สถานะ’มรภ.ชัยภูมิ’ดำดิ่งลึกมีปัญหาการเงิน/เหตุนศ.น้อยไม่ถึงพัน/กฎระเบียบ-การบริหารไม่ชัด

หัวข้อข่าว สถานะมรภ.ชัยภูมิดำดิ่งลึกมีปัญหาการเงิน/เหตุนศ.น้อยไม่ถึงพัน/กฎระเบียบ-การบริหารไม่ชัด

ที่มา; ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559

 

กรุงเทพฯ * คณะทำงานตรวจสอบ มรภ.ชัยภูมิ พบปัญหาสถานะการเงินย่ำแย่ รายได้น้อยกว่ารายจ่าย เหตุมีนักศึกษาเพียง 900 คน เปิดสอนแค่ 7 คณะ แต่มีบุคลากรมากถึง 400 คน รวมทั้งยังเปิดการเรียนการสอนบางหลักสูตรโดยไม่แจ้ง สกอ. เตรียมเข้าไปยกร่างกฎ กติกา ระเบียบและระบบบริหารงานใหม่ทั้งหมด

 

ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) ชัยภูมิ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 มหาวิทยาลัยที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญให้หน่วยงานรัฐเข้าแก้ไขปัญหา โดยนายขจร จิตสุขุมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาฯ กกอ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่กรรมการและแก้ไขปัญหา มรภ.ชัยภูมิ  เลขานุการสภา กล่าวว่า ตามที่คณะทำงานแก้ไขปัญหา มรภ.ชัยภูมิได้เข้าตรวจสอบการบริหารงานด้านต่างๆ ของมหาวิทยาลัย พบว่ามีปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขคือด้านการเงิน เนื่องจากคณะกรรมการด้านการเงินที่เข้าไปตรวจสอบสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัย พบว่ารายได้มหาวิทยาลัยน้อยมาก เนื่องจากจำนวนนักศึกษาลดลง โดยปีการศึกษา 2559 มีนักศึกษาเพียงกว่า 900 คน ใน 7 คณะ บางสาขามีนักศึกษาไม่ถึง 10 คน ขณะที่เงินรายได้ส่วนใหญ่จะต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนบุคลากร ซึ่งมีจำนวนกว่า 400 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวคณะทำงานจะเร่งสรุปปัญหาการเงินและแนวทางแก้ปัญหา เพื่อเสนอคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) พิจารณาเร็วๆ นี้ เพื่อจะได้แก้ปัญหาอื่นต่อไป

 

ส่วนงานด้านวิชาการ ทางนายเฉลย ภูมิพันธุ์ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดี มรภ.ชัยภูมิ ราย งานว่าขณะนี้ได้ให้แต่ละคณะไปสรุปข้อมูลว่ามีการเปิดสอนหลักสูตรอะไรบ้าง มีนักศึกษาจำนวนเท่าไหร่ พร้อมทั้งดูว่าการจัดการเรียนการสอนในแต่ละหลักสูตรเป็นอย่างไร หลักสูตรที่เปิดสอนทั้งหมด สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับทราบหรือไม่ เพราะเท่าที่ดูบางหลักสูตรยังไม่ได้แจ้ง สกอ. แต่มหาวิทยาลัยกลับเปิดรับนักศึกษาเข้ามาเรียน 2-3 ปีแล้ว ขณะเดียวกันก็ต้องดูจำนวนอาจารย์ คุณวุฒิ และการดำเนินการต่างๆ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ สกอ.กำหนดหรือไม่ แต่ที่ต้องดำเนินการทันทีคือ นำการจัดการเรียนการสอนนอกสถานที่ตั้งทั้งหมดกลับมาดำเนินการในที่ตั้ง ซึ่งที่สำรวจพบว่ามีการจัดการเรียนการสอนนอกที่ตั้งนับสิบหลักสูตร ทั้งปริญญาตรีและโท ทั้งนี้ เพื่อจะได้ควบคุมคุณภาพได้

 

รองเลขาฯ กกอ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะทำงานจะต้องเร่งตรวจสอบด้านข้อบังคับ และกฎระเบียบต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ว่าถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ดูหลักฐานต่างๆ ที่มีการส่งมอบส่วนใหญ่จะเป็นสำเนา ข้อมูลอยู่กระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ ดังนั้น คณะทำงานจะต้องเร่งวางระบบการบริหารงานบุคคลและงานบริหารทั่วไป และยกร่างข้อบังคับและกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงดูการขอตำแหน่งทางวิชาการ กระบวนการสรรหาอธิการบดีไปพร้อมกันว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่ เพื่อจะได้แก้ไข.