หัวข้อข่าว มาตรการสปท.‘สกัดโกง‘ซ้ำซ้อน-เสียเวลาเปล่า?
ที่มา; กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559
จากกรณีประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้พิจารณารายงานการปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงานที่มีธรรมาภิบาลในภาครัฐ และรายงานการปฏิรูปมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงานที่มีบรรษัทภิบาล ในภาคเอกชน ซึ่งนำเสนอโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน กมธ.
โดยสาระสำคัญในมาตรการสร้างระบบธรรมาภิบาลในภาครัฐ คือ ให้รัฐบาล สั่งการและดำเนินการให้ทุกหน่วยราชการ ยกระดับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) เป็นหน่วยงานกำกับ ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยงาน ในมาตรการปราบปรามการทุจริต ขณะเดียวกันในกระทรวงต่างๆ ต้อง ส่งเสริมการรวมตัวของกลุ่มข้าราชการ เป็นหน่วยเฝ้าระวังการทุจริตภายในองค์กรและมีมาตรการคุ้มครองการรวมกลุ่มดังกล่าวด้วย รวมทั้งมาตรการเสริมสร้างระบบการบริหารงาน ที่มีบรรษัทภิบาลในภาคเอกชน มีข้อเสนอสำคัญ อาทิ เพิ่มบทลงโทษกรรมการบริษัท กรณีที่ใช้ข้อมูลวงในหาประโยชน์จากการค้าหุ้น โดยแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเพิ่มโทษจำคุกจาก 2 ปีเป็น 5 ปี และเพิ่มโทษปรับจาก 2 เท่าของประโยชน์ที่ได้รับเป็น 2 เท่าของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์
นายธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชานักวิชาการประจำวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะคณะอนุกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนัก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบริหารหลักธรรมาภิบาลจะต้องใช้หลักเศรษฐศาสตร์ด้วย จะไปบังคับขู่เข็ญ ก็จะยิ่งมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ทุกวันนี้ก็มีปัญหาอยู่แล้ว การบังคับใช้เรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินข้าราชการที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ยังไม่ชัดเจน
“ที่ผมคุ้นเคยเกี่ยวข้องเรื่องทรัพยากรน้ำ มันไม่ใช่แค่เรื่องจัดซื้อจัดจ้างที่มีปัญหา แต่ก็ยอมรับกันว่าเป็นจุดอ่อน แล้วคำถามคือเรื่องทุจริตมีแค่ตรงนี้หรือ ต่างจังหวัดมีปัญหาในส่วนอื่นๆด้วย ในเรื่องการหาพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำ มีปัญหาในเรื่องบุกรุก เพราะที่ดินของไทยมีหลายเจ้าของหลายหน่วยงาน อย่าไปคิดว่าการทุจริตมีมากกว่าตรงนี้ เพราะทุจริตในบางมุมมันคือเรื่องของการลุแก่อำนาจ การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ เพราะมีการมาคอยจับผิดหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างแบบนี้ ”
ชี้แก้ปัญหาที่ปลายน้ำ
นายธัชเฉลิม มองการเสนอของ สปท. ครั้งนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ แต่อย่างไรเสียก็ไม่ใช่ไม่แก้เลย สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำที่ต้นน้ำ ซึ่งอยู่ในสภานิติบัญญัติ แห่งชาติ วาระที่ 3 เรื่อง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้าง เรื่องนี้แก้ที่ต้นน้ำ เพราะการจัดซื้อจัดจ้างมีความหละหลวม เพราะแต่ละหน่วยงานออกกฎเป็นของตัวเอง กลายเป็นทุจริต เชิงนโยบาย ตอนนี้ก็มีการคัดค้านการรวมศูนย์อำนาจการจัดซื้อจัดจ้าง
“ทำให้คิดว่าเราต้องการแบบสิงคโปร์ใช่ไหม เพราะเขาทำแบบนั้น แต่ถามว่าเราทำได้ไหม ก็มีทางรวมศูนย์ได้ ผ่านการใช้ระบบฐานข้อมูลกลาง แต่ระบบต่างๆ ของเราเอง ก็หย่อนยานไปหมด ถ้าต้องปฏิรูป สงสัยจะต้องยกเครื่องทั้งหมด ที่สำคัญศักยภาพของเราทำได้ถึงขั้นนั้นหรือเปล่า”
แนะสุ่มตรวจบัญชีทรัพย์สิน
ทางออกในการแก้ปัญหาการตรวจสอบบัญชีทรัพย์ นายธัชเฉลิมแนะว่า ควรใช้วิธีการสุ่มตรวจบัญชีทรัพย์สิน เพราะจะต้องโดนตรวจกันหมด รวมทั้งการเพิ่มบทลงโทษกรรมการบริษัท กรณีที่ใช้ข้อมูลวงใน หาประโยชน์จากการค้าหุ้น โดยแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โดยเพิ่มโทษจำคุกจาก 2 ปีเป็น 5 ปี และเพิ่มโทษปรับจาก 2 เท่าของประโยชน์ที่ได้รับเป็น 2 เท่าของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ นายธัชเฉลิมเห็นด้วย และยังขอให้มีการดำเนินการที่รวดเร็วในส่วนของกระบวนการพิจารณา
ไม่ใช่จำเลยตายไปแล้วเพิ่งมาตัดสินต้องเอาแบบจองเกาหลีใต้ พิจารณา 3 เดือนตัดสินทันที
ติงยกระดับปราบโกงเสียเวลา
อีกประเด็นหนึ่งเรื่องการยกระดับการปราบโกง รวมทั้งให้ข้าราชการจับตาการ กระทำการทุจริต ซึ่งเขามองว่าเป็นเรื่อง เสียเวลา เพราะมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่แล้ว และสิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็น ความขัดแย้งในทฤษฎี เพราะถ้าคุณจะเอาความโปร่งใสทุกขั้นตอน ก็จะนำมาซึ่ง ความไร้ประสิทธิภาพ ฉะนั้นต้องมาดูว่าภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญมีอะไร ซึ่งต้องดูว่า อะไรที่จะนำพาระบบที่วางขึ้นมาให้มันไปรอดได้ “ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำการแก้ไขตรงนี้ เขาจะดูที่คนเป็นหลัก แต่ถ้าข้าราชการไทยยังเป็นแบบนี้ เช้าชามเย็นชาม ก็ไม่รอด แล้วที่มีปัญหามากสุดคือการโยกย้ายแต่งตั้ง ถ้าไม่แก้ในจิตสำนึก เหมือนที่มี สปท. ท่านหนึ่ง คือ นางถวิลดี บุรีกุล อภิปรายในการพิจารณากฎหมายว่า มันขาดการสร้างจิตสำนึก ทำไมต้องไปขี่ช้างเองเพื่อไล่จับตั๊กแตน ทำไมไม่สร้างให้ช้างจับตั๊กแตนเอง”