หัวข้อข่าว: กกต.กับการแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง
ที่มา: คอลัมน์ มองผ่าน’ข้อมูล, สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณา โดยเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการเดินหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560 ตามโรดแมปของ คสช. ถือเป็นกรณีที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมาก
เนื่องจากการเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั่วไปตามโรดแมปที่กำหนดไว้เท่านั้น แต่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีการกำหนดการลงโทษรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะสำหรับผู้สมัคร ส.ส.ที่กระทำการทุจริตเลือกตั้ง เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง โดยแบ่งโทษความผิดไว้ 4 ระดับ ประกอบด้วย
1) “ใบเหลือง” จะใช้ในกรณีพบทุจริตก่อนวันเลือกตั้งหรือในวันเลือกตั้ง กกต.มีอำนาจสั่งยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้นับคะแนน หรือสั่งให้จัดเลือกตั้งใหม่ได้
2) “ใบส้ม” จะให้ในกรณีพบทุจริตก่อนวันประกาศผลคะแนน กกต.มีอำนาจระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครได้ 1 ปี
3) “ใบแดง” จะใช้กรณีที่เข้ามาเป็น ส.ส.แล้ว ถ้า กกต.พบว่ามีการทุจริตสามารถยื่นให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ 10 ปี และสั่งเลือกตั้งใหม่
4) “ใบดำ” จะใช้กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะถือว่าถูกตัดสิทธิตลอดชีวิต
เมื่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ดังนั้นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณี “กกต.กับการแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง” จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการเป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของภาครัฐ ดังนั้น “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,143 คน สรุปผลได้ ดังนี้
ประชาชนคิดอย่างไร? กับการที่ กกต. บัญญัติบทลงโทษตามความผิด 4 ระดับ คือ ใบเหลือง ใบส้ม ใบแดงและใบดำ เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งพบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ร้อยละ 74.80 คือ เป็นมาตรการที่ดี น่าจะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตให้ลดลงได้ รองลง ได้แก่ผู้สมัครทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบอย่างเคร่งครัด มีจิตสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ร้อยละ 62.29 ทาง กกต. ควรชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้สมัครให้ชัดเจน ร้อยละ 62.99 ควรหาวิธีอื่น หรือมี 2 ใบเหมือนเดิม แต่ต้องครอบคลุมทุกการกระทำผิด ร้อยละ 54.07 และกังวลว่าจะไม่เป็นธรรม อำนาจในการพิจารณาตัดสินใจขึ้นอยู่กับ กกต. ฝ่ายเดียว ร้อยละ 53.81
ประชาชนเห็นด้วยกับวิธีการลงโทษตามที่ กกต. เสนอหรือไม่? โดยกรณี”ใบเหลืองแจกให้ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง” พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ร้อยละ 81.10 คือ เห็นด้วย เพราะเป็นขั้นตอนแรกในการป้องกันการทุจริต ไม่ให้ผู้กระทำผิดได้ลงสมัคร ช่วยคัดกรองได้ในระดับหนึ่ง ฯลฯ
กรณี “ใบส้ม แจกให้หลังวันเลือกตั้ง” พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ร้อยละ 79.79 คือ เห็นด้วย เพราะผู้สมัครมีความระมัดระวังและปฏิบัติตามกฎระเบียบมากขึ้น เป็นแบบอย่างให้กับผู้อื่น ถ้ามีหลักฐานชัดเจนควรตัดสิทธิทันที ฯลฯ
กรณี “ใบแดง แจกให้หลังประกาศผลเลือกตั้ง” พบว่า “คำตอบ” ที่”ประชาชน” ร้อยละ 76.90 คือ เห็นด้วย เพราะเป็นการลงโทษที่รุนแรง จะได้คัดคนไม่ดีออกไป ผู้กระทำผิดจะได้เกรงกลัว ช่วยป้องกันการทุจริตได้ ฯลฯ
กรณี “ใบดำ แจกให้กรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ร้อยละ 87.40 คือ เห็นด้วย เพราะเป็นการลงโทษขั้นเด็ดขาด เป็นการขุดรากถอนโคน บทลงโทษรุนแรงเหมาะสมดีจะได้เกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด ทำให้การเลือกตั้งมีความโปร่งใสมากขึ้น ฯลฯ
ประชาชนคิดว่าวิธีการตามที่ กกต. เสนอ จะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งได้หรือไม่? พบว่า “คำตอบ” ที่ “ประชาชน” ร้อยละ 68.50 คือ ช่วยได้เพราะเป็นการป้องกันการทุจริต น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ลดลงได้ในระดับหนึ่ง เป็นบทลงโทษที่รุนแรง ทำให้ผู้ที่คิดจะทุจริตเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด ฯลฯ
รองลง ได้แก่ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 22.83 เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะมีมาตรการป้องกัน แต่ก็ยังมีการทุจริต การเลือกตั้งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ ยังไม่รู้รายละเอียดว่ามีขั้นตอนการพิจารณาตัดสินอย่างไร ฯลฯ และ ช่วยไม่ได้ ร้อยละ 8.67 เพราะเป็นปัญหาที่มีมานาน แก้ไขได้ยาก กกต.อาจดูแลไม่ทั่วถึงเกิดความยุ่งยากควรแก้ที่ต้นเหตุ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของนักการเมือง ฯลฯ
พิจารณาจากผลการสำรวจความคิดเห็นแล้ว คงต้องยอมรับว่า กระแสสังคมมีความเปิดกว้างกับการใช้มาตรการที่เด็ดขาดในการแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งโดยสาเหตุเป็นเพราะการเลือกตั้งเป็นกระบวนการทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงถึงการมีส่วนร่วมทางการเมือง การเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย โดยการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ และมีความสัมพันธ์กับอำนาจทางฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง
ดังนั้น “ประชาชน” ไม่อาจปล่อยให้เกิด “การทุจริต” ในกระบวนการดังกล่าวได้อย่างเด็ดขาด สนับสนุนการใช้ “ยาแรง” เพื่อขจัด “มะเร็งร้าย” แบบถอนรากถอนโคน และไม่อาจปล่อยให้ “การทุจริตการเลือกตั้ง” ทำลายระบอบประชาธิปไตยของไทยได้อีกต่อไป..!!