ขี้ฉ้อหนาว…เปิดศาลปราบโกง

หัวข้อข่าว: ขี้ฉ้อหนาว…เปิดศาลปราบโกง

ที่มา: ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

 

แม้ประเทศไทยจะมีปัญหาโกงกิน-ทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบมาช้านานหลายสิบปี และมีการตั้งหน่วยงานรัฐเพื่อมาดูแลแก้ปัญหานี้โดยตรงเช่น สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.-สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแต่ปัญหาทุจริตก็ยังเป็นปัญหาร้ายแรงอันดับต้นๆ ของประเทศ

 

เสียงสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ศาลคดีทุจริต-ศาลปราบโกง” เกิดขึ้นมาแล้วหลายยุคสมัยแต่ก็เป็นเสียงที่พูดไม่ดังมาก เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่ที่เป็นรัฐบาลของนักการเมืองพรรคการเมือง ดูจะไม่อยากสนับสนุนให้เกิดกลไกนี้ขึ้นมา ซึ่งเมื่อฝ่ายการเมืองไม่สนับสนุน การจัดตั้งศาลคดีทุจริต ก็เป็นเรื่องที่พูดกันในวงแคบๆ เพราะการจะตั้งศาลขึ้นมาได้ ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติมารองรับ ที่ก็คือต้องให้ ส.ส.-ส.ว.เห็นชอบออกมา แต่เมื่อฝ่ายการเมืองไม่หนุน ที่ผ่านมาศาลคดีทุจริตก็เลยไม่เคยมีวี่แววจะเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่แล้วในยุครัฐบาล คสช.ก็มีการคลอด พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบและ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ ออกมา จนสุดท้ายศาลยุติธรรมก็สามารถไปดำเนินการจัดตั้งศาลอาญาคดี ทุจริตฯ ได้สำเร็จและจะเปิดทำการวันจันทร์ที่ 3 ต.ค.59 นี้

 

ทั้งนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ดังกล่าวจะพิจารณาเฉพาะคดีที่จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ-อดีตเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตเช่น ผู้บริหารบริษัทเอกชน เท่านั้น ส่วนพวกนักการเมือง เช่น รัฐมนตรี-อดีตรัฐมนตรี-ส.ส.-ส.ว. หากถูกสั่งฟ้องคดีทุจริต-ประพฤติมิชอบ จะต้องไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหมือนเดิม เว้นแต่หากมีการสั่งฟ้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่าทุจริตประพฤติมิชอบ แล้วมีเจ้าหน้าที่รัฐ ตกเป็นจำเลยร่วมด้วยในคดีนั้น ตัวเจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิด ไม่ใช่ศาลอาญาคดีทุจริต

 

“ชาญณรงค์ ปราณีจิตต์” ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะอดีต กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ และร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเคยบอกไว้

 

เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ ที่ใช้วิธีพิจารณาคดีไต่สวน ตั้งขึ้นแล้วก็จะดำเนินคดีทุจริตได้เร็วขึ้น เพราะจะพิจารณาแต่คดีประเภทนี้ ไม่พิจารณาคดีอาญาประเภทอื่น โดยที่กรอบการพิจารณาคดีนั้น จะดำเนินไปตามหัวใจสำคัญของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ คือ นอกจากพิจารณาคดีที่ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐในข้อหาความผิดเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่แล้ว

 

นอกจากนี้ยังพิจารณา คดีที่ฟ้องขอลงโทษ คนให้สินบนหรือคนใช้อิทธิพลทำให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทุจริต” ดังนั้น นับแต่นี้ต่อไปคนที่ให้สินบนต้องมาขึ้นศาลอาญาคดีทุจริตด้วย แม้จะไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งรวมถึงคนที่ใช้อิทธิพลข่มขู่หรือกระทำการต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องทุจริต จะต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลแห่งนี้

 

ขณะที่กระบวนการวิธีพิจารณาคดีทุจริตฯ ก็มีการอุดช่องโหว่ของกระบวนการพิจารณาคดีอาญาทั่วไปเช่น หากจำเลยเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วหลบหนี ศาลมีอำนาจที่จะสืบพยานลับหลังจำเลยได้ และอายุความจะหยุดโดยทันที ทำให้คดีก็จะไม่ขาดอายุความ

 

เมื่อศาลอาญาคดีทุจริตเปิดทำการ จะมีสำนวนกว่า 70 คดีโอนมาให้พิจารณาในทันที โดยเมื่อลองไปสำรวจดูคดีอาญาดังๆ ที่เคยอยู่ในสารบบของศาลอาญาแผนคดีทุจริตฯ ก็พบว่าอาจมีบางคดีที่มีการโอนไปศาลอาญาคดีทุจริตฯ ก็ได้ อาทิ เช่น คดีนางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลังและอดีตผู้บริหารกรมสรรพากร ที่ถูกศาลอาญาตัดสินว่ามีความผิด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีเรื่องหุ้นชินคอร์ปฯ และคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ เป็นต้น.