ฝายแม่ผ่องพรรณ’แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

หัวข้อข่าว: ฝายแม่ผ่องพรรณ’แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

ที่มา: คอลัมน์ ขยายปมร้อน, คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ 

 

กลายเป็นปรากฏการณ์สะท้านสะเทือนสังคมออนไลน์ เมื่อมีคนโพสต์ภาพฝายแห่งหนึ่งที่จ.เชียงใหม่ แต่ที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าในป้ายที่อยู่ข้างๆ ฝายนั้น ขึ้นภาพบุคคลหนึ่งใหญ่โต และมีตราของกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้งระบุว่าฝายแห่งนั้นชื่อ “ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา” รวมถึงในพิธีเปิดฝายก็มีเธอคนนั้นเป็นผู้มาร่วมงานโดยมีข้าราชการและชาวบ้านคอยต้อนรับ

 

หลายคนจึงสงสัยว่าสตรีในภาพเป็นใครกัน ทำไมหาญกล้าถึงเพียงนี้ ในยุคที่รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เคยประกาศว่า นักการเมือง หรือหัวหน้าส่วนราชการต้องไม่ขึ้นป้ายโปรโมทตัวเอง หรือขึ้นป้ายตัวเองคู่กับผลงานรัฐ

 

ทั้งนี้เคยมีเสียงก่นด่ากับการที่นักการเมือง เมื่อทำโครงการอะไรสักอย่างที่ใช้งบประมาณของรัฐแล้วติดป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเอง ประหนึ่งว่าใช้งบส่วนตัวทำโครงการนั้น หลายคนมองว่าเรื่องเช่นนี้เป็นเรื่องทุจริตเชิงนโยบายเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นการแอบอ้างงบประมาณรัฐมาเพื่อคะแนนนิยมส่วนตัว

 

เช่นนี้เองโลกโซเชียลจึงไปตามหาว่าเธอเป็นใครกันหนอถึงได้หาญกล้าเช่นนี้ และหน่วยงานต้นสังกัดยอมได้เช่นไรที่ให้กระทำคล้ายเป็นผลงานส่วนตัวเช่นนี้ ที่สุดก็หาพบทำให้หลายคนถึงบางอ้อ พอๆ กับที่ตกตะลึงว่าเธอคนนี้เป็นใคร เพราะคนดังกล่าวมีชื่อว่า “ผ่องพรรณ จันทร์โอชา” และมีสถานะเป็นภริยาของ “พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา” ที่ถึงบางอ้อเพราะเข้าใจว่าทำไมหน่วยงานต้นสังกัดถึงยอมให้มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะสามีของเธอมีสถานะเป็นถึง “ปลัดกระทรวงกลาโหม”ส่วนเธอก็อยู่ในฐานะนายกสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

 

งบประมาณที่ใช้ก็เป็นงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม ส่วนที่ตกตะลึงก็เป็นเพราะอีกสถานะหนึ่งของปลัดกระทรวงกลาโหม คือ น้องชายของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ผู้อาสาเข้ามาปัดกวาดประเทศพร้อมประกาศปฏิรูปบ้านเมืองในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ รวมไปถึงการแสดงพฤติกรรมรังเกียจการกระทำของนักการเมืองที่มิชอบ

 

หลายคนจึงแปลกใจว่าเป็นไปได้อย่างไรที่น้องสะใภ้ของท่านจะมากระทำการเช่นนี้ ที่เปรียบเสมือนกับการดิสเครดิตผู้นำประเทศด้วยตัวเองระหว่างที่เรื่องกำลังกระพือใหญ่โตเป็นไฟลามทุ่ง ก็มีแหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหมพยายามชี้แจงว่า ป้ายดังกล่าวมิใช่ชื่อฝายหากแต่เป็นป้ายต้อนรับเท่านั้น ทำเอาหลายคนถึงกับสงสัยว่าป้ายต้อนรับถึงกับต้องเปลี่ยนชื่อฝาย เป็นชื่อผู้ที่จะไปต้อนรับเชียวหรือ

ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่า หากชี้แจงอย่างนี้ก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่ ต่อมา “แหล่งข่าว” ซึ่งไม่รู้เป็นเจ้าเดิมหรือไม่ จึงออกมาชี้แจงเพิ่มว่า การสร้างฝายแห่งดังกล่าวเป็นแนวคิดของ “ผ่องพรรณ” ที่ได้หารือหน่วยในพื้นที่และได้รับทราบปัญหาจากชาวบ้านว่าต้องการฝาย จึงร่วมมือกับทหารและชาวบ้านในพื้นที่สร้างขึ้นมา โดยใช้งบประมาณของกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม

 

ส่วนเรื่องชื่อ “แม่ผ่องพรรณพัฒนา” นั้น “แหล่งข่าว” พยายามชี้แจงว่าทางหน่วยรายงานระบุว่าชาวบ้านช่วยกันคิดชื่อขึ้นมาเอง เพื่อเป็นการต้อนรับ ไม่เกี่ยวกับเจ้าตัวแต่อย่างใด เนื่องจากชาวบ้านมีความคุ้นเคยเคารพนับถืออยู่แล้วนี่คือคำชี้แจงเพิ่มเติมจากแหล่งข่าว ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นวิจารณญาณ

 

แต่สิ่งที่น่าสงสัยและยังไม่สามารถเลือนหายไป คือฝายดังกล่าวสร้างด้วยงบประมาณของกระทรวงกลาโหม การที่ขึ้นป้ายพร้อมรูปของเธอนั้น หากใช้มาตรฐานเดียวกับนักการเมืองและข้าราชการทั่วไปก็ต้องบอกว่าไม่เหมาะสมแต่จะว่ากันแบบแฟร์แล้ว ก็น่าเชื่อได้ว่าเธอคงไม่มารับรู้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พรรค์นี้ แต่น่าจะเป็นการจัดให้ของหน่วยราชการหรือในระดับพื้นที่มากกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะการ “จัดให้นาย-เอาใจนาย-ดูแลนาย” ล้วนแล้วแต่เป็นวัฒนธรรมการดูแลผู้มีอำนาจและมักจะเกิดขึ้นกับผู้มีอำนาจที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จให้คุณให้โทษได้

 

การสร้างความพึงพอใจย่อมจะหมายถึงอนาคตอันมั่นคง หรืออาจจะหมายถึงผลประโยชน์ อื่นๆ ที่จะตามมา ดังนั้นการดูแลจึงไม่จำกัดเพียง “นาย” หากแต่อาจจะรวมถึง “คนใกล้ชิดนาย” ด้วย เรื่องเช่นนี้ไม่จำกัดเฉพาะกับนักการเมือง ข้าราชการ ทหาร หรือพ่อค้า หากอยากแก้ต้องมองให้เห็นปัญหาเสียก่อน