หัวข้อข่าว: ผลงานผ่านต่างมุมมอง
ที่มา: ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559
จากการแถลงผลงานรัฐบาล คสช. 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยืนยันว่าดีขึ้นในทุกด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม คดียาเสพติดลดลง ดัชนีวัดภาพการคอร์รัปชันดีขึ้น ดีที่สุดในรอบ 10 ปี ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง รัฐบาล คสช.ออกกฎหมายถึง 187 ฉบับ มากกว่า 4 รัฐบาลเลือกตั้งรวมกันที่ออกแค่ 120 ฉบับ
แต่การมองว่าผลงานรัฐบาลดีเลิศประเสริฐศรีในทุกด้าน เป็นมุมมองของรัฐบาล จึงอาจต่างจากมุมมองของประชาชนในบางเรื่อง ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลเมื่อเร็วๆนี้ เมื่อเปรียบเทียบผลงานรัฐบาล คสช.กับรัฐบาลเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่เห็นว่าสิ่งที่ดีขึ้น ได้แก่ การปราบปรามการทุจริตและการทำงานเด็ดขาดจริงจัง ไม่มีการชุมนุมทาง การเมือง
ส่วนผลงานที่แย่ลงของรัฐบาล คสช. คนส่วนใหญ่ระบุปัญหาเศรษฐกิจ ราคาพืชการเกษตร สถานการณ์ในภาคใต้ที่มีระเบิด และการก่อการร้าย ตามด้วยความขัดแย้ง และการควบคุมสิทธิเสรีภาพ ส่วนนักวิชาการวิจารณ์ว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาคประชาชนยังอยู่ในอาการร่อแร่
การใช้จ่ายรัฐจึงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ นั่นคือการทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการต่างๆ และโชคดีที่มีการท่องเที่ยวเป็นตัวช่วย แต่ปัญหาเศรษฐกิจ ชาวบ้านที่หนักมาก ได้แก่ ปัญหาราคาสินค้าแพง ค่าครองชีพสูง และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนไทยเป็นหนี้โดยเฉลี่ยครัวเรือนละเกือบ 3 แสนบาท สูงสุดในรอบ 9 ปี
ส่วนผลงานด้านการเมือง รัฐบาลมองว่าดีขึ้นเพราะไม่มีการชุมนุม ไม่มีการก่อความวุ่นวาย หรือความรุนแรง ส่วนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เคยเป็นผลงานที่ประชาชนยกให้เป็นอันดับ 1 แต่โพลในระยะหลังๆไม่พูดถึง ส่วนสถานการณ์ภาคใต้ รัฐบาลอ้างว่าความไม่สงบลดลงกว่า 50% แต่ยังมีเหตุรุนแรงอยู่ การวางระเบิดลุกลามไปอีกใน 7 จังหวัด
ส่วนผลงานด้านการเมือง รัฐบาลอ้างว่าดีขึ้น เพราะไม่มีการชุมนุม ไม่มีการก่อความวุ่นวาย หรือความรุนแรง แต่บางฝ่ายมองว่าการไม่มีการชุมนุม ต้องแลกมาด้วยการ เสียสละเสรีภาพขั้นพื้นฐาน นั่นคือเสรีภาพในการชุมนุม และการแสดงความคิดเห็น นักวิชาการบางคนวิจารณ์ว่าแม้จะไม่มีการชุมนุม แต่การปฏิรูปการเมืองอย่างจริงจัง ความขัดแย้งอาจก่อตัวขึ้นใหม่
ไม่ใช่แค่การปฏิรูปการเมืองที่ไม่จริงจัง การปฏิรูปการบริหารราชการกระบวน การยุติธรรม หรือตำรวจก็ยังไม่จริงจัง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยไม่มียุทธศาสตร์ชาติระยะยาว จึงขาดทิศทางในการพัฒนา อันที่จริงเรามีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้วถึง 11 ฉบับ ฉบับละ 5 ปี รวมเป็น 55 ปี แต่มีปัญหาว่าปฏิบัติ ตามแผนอย่างจริงจังหรือไม่.