หัวข้อข่าว: จะ 10% หรือ 30% ก็ยังเป็น มะเร็งร้ายของระบบราชการไทย
ที่มา: คอลัมน์ กาแฟดำ, กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย สุทธิชัย หยุ่น, www.suthichaiyoon.com
พาดหัวหนังสือพิมพ์วันก่อนบอกว่า “ข้าราชการเตะถ่วงกินเงินใต้โต๊ะ…” อีกพาดหัวบอกว่าเจ้ากระทรวงหนึ่งประกาศ “ย้ำงบกระตุ้นเศรษฐกิจห้ามมีเงินทอน”
รายละเอียดของข่าวบอกว่า คุณประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กร ต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การรณรงค์และสร้างมาตรการในการ ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเข้มงวด ในช่วงที่ผ่านมา ได้ช่วยรัฐประหยัด งบประมาณในโครงการต่างๆ ได้มาก
คุณประมนต์บอกว่า เท่าที่ได้รับฟังข้อมูลมา พบว่าการเรียกรับเงินใต้โต๊ะจาก อดีตที่มีการจ่ายเงินเพื่อให้ได้งานโครงการรัฐสูง 25-30% แต่ล่าสุดตัวเลขการจ่ายเงิน ใต้โต๊ะลดเหลือ 10-15%
คุณประมนต์บอกว่า ที่วิกฤติหนักและ แก้ไขได้ยากคือการคอร์รัปชันในระบบราชการ มีตั้งแต่ระดับซี 3-4 ขึ้นไปถึงข้าราชการระดับสูง
โดยมีการดึงงานให้ล่าช้า หากภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปจ่ายเงินก็จะทำให้ การอนุมัติงานมีความรวดเร็วขึ้น ทางองค์กรจะเร่งหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหานี้ต่อไป คุณประมนต์ยอมรับว่า ทุกกลุ่มในสังคมไทยยังมีการคอร์รัปชั่นอยู่ แต่ที่ ภาคเอกชนคลายกังวลและมีความมั่นใจ ได้คือผู้นำประเทศปัจจุบันและผู้นำองค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญในการปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มงวด และมีความร่วมมือ กันมากขึ้น อีกทั้งองค์กรฯก็เตรียมส่งคนเข้าไป มีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใส ของโครงการการลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณหน้า 9 โครงการ มูลค่า รวมประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท
ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า การรณรงค์ ของเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันตลอดหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างความ ตื่นตัวในหมู่ประชาชน และความตระหนักถึงอันตรายของพฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวงสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
การก่อตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเกี่ยวกับพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบต้องถือว่า เป็นความสำเร็จของ การผลักดันของฝ่ายต่าง ๆ ที่ต้องการเห็น การแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่คำว่า “เงินทอน” “กินตามน้ำ” และ “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” ก็ยังหลอกหลอนคนไทยที่ต้องติดต่อกับหน่วยราชการ หลายหน่วยที่ยังไม่อาจสลัดความประพฤติฉ้อฉลต่างๆ ได้ เพราะวัฒนธรรมเก่า ๆ ของความเกรงใจหรือการไม่อยาก “มีเรื่อง” ของคนไทยจำนวนหนึ่งที่ยังยอมอดทน ต่อพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้ยากที่จะ “ถอนราก ถอนโคน” กิจกรรมอันน่ารังเกียจ และเป็นอันตรายต่อการยกระดับความสะอาดสะอ้านของระบบราชการได้ ที่น่าสนใจคือที่เชื่อว่าอัตราค่าเรียก เงินใต้โต๊ะได้ลดลงจาก 25-30% เหลือ 10-15% นั้นจะตีความว่า คอร์รัปชันลด ความรุนแรงลงได้หรือไม่ น่าศึกษาค้นคว้าให้ลึกต่อไปด้วยว่า การที่ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดจากการที่ นักการเมืองไม่มีบทบาทอำนาจลง ทำให้การเรียกเงินลดเปอร์เซ็นต์ลงเพราะข้าราชการฉ้อฉลเหล่านี้ไม่ต้องแบ่งกับนักการเมืองหรือไม่
และต้องวิเคราะห์ต่ออีกว่า ที่อัตราเรียก ค่าน้ำร้อนน้ำชาลดลงนั้นมาจากกลุ่มข้าราชการโกงกินกลุ่มเดิมที่ยอมลดเงินที่เรียกร้องหรือเป็นพฤติกรรมที่ขยายตัวจากที่ บางกลุ่มขอ 25-20% กลายเป็นหลายๆ กลุ่ม เรียกร้อง 10-15% ใช่ไหม?
อีกทั้งยังต้องแสวงหาข้อเท็จจริงต่ออีกว่า การที่ข้าราชการทุจริตเหล่านี้ลดเปอร์เซ็นต์ค่า “เงินทอน” นั้นเป็นเพราะคิดว่าถ้ารีดไถในอัตราที่ลดลงจะมีโอกาสถูกจับได้น้อยลงไปด้วย หรือคิดว่าหากถูกจับได้ก็จะถูกลงโทษน้อยลงหรือไม่?
เพราะในท้ายที่สุดแล้ว แม้ว่า “เงิน ใต้โต๊ะ” จะลดจากที่เคยเรียกร้อง 25-30% ลงมาที่ 10-15% ก็ไม่ได้แปลว่าสถานการณ์คอร์รัปชัน “ดีขึ้น” ดั่งที่ประชาชนตั้งความหวังเอาไว้
เพราะตราบที่ยังมี “เงินใต้โต๊ะ” ไม่ว่า จะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม, นั่นก็คือความชั่วร้าย ที่ยังเป็นมะเร็งฝังลึกในระบบราชการของเรา
มะเร็ง 10% หรือ 30% ก็ยังเป็น มะเร็งที่ทำลายความก้าวหน้าของสังคมไทย ได้เสมอ