หัวข้อข่าว: ตัวเลขที่น่าตกใจกับรายได้อุทยานทางทะเล
ที่มา: คอลัมน์ Greater Day, โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2559 โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
เมื่อไม่กี่วันก่อนมีข่าวที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคม เมื่อมีการเปิดเผยว่าอุทยานแห่งชาติทางทะเล 3 แห่ง สามารถจัดเก็บเงินรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แต่กลับมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนหัวหน้าอุทยานทั้ง 3 แห่ง โดยมีประเด็นเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น
ในฐานะที่ผมเป็นที่ปรึกษาของอุทยาน 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จึงออกมาเรียกร้องว่ามันเป็นการถูกควรแล้วหรือที่คนทำดีสามารถเก็บเงินเข้ารัฐได้มากมาย แต่สุดท้ายกลับโดนตั้งกรรมการสอบ
ผมขอย้อนไปตั้งแต่จุดเริ่มต้นเมื่อต้นปี 2558 ผมในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปอุทยานฯ โดยมีสาระสำคัญอยู่ที่การจัดเก็บเงินรายได้ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับแทบเป็นไปไม่ได้ที่อุทยานทางทะเลจะมีนักท่องเที่ยวแค่นั้น เช่น หมู่เกาะ พีพีมีนักท่องเที่ยวแค่ 1.47 แสนคน (สถิติกรมอุทยาน ปีงบประมาณ 2557)
จากนั้นเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง กรมอุทยานฯ เปลี่ยนหัวหน้าอุทยานทางทะเลหลายแห่ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินงานในพื้นที่ มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าอุทยานอย่างจริงจัง จนถึงวันนี้เชื่อไหมครับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในหมู่เกาะพีพีพุ่งปรี๊ดกลายเป็น 1.7 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกิน 10 เท่า
เมื่อเทียบรายได้ที่เพิ่มขึ้น มีตัวเลขที่น่าตกใจหลายประการ เช่น ปัจจุบันเกาะพีพีเก็บเงินรายได้ 550 ล้านบาท มากกว่าปี 2557 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่เก็บเงินได้เพียง 24 ล้านบาท ตัวเลขพุ่งกระฉูดเกิน 20 เท่า
ที่สำคัญไม่มีการขึ้นค่าเข้าอุทยานแต่อย่างใด คงเก็บเงิน 40 บาท สำหรับคนไทย และ 400 บาท สำหรับคนต่างชาติ เป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ปี 2552 เงินที่เพิ่มขึ้นจึงไม่ได้มาจากการปรับเพิ่มราคา ครั้นจะบอกว่าเงินเพิ่มเพราะนักท่องเที่ยวเพิ่มจากปี 2557 มาถึงปี 2559 นักท่องเที่ยวคงไม่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าหรอกครับ
ตัวเลขที่น่าตกใจยังมีมากกว่านั้น ถึงปัจจุบันยังไม่ครบปีงบประมาณ 2559 แต่อุทยานพีพีและอุทยานอ่าวพังงาเพียง 2 แห่ง เก็บเงินรายได้เกิน 900 ล้านบาท มากกว่าเงินรายได้ทั้งหมดของทุกอุทยานในปี 2558 (896 ล้านบาท) ยิ่งถ้าเทียบกับปี 2557 อันเป็นจุดเริ่มต้น รายได้กรมอุทยานอยู่แค่ 696 ล้านบาท
ตัวเลขที่หายไปดังกล่าว ทำให้การทำงานด้านการอนุรักษ์ประสบปัญหา “ไม่มีงบประมาณ” อยู่ตลอดเวลา ไม่มีเงินให้พนักงานพิทักษ์ป่าดูแลทะเล ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีโน่นนี่ ทั้งที่จริงแล้ว มันมี…แต่มันหายไป
ผลของการปฏิรูปครั้งนี้ ทำให้ รายได้อุทยานโดยรวมของปี 2559 (11 เดือน ไม่นับเดือน ก.ย.) อยู่ที่ 1,821 ล้านบาท มากกว่าปี 2558 (ทั้งปี) เกิน 1 เท่า และมากกว่าปี 2557 (ทั้งปี) กว่า 1,100 ล้านบาท ผมเชื่อว่าเมื่อจบปีงบประมาณนี้ เงินรายได้ของกรมอุทยานจะพุ่งถึง 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่แค่ทุบทุกสถิติ แต่ถล่มทลายมากกว่าปี 2558 เกิน 2 เท่า
เงิน 2,000 ล้านบาท อยู่ในกองทุน อุทยานฯ สามารถนำมาใช้บริหารจัดการด้านการอนุรักษ์ได้มากมาย รายได้ 5 เปอร์เซ็นต์จะกลับไปสู่ท้องถิ่น (อบต.) รายได้ 20 เปอร์เซ็นต์ จะถูกนำมาสนับสนุนโครงการต่างๆ ของอุทยานแห่งนั้น และรายได้ที่เหลือจะถูกนำไปใช้บริหารจัดการอุทยานแห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ ดังมีข่าวว่ากรมอุทยานกำลังจะทุ่มงบประมาณ 500 ล้านบาท เพื่อยกระดับอุทยานหลายต่อหลายแห่ง
และในอนาคตตัวเลขนี้ยังต้องคงอยู่ต่อไป เพราะเมื่อเริ่มเก็บได้จนเป็นบรรทัดฐาน คงเป็นเรื่องยากที่ปีต่อไปจู่ๆ เงินรายได้จากนักท่องเที่ยวจะลดลง หากจำนวนนักท่องเที่ยวเมืองไทยไม่ลดลง ถ้ายังมีคนไปเที่ยวภูเก็ตปีละเกิน 13 ล้านคน มีการปรับปรุงสนามบินใหม่ จะเป็นไปได้ไงที่ นักท่องเที่ยวไปพีพี หรืออ่าวพังงาจะลดลง
ผมนำเรื่องนี้มาบอก เพื่อยืนยันว่าการปฏิรูปประเทศเป็นไปได้และเห็นผลเป็นเม็ดเงินหรือตัวเลขได้ และยืนยันว่าเราต้องปกป้องคนที่ทวงเงินคืนหลวงปีละพันล้านบาท ซึ่งท่านผู้บริหารก็เข้าใจและทบทวนคำสั่งการสอบหัวหน้าอุทยาน ทำให้ทุกอย่างจบลงด้วยดี ต่อจากนี้คงเป็นการติดตามว่าเงินรายได้ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใด เพื่อความหวังในการอนุรักษ์ทะเล รักษาป่าไม้เมืองไทยในเขตอุทยานแห่งชาติครับ