลการประเมินไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ เพื่อให้หน่วยงานที่ประเมินตนเองใช้ในการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานเกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชั่นขององค์กรให้มีความโปร่งใสยิ่งขึ้นต่อไป
มาตรา 2 กำหนดบุคคลที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มเติมให้ ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังต่อไปนี้ ให้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 40
1.ผู้บริหารที่มีอำนาจอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้าง
2.ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการ องค์กรในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. เช่น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการประกันสังคม เป็นต้น
3.ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดจ้าง การอนุมัติ อนุญาต การแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปดำรงตำแหน่งต่างๆ
กำหนดให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน รวมทั้งสามี หรือภรรยาและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องยื่นบัญชีรายได้ ทรัพย์สินและหนี้สิน ทุก 1-3 ปี โดยให้ส่วนราชการต้นสังกัดเป็นผู้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ เก็บข้อมูลไว้ในแฟ้มประวัติข้าราชการ และรายงานการยื่นบัญชีของข้าราชการในสังกัดเพื่อเป็นกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริตและส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในระบบราชการ ป้องกันการทับซ้อนของผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม และเป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบเมื่อมีข้อสงสัย
โดยให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ดำเนินการจัดทำรายละเอียดของข้อมูลที่ต้องยื่นคู่มือแนวทางปฏิบัติ บทลงโทษทางวินัยเมื่อมีเจตนาแจ้งข้อมูลเท็จ และออกแบบระบบที่ใช้เป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเก็บฐานข้อมูลข้าราชการเมื่อพร้อม
มาตรการ 3 การแสดงผลการจัดซื้อจัดจ้างเปรียบเทียบ ให้กรมบัญชีกลาง มีหน้าที่รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลแสดงผลการจัดซื้อจัดจ้างเปรียบเทียบของครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง ในรายการประเภทเดียวกัน และให้ดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในระบบเครือขายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้น และเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้ค้าหรือผู้สนใจทั่วไป เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงในการเสนอราคาเพื่อความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ลดปัญหาการทุจริต และประหยัดงบประมาณ ทำให้การใช้งบประมาณของรัฐมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
มาตรการ 4 กำหนดให้มีหน่วยงานกำกับ ติดตาม และประเมินผลให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ประจำกระทรวง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบระดับกระทรวง ทำหน้าที่กำกับ ติดตาม และประเมินผล ในหน่วยงานภาครัฐ และให้มีการตั้งหรือมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานในระดับ กรม และหน่วยงานในระดับจังหวัด อำเภอ รวมทั้ง รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรในกำกับของรัฐ และองค์การมหาชน รับผิดชอบในระดับรองลงไป
มาตรการ 5 เกณฑ์จริยธรรม ข้อห้ามปฏิบัติ และคู่มือในการจัดซื้อจัดจ้าง สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐให้กรมบัญชีกลางกำหนดเกณฑ์จริยธรรม ข้อห้ามปฏิบัติ และคู่มือในการจัดซื้อจัดจ้าง สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรในกำกับของรัฐ และองค์การมหาชน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์กลางของประเทศ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสตรวจสอบได้ ลดปัญหาการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและมีมาตรฐานเดียวกัน
มาตรการ 6 ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการให้เป็นองค์กรคุณธรรม รัฐบาลต้องกำหนดให้ทุกหน่วยงานต้องดำเนินการให้เป็นองค์กรคุณธรรมตามแนวทางศูนย์คุณธรรม และสอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาคุณธรรมแห่งชาติ โดยให้ศูนย์คุณธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดองค์กรคุณธรรมในภาคราชการ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ในลักษณะระเบิดออกจากข้างในหรือล่างสู่บน เพื่อนำไปสู่การเป็น “องค์กรคุณธรรม” และปรับบทบาทของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตของ ทุกหน่วยงานให้เป็นหน่วยงานหลัก ในการปฏิบัติหน้าที่ขับเคลื่อนผลักดัน ให้เกิด “องค์กรคุณธรรม” ขึ้น